Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TAX ME IF YOU CAN
•
ติดตาม
11 ส.ค. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ใครบ้างต้องจด VAT? รายได้ 1.8 ล้าน จดเลยไหม?
ก่อนที่จะก้าวไปสู่ประโยคที่คุ้นหูว่า ‘รายรับถึง 1.8 ล้านบาท ต้องจด VAT เลยใช่ไหม?’ ต้องอธิบายหลักการก่อน ว่าคนที่ต้องจด VAT นั้นต้องเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งนิยามของ ‘ผู้ประกอบการ’ แยกเป็น 4 องค์ประกอบได้ ดังนี้
1. ‘บุคคล’ : เมื่อไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจง จึงหมายถึง ‘บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล’ ทุกรูปแบบที่มีสภาพบุคคลตามกฎหมาย และบุคคลในกรณีรวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน
2. ‘ขายหรือให้บริการ’ : ขาย คือ มีการส่งมอบสินค้าไม่ว่ามีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่าง และ บริการ คือ การกระทำใดๆ ที่ไม่ใช่การขาย ดังนั้น กรณีนี้หมายถึงการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจแบบทุกกรณี
3. ‘ในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ’ : ต้องเป็นการดำเนินการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพจึงเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการ VAT และเมื่อคำนี้ไม่มีนิยามในกฎหมายจึงเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
ยกตัวอย่างเช่น
- การมีรายได้ครั้งเดียวจากการเป็นนายหน้าขายที่ดิน กรมสรรพากรมีมุมมองว่าเป็นการดำเนินการในทางธุรกิจ แต่ผู้เสียภาษีมองว่าเมื่อทำครั้งเดียว ย่อมไม่เข้าข่ายการทำธุรกิจ
- การขายทรัพย์สินเก่ามีที่มูลค่าสูงหลายๆครั้งใน 1 ปี ถือเป็นการทำธุรกิจหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด หากไม่ใช่ธุรกิจ จะไม่อยู่ในระบบ VAT
ดังนั้น ผู้เสียภาษีต้องแยกให้ได้ว่าการกระทำนั้นๆ ถือเป็นธุรกิจ หรือไม่อยู่ในขอบข่ายการทำธุรกิจ เพราะเฉพาะการทำธุรกิจเท่านั้น ที่อยู่ในบังคับเสีย VAT
4. ‘ไม่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่’ : การขายหรือให้บริการในทางธุรกิจที่ไม่คิดค่าตอบแทน จะอยู่ในระบบ VAT ด้วย
จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 องค์ประกอบของการเป็น ‘ผู้ประกอบการ VAT’ ยังไม่มีเงื่อนไขรายได้ 1.8 ล้านบาท แต่อย่างใด ดังนั้น หากบุคคลใดทำธุรกิจ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าต้องจด VAT เว้นแต่ว่าจะได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
‘กิจการที่ได้รับยกเว้น VAT’
แม้จะเข้า 4 องค์ประกอบข้างต้นที่ต้องจด VAT แต่จะมีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจด VAT ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใดก็ตาม เช่น
- ขาย : พืชและสัตว์ ไม่ว่าจะสดหรือดิบ หรือรักษาสภาพ (แช่แข็ง บด ฯลฯ) แต่ไม่รวมการบรรจุในเชิงอุตสาหกรรม / ปุ๋ย / อาหารสัตว์ / หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน
- บริการ : การศึกษา / รักษาพยาบาล / ว่าความ / สอบบัญชี / จ้างแรงงาน / ขนส่ง / ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
ดังนั้น ถ้าประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้น VAT เช่น ให้เช่าบ้าน คอนโด ไม่ว่ามีรายได้เท่าไรก็ตาม ย่อมไม่ต้องจด VAT แต่อย่างใด
‘กิจการขนาดย่อม’
เมื่อกฎหมายยกเว้น VAT ในเชิงประเภทธุรกิจแล้ว กฎหมายย่อมต้องยกเว้นในเชิงปริมาณยอดขาย นั่นคือ ยกเว้น VAT สำหรับกิจการขนาดย่อม หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ยอดขาย 1.8 ล้านบาท ต่อปี’
ดังนั้น หากผู้ประกอบการมียอดขายในปีปฏิทินนั้น ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ไม่ว่าจะประกอบกิจการประเภทใด ย่อมไม่ต้องจด VAT และเมื่อขึ้นมีปฎิทินใหม่ ยอดขายก็นับใหม่
เมื่อวันใด ยอดขายแตะ 1.8 ล้านบาท ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจด VAT นับจากวันดังกล่าว เพราะข้อยกเว้นทางกฎหมายได้หมดสิ้นไปแล้วนั่นเอง และถือเป็นผู้ประกอบการ VAT ไปตลอด แม้ว่าปีหน้า ยอดขายจะไม่ถึง 1.8 ล้านบาท แล้วก็ตาม
สรุป : อย่ารีบด่วนสรุปไปว่า ยอดขาย 1.8 ล้าน จะต้องจด VAT ทันทีเสมอไป ต้องเช็คตัวเองก่อนว่า 1. ถือเป็นธุรกิจไหม 2. เป็นกิจการที่กฎหมายยกเว้นไหม ค่อยมาดูเงื่อนไข 1.8 ล้าน เป็นลำดับสุดท้าย บางทีตัวเราเองอาจจะไม่อยู่ในระบบ VAT แต่แรกแล้วก็ได้ จะได้ไม่ต้องกังวลครับ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย