7 ส.ค. 2020 เวลา 05:55 • ครอบครัว & เด็ก
วันนี้แวะมาเล่าเรื่องบ้านค่ะ
บ้านของผู้เขียนตอนเด็กๆ เป็นบ้านไม้ ตรงกลางระหว่างหน้าบ้านและหลังบ้านเป็นนอกชานพื้นที่พอสมควร
หลังบ้านเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว เป็นส่วนของครัวเปิดแบบไทยๆ ส่วนหน้าบ้านเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น
กลางบ้านที่เป็นนอกชาน จะมีห้องน้ำและบ่อน้ำสำหรับตักอาบในบ้านได้เลย ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน แต่นอกบ้านก็มีบ่ออีกบ่อนึงค่ะ เป็นบ่อที่ใช้ด้วยกันกับญาติๆ ผู้เขียนมีญาติเยอะ คนในหมู่บ้านแทบจะเป็นญาติกันหมด เป็นญาติกันมา 2-3 รุ่นแล้วค่ะ นับเวลาปัจจุบันอาจจะ 4 รุ่นแล้วสำหรับบางครอบครัว
ที่ชอบที่สุดของการมีนอกชานในบ้าน ก็คือเวลาที่ฝนตกค่ะ เพราะว่าสามารถเล่นน้ำฝนในบ้านได้เลย ไม่ต้องออกนอกบ้านไปไหนไกล
บ้านหลังนี้อยู่กัน 7 คนค่ะ มียาย (แม่เฒ่า) พ่อ แม่ และ พวกเรา 4 คนพี่น้อง
ในบ้านก็เหมือนบ้านอื่นทั่วๆ ไป แต่ที่พิเศษก็คือเสา หรือ ผนังบางที่จะมีช่องพิเศษ เป็นช่องไม้สำหรับซ่อนข้าวของ ช่องไม้แบบนี้ทำมาตั้งแต่สมัยคุณตา (ก๋ง) ยังมีชีวิตอยู่ค่ะ
ก๋งออกแบบเพื่อให้เราสามารถซ่อนข้าวของได้ โดยเฉพาะของชิ้นเล็กๆ เช่น เงิน เครื่องประดับ สร้อยคอต่างๆ แหวน เป็นต้น
ลักษณะของช่องไม้คือ จะเป็นช่องฝังในเสา หรือ ฝาผนังบ้าน แบบที่ถ้าไม่ใช่เจ้าของบ้าน หรือ คนที่ทราบก็แทบไม่รู้เลยว่าเป็นช่องลับที่เปิดออกได้โดยการกด เลื่อน หรือยกขึ้น ที่ไม่ทราบเพราะว่ามีสีเดียวกับเนื้อไม้และมองไม่ออกว่าเป็นมันแยกหรือ เลื่อนออกจากกันได้
บางช่องเป็นแบบสลักที่มองเผินๆ หมือนสลักประตู ถ้าไม่ได้สังเกต ดัน เลื่อน หรือค้นดีๆ ก็จะไม่ทราบเลย
เคยถามแม่ตอนเด็กๆ แม่บอกว่า สมัยก่อนโจรชุม จึงจำเป็นจะต้องทำช่องแบบนี้ไว้บ้าง เพื่อเก็บทรัพย์สิน แต่โจรก็ไม่เคยขึ้นบ้านเลยค่ะ
นอกจากช่องแบบนี้แล้ว ยังมีบานพับที่พื้นบ้านชั้นบนที่ออกแบบให้ยก หรือดึงออก เพื่อมองลงไปข้างล่างได้ หรือยกแผ่นไม้ออก แล้วกระโดดลงมาจากชั้นสองของบ้านมายังชั้นล่าง แม่เล่าว่าใช้สำหรับส่องโจร หรือ มองแขกที่มาบ้านก่อนจะเปิดบ้านประมาณนั้นค่ะ
จนเมื่อรีโนเวทบ้าน เพราะบ้านเก่ามาก เลยเปลี่ยนจากบ้านไม้เป็นบ้านปูน จึงไม่มีช่องต่างๆ เหล่านี้ให้ได้เห็นอีก คิดแล้วก็เสียดายอยู่เหมือนกันค่ะ
คิดถึงแม่ คิดถึงบ้าน ก็เลยมีข้อเขียนเรื่องบ้านขึ้นมาในโพสต์นี้ค่ะ
โฆษณา