8 ส.ค. 2020 เวลา 16:23 • ยานยนต์
เอกชนพร้อมดัน ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางรถ EV
กดดันรัฐสนับสนุนอย่าต้วมเตี้ยมชักช้าพาเสียโอกาส
วันนี้ผมมีโอกาสเข้าร่วมฟังสัมมนาออนไลน์ ถึงทิศทางแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ในงาน 5 First S-Curve “ยานยนต์แห่งอนาคตพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุค New Nomal จัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(สสปน.) และสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย
ซึ่งสิ่งที่ผมฟังแล้วสรุปได้จากการสัมมนานี้ค่อนข้างน่าสนใจอย่างยิ่ง ถึงทิศทางที่ว่ารถยนต์ EV ในบ้านเรามันจะเกิดได้ไหม? เอกชนพร้อมไหมที่จะลงทุน?? กำลังซื้อในประเทศมีหรือไม่??? และรัฐดำเนินนโยบายผลักดันไปถึงไหนแล้ว????
ขอบคุณภาพจาก Posttoday
ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจก่อนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ในบ้านเรามันไม่ใช่เรื่องใหม่จนเกินจะเข้าใจ เพราะก่อนที่กระแสของรถยนต์ EV จะบูมแบบปัจจุบันนี้ มันก็มียานยนต์ไฟฟ้าใช้งานกันมาสักระยะแล้ว แต่มันเป็นในระดับเล็กๆ ไม่ได้ใช้งานแบบในระดับส่วนบุคคลจริงๆ จังๆ เช่น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า สกู๊ดเตอร์ไฟฟ้า หรือใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็เป็นรถรางไฟฟ้า
1
รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะมาพูดถึงกันในช่วงปีสองปีนี้ แต่เพียงแค่มันยังไม่ถูกใช้งานในระดับที่ประชาชนใช้ขับขี่ไปไหนมาไหนเหมือนกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบ
2
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ เพียงแต่มันมีราคาค่อนข้างสูงถึงสูงมาก แถมความจุแบตเตอรี่ก็ต่ำ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง ดังนั้นก่อนการเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าเราจึงได้ยินคำว่ารถยนต์ไฮบริดก่อน ซึ่งเป็นการทำงานในการขับเคลื่อนแบบ 2 ระบบ คือ น้ำมันและพลังงานแบตเตอรี่
1
แต่อย่างว่าด้วยการที่มันเป็นรถยนต์แบบลูกครึ่ง ซ้ายก็ไม่สุด ขวาก็ไม่ถึง มันเลยไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ ซึ่งดูได้จากยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้า ทั้ง Toyota Prius หรือ Camry Hybrid ประกอบกับค่าดูแลรักษาที่สูง อะไหล่ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าก็แพงมันเลยเสื่อมความนิยมไป แถมยิ่งมาเจอราคาน้ำมันที่ถูกลงต่อเนื่องไปอีก ยิ่งแทบจะเกือบปิดประตูอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปเลย
แต่แล้วการเล่นใหญ่ของ Tesla Motor นี่แหละที่ฉุดให้กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้ากลับมาอีกครั้ง และดันขายดีเสียด้วย เหมือนกับว่าเทรนของมันกำลังมาจริงๆ จังๆ ในช่วงนี้ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจ ค่ายรถยนต์หลายค่ายก็เริ่มต้องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายแข่งกับ Tesla เพราะคงปล่อยให้ค่ายรถยนต์น้องใหม่มากอบโกยรายได้อยู่ฝ่ายเดียวก็คงไม่ยอมแน่ๆ
3
ทีนี้มาดูในส่วนของเนื้อหางานสัมมนาในวันนี้มีข้อมูลว่า จริงๆ แล้วมีผู้ประกอบการให้ความสนใจในการยื่นขอรับการสนับสนุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV อยู่ไม่น้อย โดยข้อมูลจากกระทรวงอุตาสหกรรมระบุว่า มีทั้งหมด 13 โครงการ กำลังการผลิต 125,000 คันต่อปี มูลค่าการลงทุน 15,600 หมื่นล้านบาท
อีกทั้งสิ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบก็คือ มีซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ภายในประเทศครบทั้งระบบ ตั้งแต่วัสดุผลิตตัวถังรถยนต์ยันระบบแบตเตอรี่ พูดง่ายๆ ก็คือว่าผลิตได้ทั้งคันทันทีโดยไม่ต้องนำเข้าอะไร เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่และมีความสำคัญในระดับหัวแถวของโลก ประกอบกับองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีเพียบพร้อมอย่างล้นเหลือ
3
ที่สำคัญคือค่ายผู้ผลิตรถยนต์ก็ลงทุนในส่วนของไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาหลายปีแล้ว มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมดำเนินการผลิตได้หากสิ่งที่สำคัญที่สุดมีความชัดเจนซึ่งก็คือ นโยบายของภาครัฐ ที่มีเป้าหมายที่แน่นอน
