8 ส.ค. 2020 เวลา 00:00 • ปรัชญา
มงคลชีวิต 4 ประการ หนทางสู่ความสำเร็จ
สวัสดีครับคุณผู้ชมคุณผู้ฟังทุกท่าน ที่ติดตามรับชมภูริฟิล์ม คลิบนี้ผมจะมาพูดคุยในเรื่องของ มงคลชีวิต 4 ประการ ที่เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งในเรื่องนี้นะครับ ครูบาอาจารย์ท่านให้ข้อคิดเตือนสติว่า มงคลนั้น ก็แปลว่า ธรรมอันนำมาซึ่งความสำเร็จ ความสุข และความเจริญ ซึ่งทั้งหมดแล้ว ก็มีอยู่ 38 ประการด้วยกัน แต่ในที่นี้ จะกล่าวถึงมงคลเพียง 4 ประการ ซึ่งก็มีดังต่อไปนี้ ครับ
1. มงคลชีวิตในข้อที่ 8 คือ มีศิลปวิทยา
ท่านว่า คำว่า ศิลปะ ก็หมายถึง การนำเอาความรู้ มาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ส่วนคำว่า วิทยา หมายถึง ความรู้ ดังนั้น การมีศิลปวิทยา จึงหมายถึง การฉลาดรู้ ฉลาดทำ หรือการคิดเป็น ทำเป็นนั่นเอง ท่านว่า การที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต หรือประสบความสำเร็จ ในด้านใดด้านหนึ่งนั้น ประการแรก เราจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดีเสียก่อน อันหมายถึงรู้หลักทฤษฎี และประการต่อมา เราจะต้องมีศิลปะ อันหมายถึง รู้หลักในการปฏิบัติ คือ มีความสามารถในทางปฏิบัติ มีเทคนิคเฉพาะตัว รู้จักยืดหยุ่น และพลิกแพลงความรู้ที่มีอยู่นั้น ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพราะคนที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ขาดศิลปะ จึงมักจะ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ เนื่องจากรู้แต่หลักทฤษฎี แต่ขณะเดียวกัน กลับขาดทักษะในการปฏิบัติ อย่างเช่น รู้ว่าการทำกับข้าว จะต้องใส่เครื่องปรุงอะไรบ้าง แต่ถ้าหากให้แต่ละคน มาทำกับข้าว โดยให้ใส่เครื่องปรุงเท่าๆ กัน ก็ใช่ว่าอาหารที่ทำนั้น จะอร่อยเหมือนกันเสมอไป อันเนื่องมาจาก แต่ละคนนั้น ย่อมมีเทคนิค หรือเคล็ดลับที่แตกต่างกันออกไป เคล็ดลับในที่นี้นั่นเอง ที่เรียกกันว่า ศิลปะ ซึ่งผู้ที่มีศิลปวิทยา หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นอุดมมงคลต่อชีวิต เนื่องจากคนผู้นั้น ย่อมสามารถเลี้ยงตน และครอบครัวให้มีความสุขได้ ขอเพียงให้รู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง มีความชำนิชำนาญ เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี แม้เพียงอย่างเดียว ก็สามารถที่จะเลี้ยงชีพได้
2. มงคลชีวิตในข้อที่ 29 คือ พบสมณะ
คำว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ ท่านว่า ในที่นี้ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ ที่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจเป็นอย่างดีแล้ว จนได้ชื่อว่าเป็นผู้สงบ ระงับจากบาปกรรมอย่างแท้จริง การพบสมณะที่ถือว่าเป็นอุดมมงคลนั้น ก็คือ การพบผู้ทรงศีล หรือสมณะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทั้งทางกาย วาจา และใจ กล่าวคือ ผู้มีสมณสารูป อันได้แก่ กิริยาอาการตามแบบสมณะ มีความสำรวมระวัง ไม่คะนองกาย ไม่คะนองวาจา ไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้ายใคร และมีความเมตตากรุณา สงบเยือกเย็น เป็นปกตินิสัย ไม่เป็นที่หวาดระแวง ต่อผู้ที่ได้พบเห็น ใครได้พบเห็นสมณะเช่นนี้ ท่านว่า ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพราะสมณะ หรือพระสงฆ์ กล่าวได้ว่า เป็นต้นแบบของคนดี ซึ่งการได้พบกับคนดี การได้เข้าใกล้คนดี หรือการปรากฏตัวของคนดีคนหนึ่งนั้น ก็อาจเป็นแรงบันดาลใจ ต่อผู้ที่ได้พบเห็น ท่านว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติ เมื่อพบสมณะ ก็คือ
1. หากไทยธรรมมีอยู่ พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมนั้น ตามสมควร
2. หากไทยธรรมไม่มี พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์
3. หากไม่สะดวกที่จะกราบ จึงประนมมือไหว้
4. หากไม่สะดวกที่จะไหว้ พึงยืนตรง หรือแสดงความเคารพ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อย่างเช่น หลีกทางให้ เป็นต้น
3. มงคลชีวิตในข้อที่ 26 ฟังธรรมตามกาล
