9 ส.ค. 2020 เวลา 03:36 • การตลาด
นมในตำนาน “นมตราหมี”
ภาพจาก เฟสบุค นมตราหมี
วันนี้นึกถึงนม “ตราหมี” ขึ้นมาเพราะเจ้าลูกชายคนเดียวของผมดันอยากดื่มนมชนิดนี้ขึ้นมา ไม่ทราบเหมือนกันว่าไปเห็นหรือไปรับรู้ข้อมูล อะไรขึ้นมาจึงอยากทานขึ้นมา ซึ่งจากการสอบถามลูกชายให้ข้อมูลว่า ได้ลองซื้อมาทานเองแล้วอร่อย และแคลเซียมสูง ส่งผลให้สูงเร็วกว่านมทั่วไป (อันนี้ลูกชายบอกนะ ผมไม่ได้มาเชียร์ใดๆ) ปกติผมจะซื้อนม UHT ยี่ห้อหนึ่ง ให้ทานเป็นประจำ ลูกชายเองคงเบื่อรสชาติ และหานมอื่นดื่มไปเรื่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายยี่ห้อที่ทานบ้างแล้ว แต่ก็แค่ครั้งคราว แต่ครั้งนี้แตกต่างและนานกว่ายี่ห้ออื่นๆ ซึ่งส่วนตัวเองไม่ได้ติดใจอะไร ตามประสาคนเป็นพ่อแม่ ลูกแค่ทานนม เราก็ดีใจละ ทานไปเถอะ เอาละนอกเรื่องมานานละ เข้าเรื่องเราดีกว่าครับ ก่อนอื่นมาดูประวัตินมตราหมีกันสักนิด
นมตราหมี (อังกฤษ: Bear Brand) เป็นยี่ห้อนมผงและเครื่องดื่มนมที่เริ่มวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2519 โดยบริษัทเนสท์เล่ วางจำหน่ายในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์นมผงตราหมีอยู่ในความดูแลของเนสท์เล่ (ประเทศไทย)[1] ส่วนผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม (นมสเตอริไลส์ และเครื่องนมไขมันต่ำ ตราหมี โกลด์) อยู่ในความดูแลของเฟรเชอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ในเครือทีซีซีฯ[2][3]
ข้อมูลอ้างอิง วิกิพีเดีย
จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้นึกถึงนม “ตราหมี” ที่เป็นแค่ กระป๋อง
กลมๆ ด้านนอกถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษสีเหลือง เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น ผมย้อนนึกไปถึงนมผงตราหมี ขึ้นมาจับใจ ใครที่อายุสัก 30 ปลายๆ หรือ 40 ขึ้น น่าจะผ่านนมตราหมี มาหมดแทบจะทุกคน กระป๋องนมจะเป็นเอกลักษณ์ ที่เป็นกระป๋องสแตนเลส สีเงินๆ สูงๆ หน่อย (เสียดายผมไม่มีรูปมาลง) หลังจากทานหมดก็จะถูกนำมาดัดแปลงเป็น กระป๋องออมสิน หรือกระป๋องน้ำ แช่ตู้เย็น (ที่มาของคำว่าตำนานสำหรับผม)
ขอบคุณภาพจาก marketeer
มาเข้าเรื่อง โฆษณาของเราดีกว่า เผลอนอกเรื่องไปอีกแล้ว (เริ่มแก่ คิดถึงอดีต 555 )
นม “ตราหมี” มีการวาง positioning ที่ชัดเจน ซึ่งสร้างแบรนด์มาอย่างยาวนาน กับคำว่า “เพื่อคนที่คุณรัก” เป็นคำที่ติดหูผมจนถึงทุกวันนี้ แถมผมยังจำไม่ได้อีกด้วยว่า คำนี้เกิดขึ้นเมื่อไร
ด้วย positioning ที่วางไว้ เป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับคนที่คุณรัก จึงทำให้กลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ของสินค้าให้เป็น สินค้า premium ขึ้นมาทันใด จากสินค้าทั่วไป ดูแล้วไม่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน เป็นเพียงแค่นม ที่เหมือนนม ทั่วๆไป มีแคลเซียมสูง นมโคแท้ เหมือนทุกๆ แบรนด์
อย่างเดียว ที่ นมตราหมี มีความแตกต่าง คือ packaging ที่ไม่เหมือนใคร (จริงแล้วผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของตราหมี ก็มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้น และเพื่อแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ทั่วไป) เรื่องนี้ต้องชื่นชมทีมการตลาดและแบรนด์ตราหมี ด้วยความคิดที่อนุรักษ์และเก็บ product ดั้งเดิมไว้จนถึงทุกวันนี้
บางแบรนด์เลือกที่จะทั้งปรับ และเปลี่ยน เพื่อให้ทันสมัยขึ้น จนทำให้คุณค่าของสินค้านั้นๆ สูญเสียเสน่ห์ ไปจนถึงขั้นสูญเสียลูกค้าผู้ภักดีไปด้วย (Brand Loyolty)