1
แล้วอะไรที่ยังทำให้รถยนต์ EV ของไทยยังไม่แจ้งเกิด?...คำตอบก็คือนโยบายของภาครัฐนี่เอง
1
จริงอยู่ที่รัฐบาลได้มีการส่งเสริมในให้อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ให้เป็นเหมือนเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกาลเครื่องยนต์เก่าๆ ที่ดับสนิทไปหลายตัวในช่วงนี้ และมีการสนับสนุนเรื่องสิทธิพิเศษต่างๆ กับผู้ผลิตแล้ว เช่น การลดภาษีสรรพสามิต 0% เป็นระยะเวลา3 ปี เป็นต้น
2
แต่ในส่วนของผู้ซื้อนั้นอาจจะยังต้องรอว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยให้ผู้ซื้อเข้าถึงเทคโนโลยีรถยนต์ EV ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เช่น การชาร์จไฟฟรี หรือสามารถหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคล / ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งอุดหนุนราคาให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลง เนื่องจากว่ามันคือของใหม่สำหรับคนไทยมาก ที่ยังมีข้อกังขาในการจะซื้อรถยนต์ EV มาใช้ดีหรือไม่ หากราคายังคงสูงกว่ารถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาบที่การันตีได้ว่า ยังไงก็มีราคาถูกกว่าและมีความสะดวกสบายในการเติมน้ำมัน ซ่อม หรือเข้าศูนย์บริการ
1
มีมุมมองที่น่าสนใจจากทางผู้บริหารของ กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มาร่วมเสวนาบนเวทีในงานนี้ว่า ถ้ารอภาครัฐที่ไม่มีความแน่นอนในนโยบายอาจจะเป็นเรื่องที่เสียเลา เพราะรัฐยังตีโจทย์ไม่แตกเลยว่าจะเอายังไง ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน ที่ผ่านมาเอกชนก็ลุยกันเองมาตั้งแต่ต้น ถ้าหากรัฐจะไม่ช่วยก็ไม่เป็นไร อย่าไปรอแต่ภาครัฐ แต่ขออย่าเข้ามายุ่งย่ามวุ่นวายหาผลประโยชน์ หรือหาช่องทางเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ใครก็พอ เอกชนทำกันเองเดินกันเองได้
2
แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสวิด – 19 จะกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจยานยนต์ แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือว่าเมื่องานบางกอกมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาหมาดๆ ยอดจองรถยนต์กลับพุ่งขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา นั่นหมายความว่ามันก็ยังมีความต้องการอยู่ภายในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ และรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเสมอเมื่อมีการนำมาเปิดตัว ซึ่งมันคือช่องทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เพียงแต่รัฐเองจะต้องเริ่มเดินเกมส์ให้เป็นได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งเร่งให้มีการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และการผลิตในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อว่ารถ EV ต้องได้ไปต่อ และมันสามารถใช้ตรงนี้เป็นเครื่องยนต์ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้าง S-Curve ใหม่ขึ้นมา
1
ในขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนยังมองมาไม่ถึงโอกาสตรงนี้ ไทยก็ควรใช้จุดแข็งที่มีช่วงชิงคว้าจังหวะเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ก่อนเพื่อปักหมุดตั้งมั่นให้เป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาคให้ได้
ที่สำคัญผลดีของรถยนต์ไฟฟ้ามันไม่ใช่แค่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ แต่มันยังช่วยลดมลพิษ ลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งมันคือผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย
สรุปง่ายๆ ว่าตอนนี้ทางผู้ประกอบการเองก็พร้อมที่จะลุยแล้ว แต่จะลุยได้รัฐก็ต้องสนับสนุน มีมาตรการที่ชัดเจนทั้งที่ให้กับผู้ผลิตและผู้ซื้อให้มีความสัมพันธ์กัน เพราะถึงอย่างไร อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามันมาแน่ๆ ในอนาคต ถ้าก้าวเดินช้าทั้งๆ ที่ตอนนี้มีโอกาสก้าวเดินก่อนใคร ก็อาจจะกลายเป็นเสียโอกาสไป เพราะเอกชนลุยเองมาเยอะแล้ว เหลือแต่รัฐนี่แหละว่า จะเอายังไง?
1
โฆษณา