คือ การหาเวลา ไปฟังคำอบรมสั่งสอน จากผู้ที่มีธรรมะ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำ หรืออบรมสั่งสอน ให้เราเป็นคนดี เป็นการยกระดับจิตใจ และสติปัญญาของเราให้สูงขึ้น การฟังธรรมนั้นท่านว่า อาจฟังจากพระสงฆ์ หรือจากผู้ที่ทรงคุณธรรมทั่วไป เพราะผู้ที่ทรงภูมิ รู้ภูมิธรรมนั้น นับว่าเป็นปูชนียบุคคล ที่เราควรเคารพบูชา กราบไหว้ และน้อมรับเอาคำแนะนำ พร่ำสอนของท่าน มาปรับปรุงแก้ไขตนเอง เนื่องจากคนที่มีคุณธรรมสูงส่งนั้น เสมือนเป็นกระจกเงา ที่คอยส่องสะท้อน ให้เราเห็นข้อบกพร่อง ผิดพลาดของตนเองได้เป็นอย่างดี และกาลที่ควรฟังธรรม ตามหลักทางพระพุทธศาสนา กำหนดวันฟังธรรมที่เรียกว่า วันธรรมสวนะ คือวันพระ ไว้เดือนละ 4 วัน เพราะการฟังธรรม จะช่วยขจัดความไม่สงบ ของจิตใจได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เมื่อเราไม่สามารถไปฟังธรรมที่วัด ในวันธรรมสวนะได้ เราอาจติดตามรับฟังได้จากสื่อต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันนี้ รายการธรรมะมีให้ฟังอย่างแพร่หลาย ส่วนอานิสงส์ของการฟังธรรม ท่านว่ามีดังนี้
1. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่
2. เป็นการทบทวนความรู้เดิม กล่าวคือ บางเรื่องอาจเคยได้ยิน ได้ฟังมาแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจ เมื่อได้ฟังซ้ำอีก ก็เข้าใจชัดเจน แตกฉาน สามารถจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น
3. คลายความสงสัยเสียได้ กล่าวคือ บางเรื่อง เราอาจลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว อาจทำให้คลายสงสัยลงได้
4. เป็นการทำความเห็นให้ตรง กล่าวคือ บางทีเรามีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง (สัจธรรม) และเมื่อได้ฟังธรรมบ่อยๆ ก็ย่อมช่วยให้เราเข้าใจโลก และชีวิตได้ตามความเป็นจริง
5. เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น เพราะการฟังธรรม เป็นการพัฒนาตนเอง ตามหลักแห่งไตรสิกขา กล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อฟังธรรมบ่อยๆ จิตก็ย่อมผ่องใส สติปัญญาก็เฉียบแหลมยิ่งขึ้น
4. มงคลชีวิตในข้อที่ 30 คือ สนทนาธรรมตามกาล
ท่านว่า การที่คนสองคนขึ้นไป พูดคุยสนทนากันเรื่องธรรมะ หรือคุยกันในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ซึ่งมีสาระอันนำมาซึ่งสติปัญญา และช่วยยกระดับจิตใจ ของคู่สนทนาให้สูงยิ่งขึ้น การพูดคุยนอกจากนี้ ไม่ถือว่าเป็นการสนทนาธรรม เป็นเพียงการพูดคุยกันในเรื่องทั่วไป ท่านว่าการสนทนาธรรมนั้น อาจเป็นการสนทนากับพระสงฆ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือเพื่อนที่มีอัธยาศัยใกล้เคียงกัน มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน สามารถพูดคุยกัน ด้วยหลักแห่งเหตุผล เพื่อหาข้อสรุปว่า สิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดีอย่างไร เนื่องจากการสนทนาธรรม จำเป็นจะต้องใช้หลัก แห่งเหตุผล มาสนับสนุนคำพูดของเรา ให้มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ มีที่อ้างอิง ซึ่งสามารถเชื่อถือได้ ฉะนั้น การสนทนาธรรม จึงเป็นการฝึกฝน การใช้ความคิดอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การสนทนาธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคลแก่ชีวิต และทรงสนับสนุนให้พระภิกษุสงฆ์ ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป สนทนาธรรมกัน อย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องธรรมะ หรือมีประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้น เราควรหาโอกาสนั่งสนทนากัน ซักถามพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และมีจิตประกอบด้วยเมตตา ให้เกิดความสมานฉันท์ในหมู่คณะ และจะได้ซาบซึ้งในหลักธรรมมากยิ่งขึ้น ครับ
ขออนุโมทนาบุญ และกราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่ให้คติธรรม และข้อคิดในการดำเนินชีวิต และขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำคลิบนี้ และรับชมคลิบนี้ สาธุครับ
โฆษณา