7 ส.ค. 2020 เวลา 14:53 • ธุรกิจ
รวม 8 เทคนิค การปรับปรุงงาน ด้วย Kaizen
[ Kai = เปลี่ยน ] + [ Zen = ดี ]
Kaizen = การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
Kaizen = การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
เป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในการบริหาจัดการอย่างมีประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ร่วมกันแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องมี การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด (Continuous Improvement)
เทคนิคที่ 1 คิดลด
เทคนิค คิดลด
การพิจารณาว่าในการทำงานนั้นมีกิจกรรมใดบ้างที่ต้องกระทำซ้ำๆ กันไปมา หากว่าเราไม่สามารถยกเลิกกิจกรรมนั้นออกได้ ก็ต้องพยายามลดจำนวนครั้งในการกระทำ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานแบบซ้ำๆ กันโดยที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น หัวหน้างานที่ถูกพนักงานใหม่ ถามข้อสงสัยจำนวนมาก หัวหน้างานต้องการลด การที่จะคอยตอบคำถามซ้ำๆ โดยการรวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ แล้วเขียนติดเป็นประกาศ เพื่อที่จะให้พนักงานใหม่สามารถอ่านข้อสงสัยก่อนได้
เทคนิคที่ 2 คิดเลิก
เทคนิค คิดเลิก
การวิเคราะห์ว่าขั้นตอนการทำงานหรือสิ่งที่เป็นอยู่บางอย่างนั้นสามารถที่จะตัดออกไปได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากความจำเป็น เช่น พนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง พบว่า ใน 1 วัน จะมีหัวหน้างาน มาวางรายงานบนโต๊ะทำงานเป็นจำนวนมาก และทุกครั้งต้องเสียเวลาเปิดอ่านเนื้อหาภายใน เพียงเพื่อต้องการทราบเรื่องรายงานเพียงคร่าวๆ เท่านั้น และพบว่าปกรายงานนั้นช่วยในเรื่องของความสวยงาม แต่กลับไม่สะดวกในการทำงาน ดังนั้นหากนำปกรายงานออกก็จะช่วยให้สามารถประหยัดเวลาในการทำงานโดยไม่ต้องเปิดดูภายในปกรายงาน และสามารถประหยัดเงินได้อีกด้วย
เทคนิคที่ 3 คิดเปลี่ยน
เทคนิค คิดเปลี่ยน
หากพิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถเลิก และลดกิจกรรมใดได้แล้ว เราก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนทิศทาง หรือ เปลี่ยนองค์ประกอบ เป็นต้น เช่น ช่างซ่อมบำรุงของโรงงานแห่งหนึ่งพบว่า มีการยืมใช้งานเครื่องมือของช่างแต่ละแผนกงานบ่อยครั้ง ทำให้สุดท้ายเกิดความสับสนว่าเครื่องมือชิ้นนั้นเป็นของแผนกใด อีกทั้งเครื่องมือมักจะหายอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงแก้ไขปัญหานี้โดยใช้วิธีการเปลี่ยน คือ เปลี่ยนสีของเครื่องมือ โดยแต่ละแผนกจะมีสีของเครื่องมือต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาความสับสนในการยืมใช้เครื่องมือ อีกทั้งเครื่องมือยังคงอยู่ประจำแผนกอีกด้วย ทำให้ไม่เสียเวลาค้นหาเครื่องมืออีกต่อไป
เทคนิคที่ 4 คิดขยาย
เทคนิค คิดขยาย
เทคนิคการปรับปรุงงานด้วยการคิดขยาย แนะนำให้เริ่มต้นกระบวนการคิดจากการตั้งคำถาม ดังตัวอย่างคำถามที่ว่า
- ขยายอะไรได้บ้างที่ขยายแล้วได้ผลดีขึ้น ง่ายขึ้น
- ทำอะไรให้ใหญ่ขึ้นได้อีก
- อะไรที่จะมาเพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งที่เป็นอยู่นี้ได้อีก ฯลฯ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น ปากกา 1 ด้าม โดยทั่วไปแล้ว จะมีแค่ 1 สี แต่การเพิ่มฟังก์ชั่น เข้าไปในปากกา ทำให้ปากกา 1 ด้าม มีมากกว่า 1 สี จึงไม่ต้องพกปากกาหลายด้าม หรือ การที่รถยนต์บางรุ่นเพิ่มกล้องรอบคัน กล้องส่องขณะเปลี่ยนเลนส์ แทนกระจกมองข้าง จะช่วยเพิ่มทัศนวิสัย เปิดมุมมองในการขับขี่ให้กว้างขึ้น สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น
