10 ส.ค. 2020 เวลา 22:23 • ปรัชญา
สองวันก่อนไปเยี่ยมเพื่อนสนิทคนนึง
ที่กำลังป่วยและพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล
ในขณะที่กำลังเดินไปตามทางเรื่อยๆ นั้น
ผมนึกถึงหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่เคยอ่าน
จำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นผู้เขียน
ว่ากันว่าโรงพยาบาลคือสถานที่แห่งเดียว
ที่จะทำให้เรารู้จักกับกฎเวียนว่ายตายเกิด
ที่มีทั้งเกิด แก่ เจ็บและตายในเวลาไล่เลี่ยกันช
ประโยคนี้ติดตาและตรึงใจผมมาก
นับตั้งแต่อ่านเจอมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว
เวลาพูดถึงความตาย
เรื่องเดียวที่ทำให้ผมต้องกลับไปนึกถึงคือ
ชีวิตของตัวเองเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน
ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้าย
ที่ผมรอดจากการประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สุด
ของชีวิตในวัย 23 ครั้งนั้น
วินาทีนั้นไม่ทันได้คิดว่าตัวเองจะรอดหรือร่วง
รู้ตัวอีกทีผมลงไปนอนกองกับพื้นแล้ว
จะลุกก็ไม่ได้ ไม่มีแรงพอที่จะพยุงตัวเองขึ้นมา
เพราะไหล่ขวาผมหลุด แขนขวาท่อนบนหัก
แขนข้างขวานั้นห้อยไปห้อยมา 😂😂
และไม่นานนักเสียงรถกู้ภัยก็ดังมาแต่ไกล
รีบมารับคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลทันที
ผมเกิดอุบัติเหตุในวัย 23 ปี ตอนนั้น
อีก 2 ปีก็จะอายุ 25 ซึ่งย่างเข้าสู่วัยเบญจเพส
มันคงเป็นความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมาแต่ละยุคสมัย
ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ถูกส่งต่อความเชื่อเรื่องพวกนี้ว่า
ใกล้ๆ อายุ 25 ปีพวกเราควรจะต้องระวังตัวกันไว้
แต่ไอ้คำว่าใกล้ๆ เบญจเพส
ยิ่งต้องระมัดระวังตัวให้มากขึ้นนี่
คือมันต้องนับไปกี่วัน กี่เดือน และกี่ปีกันล่ะ
ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
แต่ในความเป็นจริงของชีวิตคือ
อายุไขเฉลี่ยของแต่ละคนเราไม่เท่ากัน
ผมอาจจะตายวันนี้หรือคืนพรุ่งนี้ก็เป็นได้
ไม่สำคัญหรอกว่าช่วงอายุของเราจะเท่าไหร่
เพราะทุกก้าวในชีวิตสำคัญเหมือนกันหมด
ตอนที่เกิดอุบัติเหตุในครั้งนั้น
ผมไม่โทษรถคันที่ผ่าไฟแดงมาด้วยซ้ำ
ไม่มานั่งโทษชะตากรรมว่า
ทำไมชีวิตเราต้องมาพบเจออะไรแบบนี้
ตอนนั้นผมกลับมามองที่ตัวเอง
ถึงจะเป็นความผิดพลาดของเขา
แต่ตัวเราก็มีส่วนประมาทด้วยเหมือนกัน
เวลาที่สะดุดขาตัวเองล้ม คุณโทษใคร
เวลาขับรถไปชนท้ายรถคนอื่น คุณโทษใคร
เป็นเพราะเราทำบุญมาน้อย
หรือความประมาทเราน้อยกว่าบุญที่เคยทำ
ทว่าความผิดพลาดแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นก็มีส่วนดี
เพราะมันได้มอบบทเรียนบางอย่างให้กับชีวิต
การเกิดขึ้นอุบัติเหตุของผมในวันนั้น
ก็ทำให้ผมมีสติกับการใช้ชีวิตมากขึ้นในวันนี้
มันทำให้ผมพยายามตั้งใจให้ชีวิตให้ดีกว่าเดิม
ไม่ประมาทเหมือนแต่ก่อน
มีสติมากขึ้นไม่ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ กับใคร
"อย่าไปนึกถึงแต่เรื่องเวรเรื่องกรรม
ตัวเรานั่นแหละที่ทำ แล้วจะไปโทษใคร"
ผมเล่ามาตั้งนานก็เพื่อที่จะบอกว่า
เวลาคิดหรือกำลังจะทำอะไรสักอย่าง
ให้เรานึกถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วย
ถ้าเราทำสิ่งนี้ ผลของมันจะออกมาเป็นยังไง
ถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้ ผลของมันจะออกมาเป็นยังไง
เราใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับรถ
เราโทรหาใครบางคนขณะที่
มือข้างหนึ่งจับพวงมาลัย อีกข้างจับมือถือ
เราเดินไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย
เราขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ทุกคนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันอันตราย แต่เราก็ยังทำ
ใช่ครับ และก็ไม่ได้จะมาบอกว่าผมไม่ทำ
ผมเองก็ทำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกข้อที่ผมจะทำ
ชีวิตความเป็นกับความตายก็เหมือน
หน้ามือกับหลังมือ อยู่ใกล้เพียงแค่พลิกฝ่ามือ
พี่สาวตรงข้ามบ้านเล่าชีวิตช่วงวัยรุ่นของลูกให้ฟัง
เขาบอกว่าลูกพี่เกือบตายมาแล้วหลายครั้ง
ใช้ชีวิตประมาทมาก ไม่เคยจะระวังตัวเอง
เขายิงคำถามใส่ผมว่า รอดจากชีวิตวัยรุ่นมาได้อย่างไร
ผมตอบกลับไปว่า พยายามใช้ชีวิตไม่ประมาท
"ตอนเป็นวัยรุ่นเราไม่เข้าใจหรอกว่า
ตอนนั้นความตายคืออะไร เราจึงไม่กลัวตาย
ถ้าเราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต
ผมเชื่อเลยว่า เราจะตั้งใจใช้ชีวิตให้ดีกว่าเดิม
บางทีเรื่องโชคชะตา เรื่องเวรเรื่องกรรม
ก็อาจไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยด้วยซ้ำ
ผมตอบพี่สาวไปอย่างนั้น
อยากให้เราทุกคนมองความผิดพลาด
ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของตัวเอง
หรือความผิดพลาดของผู้อื่นคือ "บทเรียน"
ตัวอย่างของความประมาท
มีให้เราเห็นเป็นร้อยเป็นพันครั้งแล้ว
คำถามคือ มีครั้งไหนบ้างที่คุณจำ
แล้วเก็บมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อๆ ไป
"ไม่มีหนังสือเล่มไหนมีแค่บทที่ 1
ชีวิตก็ไม่ใช่แค่การเรียนรู้อย่างเดียว
แต่คุณต้องจำและเก็บเอามาใช้เป็นบทเรียน
ให้เราได้เรียนรู้ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดซ้ำ"
.
.
- Jack is Back -
โฆษณา