12 ส.ค. 2020 เวลา 23:57 • ธุรกิจ
ไม่มีอะไร แน่นอน ในชีวิตจริงๆนะครับ
เป็นอนุสติที่ดี
ผมได้เรื่องนี้ทั้งดุ้นเลยจาก ไลน์ เห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ขอนำมาให้อ่านกัน
เครดิตทั้งปวงก็ตามนั้นเลยครับ
.......
เช้านี้ได้อ่านบทความดีมากชิ้นหนึ่ง เป็นงานเขียนของคุณ Prakash Iyer นักเขียน นักพูด โค้ชสร้างความเป็นผู้นำ และอดีต MD ของ Kimberly Clark Lever เลยอยากเอามาเล่าต่อ น่าจะมีประโยชน์กับหลายๆ คนในช่วงสถานการณ์ตอนนี้
พวกเรามีใครเคยได้ยินสะพานชื่อ “โชลูเตกา” ไหม (Choluteca Bridge) ผมก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนเช่นกัน จนเมื่อไม่นานมานี้ มันเป็นสะพานที่มีความยาว 484 เมตร ที่สร้างเพื่อข้ามแม่น้ำโชลูเตกาในประเทศฮอนดูรัส ในทวีปอเมริกากลาง เป็นภูมิภาคที่ขึ้นชื่อในเรื่องของพายุต่างๆ รวมทั้งพายุเฮอริเคน
ดังนั้น เมื่อพวกเขาตัดสินใจที่จะสร้างสะพานใหม่แห่งนี้ขึ้นมาเหนือแม่น้ำโชลูเตกาในปี 1996 เขาต้องการมั่นใจว่ามันจะสามารถทนทานต่อสภาพอากาศอันเลวร้ายสุดๆ ได้ ผู้รับเหมาที่เป็นบริษัทของญี่ปุ่นได้ถูกรับเลือกให้มาทำงานนี้ และเขาก็ได้สร้างสะพานที่มีความแข็งแรงมาก ออกแบบมาเพื่อทนทานได้กับพลังอันโหดร้ายของธรรมชาติทุกรูปแบบ
ในที่สุด สะพานโชลูเตกาแห่งใหม่ที่มีทั้งดีไซน์และวิศวกรรมที่ทันสมัยแห่งยุค ได้ถูกเปิดใช้งานในปี 1998 และเมื่อผู้คนได้ขับรถข้ามสะพานนี้จากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่ง พวกเขาต่างพากันชื่นชมสะพานใหม่แห่งนี้ มันเป็นทั้งความภูมิใจและความสุขของคนเมืองนี้จริงๆ
และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง เฮอริเคนมิทช์ ได้พัดถล่มฮอนดูรัส มีฝนตกหนักขนาด 75 นิ้ว/ตรม.ในเวลา 4 วัน - เท่ากับปริมาณน้ำฝนที่เมืองนี้เคยได้รับในเวลา 6 เดือน! ความเสียหายครั้งใหญ่เกิดขึ้นไปทั่ว น้ำท่วมท้นออกมาจากแม่น้ำโชลูเตกา พัดทำลายบ้านเรือนทั่วทั้งภูมิภาค ประชาชนกว่า 7,000 คนเสียชีวิต สะพานทุกแห่งในประเทศฮอนดูรัสถูกทำลาย
ทุกแห่ง! ยกเว้นเพียงแต่สะพานโชลูเตกา ที่ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เลย
แต่มีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้น! ในขณะที่สะพานอยู่ในสภาพเดิม ถนนทุกสายที่วิ่งมาสู่สะพานนี้หรือออกจากสะพานนี้ไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว มันถูกน้ำพัดทำลายจนหมดสิ้น จนมองไม่ออกเลยว่าครั้งหนึ่งเคยมีถนน
และเท่านั้นไม่พอ พลังของอุทกภัยได้ทำให้แม่น้ำโชลูเตกาเปลี่ยนเส้นทางไหล มันสร้างทางไหลของน้ำขึ้นใหม่ และตอนนี้แม่น้ำเขยิบไปไหลอยู่ด้านข้างของสะพาน ไม่ใช่ด้านล่างของสะพาน แต่เป็นข้างๆ ของมัน
ดังนั้น ถึงแม้สะพานมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะอยู่รอดจากเฮอริเคน แต่มันกลับกลายเป็นสะพานที่ไม่ได้ใช้ข้ามอะไรเลย และเป็นสะพานที่ไม่สามารถวิ่งไปที่ใด (A bridge over nothing. A bridge to nowhere)
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีที่แล้ว แต่บทเรียนจากสะพานโชลูเตกานั้นเกี่ยวข้องกับเราในสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าเมื่ออดีต
โลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พวกเราอาจไม่เคยจินตนาการถึง และสะพานโชลูเตกานี้เป็นอุปมาที่ยอดเยี่ยมถึงสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับพวกเรา อาชีพของเรา ธุรกิจของเรา ชีวิตของเรา เพราะโลกรอบๆตัวเรากำลังเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง หรืออื่นๆ
ในขณะที่คุณมองกลับไปที่อาชีพของคุณ คิดอีกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจเรียนคอร์สเพิ่มเติมเพื่อให้คุณยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นมากยิ่งขึ้น บทบาทนั้น ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นอาจกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่เกลื่อนกราดแล้วก็ได้
ก่อนที่จะใช้เงินเพื่อปรับปรุงออฟฟิศเก่าของคุณ หยุดเลย
หากกำลังคิดเปิดสาขาเพิ่มไปทุกมุมเมืองทั่วประเทศ คิดอีกครั้ง พื้นที่สำนักงานอาจกำลังเป็นอดีตในไม่ช้านี้
ความท้าทายสำหรับพวกเราคือ เราโฟกัสไปที่การหาทางแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาหนึ่ง โดยลืมไปว่า ปัญหานั้นเองอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้
พวกเราทั้งหมดกำลังโฟกัสไปที่การสร้างสินค้าหรือบริการที่แข็งแกร่งที่สุด ฉลาดล้ำที่สุด โดยลืมคิดถึงความเป็นไปได้ที่ความต้องการนั้นอาจกำลังหายไป ตลาดอาจเปลี่ยนไปแล้ว พวกเรากำลังโฟกัสที่สะพานและเพิกเฉยต่อความเป็นไปได้ที่ว่าแม่น้ำที่อยู่ด้านล่างอาจไหลเปลี่ยนทิศ ลองคิดแบบนี้ดูบ้าง
“สร้างเพื่อความคงทน” อาจเป็นคาถายอดนิยม แต่ “สร้างเพื่อการปรับตัว” อาจเป็นทางรอดก็ได้
คุณอาจจะอยากเพิ่มภาพสะพานโชลูเตกาไว้บนผนังออฟฟิศของคุณ เพื่อเตือนตัวเองให้สร้างธุรกิจและอาชีพที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง
ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณอาจจะถูกทิ้งไว้เช่นเดียวกับสะพานโชลูเตกา A superb bridge. Over nothing. To nowhere.
ถอดความโดย Ahn Kesthip
8/08/2020
Cr. บทความจาก BW BUSINESSES WORLD
โฆษณา