เทคนิคที่ 5 คิดผสม
เทคนิค คิดผสม
ในการคิดปรับปรุงการทำงาน การคิดผสม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดแนวความคิดดีๆ ที่ผสมผสานจากสิ่ง 2 สิ่งเข้าด้วยกันได้เช่นกัน การตั้งคำถามก็เป็นหนึ่งในการได้มาซึ่ง แนวความคิดใหม่ๆ ตัวอย่างคำถามที่แนะนำ ได้แก่
- มีอะไรที่สามารถรวมกันได้บ้าง
- เอาจุดเด่นของสิ่งต่างๆ มารวมกันแล้วจะเป็นอย่างไร
- อะไรบ้างที่เอามาผสมกันแล้ว จะช่วยเพิ่มความถี่ในการใช้ให้มากขึ้น
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น การนำโทรศัพท์ มารวมกันกับ กล้องถ่ายรูป ทำให้โทรศัพท์สามารถที่จะถ่ายรูปได้ ถือเป็นการเพิ่มฟังก์ชั่น ให้โทรศัพท์มือถือ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ที่ไม่ต้องพกพา ทั้ง 2 อุปกรณ์ ในการเดินทาง
เทคนิคที่ 6 คิดย้อนกลับ
เทคนิค คิดย้อนกลับ
“กลับหัวคิด ชีวิตเปลี่ยน” ประโยคยอดฮิตของใครหลายต่อหลายคน ลองตั้งคำถามด้วยคำถามเหล่านี้ เพื่อหาแนวความคิดกลับขั้วสำหรับคุณ
- ทำอะไรที่ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำอยู่ได้บ้าง
- กลับด้านหน้า เป็นด้านหลัง ได้หรือไม่
- หากกลับไปที่จุดเริ่มต้น จะทำให้คิดอะไรได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า
- อะไรที่เป็นด้านไม่ดี ของสิ่งนี้ มีวิธีจัดการกับมุมนี้ไหม
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น การนำวัสดุที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ อาทิเช่น การนำกระดาษลูกฟูกในบริษัทมาทำเป็นเก้าอี้ แทนที่จะขายในราคาถูก การนำพาเลทไม้ในโรงงานมาทำเป็นโต๊ะ เป็นต้น
เทคนิคที่ 7 คิดต่อยอด
เทคนิค คิดต่อยอด
การคิดต่อยอดนี้ จะใช้เทคนิค Yes And ? หรือ ใช่แล้ว และ … เพื่อเป็นการเสริมต่อยอดความคิดในขั้นแรก หลีกเลี่ยงการปฏิเสธด้วยการพูด No หรือไม่ เพราะจะเป็นการปิดกั้นไอเดียของคนที่นำเสนอความเห็น ทำให้ไม่อยากนำเสนอ และไม่เกิดการต่อยอดทางความคิด สำหรับตัวอย่างคำถามที่ควรถาม ได้แก่
- สิ่งที่กำลังมีอยู่นี้ สามารถต่อยอดทำอะไรได้อีก
- สิ่งไหนบ้างที่ดีอยู่แล้ว เราสามารถนำมาพัฒนาต่อไปได้อีก
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น ไอโฟน ที่ถูกพัฒนาจาก ไอโฟนรุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน เป็นการนำจุดเด่นและข้อดีที่มีอยู่ ค่อยๆพัฒนา ต่อยอดขึ้นมาเรื่อยๆ นับเป็นหนึ่งในโทรศัพท์ที่มีความทันสมัย และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
เทคนิคที่ 8 คิดเรียงลำดับใหม่
เทคนิค คิดเรียงลำดับใหม่
เทคนิคสุดท้ายที่นำเสนอนี้คือ เทคนิค คิดเรียงลำดับใหม่ หากลำดับขั้นตอนการทำงานที่เรากำลังทำอยู่นั้น วกไปวนมา หรือเราคุ้นชินกับการทำงานแบบเดิมๆ จนไม่เกิดการพัฒนา ลองคิดเรียงลำดับขั้นตอน ตำแหน่ง หรือ เปลี่ยนรูปแบบการจัดวางใหม่ วิธีนี้ ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้นเช่นกัน
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น การปรับเปลี่ยน Layout หรือแผนผังการทำงาน สลับตำแหน่งที่นั่งทำงาน เพื่อให้งานสามารถไหลได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง เป็นต้น
ร่วมแบ่งปันมุมมองแบบลีน
Mr.Boat - เล่าเรื่องลีน
และ อีก 1 ช่องทางแบ่งปัน ที่...
Facebook Page Dr. Lean - หมอลีน
#Lean #ลีน #Kaizen #ไคเซ็น #การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
โฆษณา