9 ส.ค. 2020 เวลา 15:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นดราม่าที่คนในตลาดหุ้นและแม้กระทั่งคนที่อยู่นอกตลาดให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นบทวิเคราะห์ห์บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ AOT จากหลักทรัพย์กสิกรไทย (KSecurities) ที่เป็นกระแสสังคมอยู่ช่วงหนึ่งถึงความไม่ชอบมาพากลกรณีแก้ไขสัญญา Duty Fee กับบริษัทคิงพาวเวอร์
1. เกิดอะไรขึ้น ?
สืบเนื่องจากปัญหาผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ AOT มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาโดยมีการปรับวิธีการคำนวณ minimum guarante เพื่อช่วยเหลือคู่สัญญา (คิง เพาเวอร์) ทำให้คาดว่าจะส่งผลให้รายได้หายไป 1.33 แสนล้านบาท
2. หลักทรัพย์กสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ชื่อ "AOT เทวดาตกสวรรค์" ?
บทวิเคราะห์ "AOT เทวดาตกสวรรค์"
เนื้อหาหลัก ๆ ของบทวิเคราะห์คือ
- ไม่เห็นด้วยที่ให้ส่วนลดเงินการันตีขั้นต่ำโดยไม่เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
- หากจะช่วยเหลือ ควรชดเชยด้วยวิธีอื่น
- คาดว่าผลกระทบต่อ AOT จากการออกส่วนลดครั้งนี้จะอยู่ที่ 133,800 ลบ.
- หัก CG Discount 20%
- ปรับราคาเป้าหมายจาก 70.50 เป็น 45.50 บาท
3. เกิดอะไรขึ้นต่อหลังจากหลักทรัพย์กสิกรไทย และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ?
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เรียกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรไทยเข้าพบเพื่อปรับทัศนิคติ...เอ้ย...ปรับความเข้าใจ! ว่าเห็นที่ช่วยเหลือคิง เพาเวอร์เพราะกลัวโดนบอกเลิกสัญญา และไม่ได้ช่วยแค่คิง เพาเวอร์ คู่สัญญาคนอื่นก็ช่วยเหมือนกัน
4. โบรกเกอร์อื่นก็ออกบทวิเคราะห์ปรับประมาณเหมือนกัน แต่ทำไมไม่มีปัญหา?
แน่นอนว่าโบรกเกอร์อื่นทั้งในและต่างประเทศก็มีวิเคราะห์ออกมา และมีการปรับราคาเป้าหมายลง เพราะมันเป็นเรื่องปกติ เมื่อประมาณกำไรลด โบรกเกอร์ก็ต้องให้เป้าหมายที่ลดลง
แต่สิ่งที่บทวิเคราะห์ของหลักทรัพย์กสิกรไทยแตกต่างจากที่อื่น และมันปักเข้ากลางใจของผู้บริหาร AOT เต็ม ๆ ก็คือเรื่อง CG Discount นี่เอง
5. CG Discount คืออะไร ?
CG หรือ Corporate Governance แปลเป็นไทยคือบรรษัทภิบาล หรือธรรมาภิบาลนั่นเอง หมายถึง การบริหารจัดการบริษัทที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ดังนั้นการที่ AOT โดนหลักทรัพย์กสิกรให้ CG Discount นั่นสามารถแปลความหมายได้ว่าผู้บริหาร AOT ไม่บริหารงานไม่สุจริต ซึ่งมันเหมือนการตบหน้าผู้บริหาร AOT เข้าฉาดใหญ่
6. หลังจากหลักทรัพย์กสิกรไทยเข้าพบกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อ ?
ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้อยากให้เข้าใจ nature ของการจัดทำบทวิเคราะห์นั้น แต่ละโบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แต่ละแห่งนั้นจะจัดสรรให้นักวิเคราะห์แต่ละคนติดตามและทำบทวิเคราะห์ตามแต่ละอุตสาหกรรมที่ตนเองถนัดหรือที่ได้รับมอบหมาย หากเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ มีบริษัทที่โบรกเกอร์คอยติดตามอยู่หลายบริษัทโบรกเกอร์ก็อาจจะจัดสรรให้นักวิเคราะห์แต่ละคนติดตามแต่ละบริษัทไปเลย คือนักวิเคราะห์แต่ละคนก็อาจจะตามติดอยู่แค่ไม่กี่บริษัท และต้องคอยสร้างสายสัมพันธ์กับผู้บริหารและผู้แนะนำการลงทุน (IR) ของบริษัทนั้น ๆ เพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกหรือเข้าถึงข้อมูลที่คนอื่นเข้าไม่ถึง
เรื่องความสัมพันธ์นี้เองทำให้นักวิเคราะห์มักจะต้อง “รักษาน้ำใจ” กับบริษัทนั้น ๆ เป็นพิเศษ คุณลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารบริษัท แล้วมีนักวิเคราะห์คนนึงชอบออกบทวิเคราะห์พูดถึงบริษัทคุณในแง่ร้าย (ถึงแม้ว่าจะเป็นความจริง) หรือประเมินมูลค่าให้บริษัทคุณน้อยกว่าโปรเกอร์อื่น คุณจะยังอยากต้อนรับและให้ข่าวสำคัญ ๆ ของบริษัทอยู่ไหม
ซึ่งหลังจากที่เข้าพบกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT หลักทรัพย์กสิกรไทยก็ได้มีการปรับแก้บทวิเคราะห์ หรือที่เราเรียกกันเป็นภาษาบ้าน ๆ ว่า “บทวิเคราะห์ปลิว”
โดยได้มีการนำเอา CG Discount ออก และปรับเป้าหมายจาก 45.50 ขึ้นเป็น 56 บาท ซึ่งอาจเกิดจากนักวิเคราะห์มีการปรับมุมมองจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับจริง ๆ หรือทนแรงกดดันไม่ไหว
เรื่องนี้จะไม่ขอพูดถึงในบทความนี้ และจะขอปล่อยให้เป็นไปตามทัศนของผู้อ่านเอง แต่ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพราะในฐานะที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 70% AOT คนไทยทุกคนก็เปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ AOT ในทางอ้อม การได้หรือเสียประโยชน์ของ AOT ก็เหมือนการได้หรือเสียประโยชน์ของเราเองด้วย ดังนั้นเราทุกคนจึงควรช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลผลประโยชน์ของตนเองและประเทศชาติเท่าที่ทำได้
#AOT #KingPower #KSecurities
โฆษณา