นม ตราหมี ปัจจุบันจึงเป็นสินค้า ที่น่าจะเรียกว่าสินค้า season หรือเทศกาล สำหรับผมจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าของฝาก หรือของเยี่ยมคนป่วยและ จะขายดีในช่วง เทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ วันแม่ วันพ่อ เป็นต้น
จึงกลับกลายเป็นว่า นมตราหมี ดันมีคู่แข่งโดยตรงเป็นสินค้าประเภท ซุปไก่สกัด รังนก แทนที่จะเป็น นม ด้วยกัน โฆษณาทุกตัวของ นมตราหมี มักจะออกเฉพาะช่วงเทศกาล ด้วยเพราะเหตุผลที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ฉนั้นทุกโฆษณาจะเป็นการสื่อสาร เพื่อซื้อเป็นของขวัญ ไปให้คนต่างๆ เช่น แม่ พ่อ แฟน หรือญาติผู้ใหญ่ จนกระทั่งล่าสุดผมได้เห็นโฆษณาตัวนี้ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของแบรนด์
ภาพจากโฆษณา นมตราหมี
นมตราหมี เริ่มมีความคิดขยายฐานผู้บริโภค สังเกต slogan ที่เปลี่ยนไป “เพื่อคนที่คุณรัก” เป็น “เพื่อคนที่คุณรักและตัวคุณเอง” และภาพการสื่อสารก็เปลี่ยนไป โฆษณาเริ่มจากเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งกำลังเอื้อมมือ หยิบนมแต่เหมือนพยายามอย่างไรก็ไม่ถึง จนมีเด็กผู้ชายที่โตกว่ามาอุ้มจนสามารถหยิบนมได้
1
ภาพจากโฆษณา นมตราหมี
และมาจบที่ เด็กนำนม มาให้แม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และพ่อ
หลังจากนั้นก็นั่งทานด้วยกันอย่างมีความสุข
ภาพจากโฆษณา นมตราหมี
สุดท้ายด้วยภาพ ของคน 3 คน ที่ต้องการจะสื่อสารว่า ทุกคนทานได้ และจากโฆษณา คือทานได้ตลอดเวลา
ภาพจากโฆษณา นมตราหมี
หนังโฆษณา ยิ่งตอกย้ำให้ภาพชัดเจนเข้าไปอีกว่า นมตราหมี กำลังคิดการใหญ่ มากกว่าที่เคยเป็น กำลังขยายฐานผู้บริโภคที่จากเดิมมีแค่ คนซื้อเป็นของฝาก เปลี่ยนเป็นกินทุกวัน ให้ได้ทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะเทศกาล นั่นหมายความว่า นมตราหมี จะเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น จากแค่เพิ่มคำว่าตัวคุณเอง และปรับเปลี่ยน รูปแบบโฆษณาสื่อสารให้คนดื่มมากขึ้น และไม่ใช่การนำไปเป็นของฝาก
อย่างไรก็ตาม ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีดีและไม่ดี เสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อ positioning เปลี่ยน กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยน ก็ต้องมาพิสูจน์จากยอดขาย และ market share ว่า เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
1.ยอดขาย ณ ช่วงเวลาเทศกาลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของแบรนด์ จะน้อยลงไปมั้ย ถ้าเท่าเดิมหรือมากขึ้น และได้ยอดขายตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นก็นับว่าสำเร็จ
2.แต่ถ้าช่วงที่ดีที่สุดกลับลดลง แต่มียอดขายตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นมาแต่ไม่เพียงพอทดแทนกัน ก็แสดงว่ามีจุดต้องแก้ไข
3.แต่ถ้า ยอดขายไม่มาทั้งสองทาง โดยรวมยอดตกลงไปทั้งคู่ แสดงว่า positioning ใหม่ที่เลือกทำคงไม่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ถ้าออกมารูปแบบนี้อันตรายสุดๆ เพราะจะเข้าทำนองที่ว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ไหว”
ขอขอบคุณ ภาพประกอบจาก marketeer และจาก นมตราหมี และวิกิพีเดีย และอื่นๆ ที่ผมอาจตกหล่น
ขอบคุณสำหรับการติดตาม ฝากกด like กด share และร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจ ให้กันสักหน่อย 🙏😊
โฆษณา