10 ส.ค. 2020 เวลา 15:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Niels Bohr
มีเรื่องเล่าขานมาเป็นเวลาช้านานไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปีใด แต่น่าจะประมาณปี 1900 บวกลบไม่กี่ปี ณ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในการสอบวิชาฟิสิกส์ มีคำถามว่า “จงอธิบายว่าท่านจะใช้บารอมิเตอร์ช่วยในการวัดความสูงของตึกระฟ้าได้อย่างไร” (ต้องมีคำว่าจงด้วยทุกครั้งถ้าเป็นคำถาม)
นักศึกษาผู้หนึ่งได้เขียนคำตอบว่า “เอาเชือกยาวๆ มาผูกกับบารอมิเตอร์แล้วหย่อนลงมาจากยอดตึก วัดความยาวเชือกบวกกับความสูงของบารอมิเตอร์ ก็จะได้ความสูงของตึก”
ในตอนแรกเขาถูกตัดสินให้สอบตก เพราะคำตอบไม่ได้แสดงถึงความรู้ในวิชาฟิสิกส์เลย แต่นักศึกษาผู้นั้นยืนยันว่าคำตอบของเขาถูกต้อง ต่อมามหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อตัดสินเรื่องนี้ คณะกรรมการได้ตัดสินว่าคำตอบถูกต้อง แต่เพื่อให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ในวิชาฟิสิกส์ จึงให้โอกาสเขามาทำข้อสอบอีกครั้งหนึ่งโดยให้เวลา 6 นาที
หลังจากเวลาผ่านไปเล็กน้อย เขาบอกว่ามีคำตอบมากมายแต่ไม่รู้จะใช้คำตอบไหนดี แล้วเขาก็อธิบายวิธีการหาคำตอบด้วยวิธีการทางฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ตรีโกณมิติได้อย่างน้อย 5-6 วิธี จนคณะกรรมการยอมให้เขาผ่านการสอบครั้งนั้น (สามารถหาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ในการหาคำตอบ ถ้านำมาเขียนในที่นี้เกรงว่าจะยาวเกินไป นี่ก็รู้สึกว่าเริ่มยาวแล้ว)
นักศึกษาผู้นี้ชื่อนีล โบร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1922 เกี่ยวกับการค้นคว้าในเรื่องอะตอม
จะเห็นว่าในการทำงานแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องมีวิธีการหลากหลาย แล้วแต่ความคิดของมนุษย์แต่ละคนที่จะใช้วิธีการแตกต่างกันไป (โดยถูกกฎหมายและจารีตประเพณี) แต่ถ้าบอกว่าจะต้องใช้วิธีการที่กำหนดมาเท่านั้น จึงจะถูกต้อง แล้วตัดสินว่าถ้าไม่ทำตามวิธีการนี้ถือว่าผิด จะต้องเรียกมาอบรมให้ทำตามกรอบเท่านั้น ก็ไม่ต่างกับการใส่โปรแกรมให้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมทำงาน
ดังนั้นถ้างานนั้นเป็นงานที่ต้องใช้ “มนุษย์” ทำ ก็ควรจะยอมรับวิธีการแก้ไขปัญหาแบบมนุษย์ ซึ่งอาจจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป รวมทั้งยอมรับในเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ทุกคน ไม่มีมนุษย์สองคนคู่ใดในโลกที่เหมือนกันทุกประการ
ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ต้องปรับกระบวนการทำงานทั้งหมด แล้วเปลี่ยนไปให้หุ่นยนต์ทำแทน
จบ
ที่มาเรื่องของนีล โบร์ ที่เล่ามานี้ หาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย
โฆษณา