13 ส.ค. 2020 เวลา 02:39
การทดลองเรื่อง #ผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อคนส่วนใหญ่ละทิ้ง “เป้าหมายใหญ่” เพราะ “สิ่งล่อใจ” ในชีวิตประจำวัน… เรื่องราวมันเป็นยังไง #เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
1) ถ้าถามว่า…ใครบ้างที่ไม่เคยผัดวันประกันพรุ่ง คำตอบคือน่าจะมีน้อยมาก…หรือไม่มีเลยใช่มั้ยล่ะครับ (แอดมินกว่าจะเขียนบทความได้ ก็ผัดมาหลายวันเหมือนกัน 555) วันนี้เลยมีเรื่องราวการทดลองที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันครับ…
2) เรื่องมีอยู่ว่า มีอาจารย์มหาลัยคนนึง แกอยากจะทดลองว่าการ “สั่งทำรายงาน” แบบไหน จะทำให้นักศึกษามีคะแนนสูงที่สุด โดยรายงานทั้งหมดจะมี 3 ชิ้น ที่จะต้องส่งตลอดเทอม (12 สัปดาห์) แกเลยทำการทดลองโดยแบ่งนักศึกษาออกเป็น “3 กลุ่ม” สำหรับ “3 คลาส” ที่แกสอน เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของ “วิธี” ที่ใช้ในการสั่งทำรายงาน…
กลุ่มที่ 1 ขอตั้งชื่อว่า #กำหนดเอง โดยให้นักศึกษาแต่ละคนในคลาสนี้เป็นผู้กำหนดวันส่งรายงาน (deadline) ของตัวเองได้เลยสำหรับรายงานทั้ง 3 ชิ้น โดยแต่ละคนต้อง “แจ้งล่วงหน้า” ว่าจะส่งงานแต่ละชิ้น “วันที่เท่าไหร่บ้าง” เงื่อนไขคือ… สามารถส่งก่อนได้ แต่ห้ามส่งหลังจาก Deadline เด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะโดย “หักคะแนน” ทุกๆ 1 คะแนน (จาก 100 คะแนนเต็ม) สำหรับทุกๆ 1 วันที่เลยกำหนด…
กลุ่มที่ 2 ขอตั้งชื่อว่า #กำหนดให้ โดยกลุ่มนี้อาจารย์จะเป็นผู้กำหนดวันส่งรายงานให้เอง ซึ่งก็คือ รายงานชิ้นที่ 1 ต้องส่งภายในสัปดาห์ที่ 4... รายงานชิ้นที่ 2 ต้องส่งภายในสัปดาห์ที่ 8... และรายงานชิ้นที่ 3 ต้องส่งภายในสัปดาห์ที่ 12… พูดง่ายๆ ก็คือให้เวลาทำรายงานประมาณชิ้นละ 4 สัปดาห์เท่าๆ กัน โดยส่งก่อนได้ แต่ห้ามส่งทีหลังเหมือนเดิม…
กลุ่มที่ 3 ขอตั้งชื่อว่า #ไม่มีกำหนด โดยกลุ่มนี้ ให้นักศึกษาส่งรายงานทั้ง 3 ชิ้นวันไหนก็ได้… ขอแค่ไม่เกินการจบคลาสภายในสัปดาห์ที่ 12 ก็พอ… จะแยกกันส่ง ส่งพร้อมกัน หรือยังไงก็ได้ และไม่ต้องแจ้งด้วยว่าจะส่งชิ้นไหนวันไหน ให้จัดการกันเอาเองตามสะดวก…
3) พร้อมสำหรับผลการทดลองรึยังครับ! ผลก็คือ… กลุ่มที่ 2 ได้คะแนนสูงสุด!! ซึ่งก็คือกลุ่มที่อาจารย์เป็นคน “กำหนดให้” ว่ารายงานแต่ละชิ้นต้องส่งวันไหนบ้างนั่นเอง… ตามมาด้วยกลุ่มที่ 1 ที่นักศึกษาเป็นผู้กำหนดวันส่งเอง และปิดท้ายด้วยกลุ่มที่ 3 ที่ไม่มีกำหนดใดๆ เลย คำถามคือ… แล้วผลการทดลองนี้มันบอกอะไรเราบ้าง?
4) คำตอบคือ… นักศึกษา (รวมถึงคนทั่วไป) ส่วนใหญ่นั้น “รู้อยู่แล้ว” ว่าตัวเองเป็นคนชอบผัดวันประกันพุ่ง และวิธีการที่ “ดีที่สุด” สำหรับแก้ปัญหานี้ก็คือการ “กำหนด Deadline” อย่างชัดเจน แต่…แค่นั้นพอรึเปล่า? คำตอบคือ “ไม่”
5) เราจะเห็นว่า อ้าว! กลุ่มที่ #กำหนดเอง กับกลุ่ม #กำหนดให้ มันก็น่าจะมีคะแนนออกมาเท่าๆ กันไม่ใช่หรอ? เพราะทั้งสองกลุ่มมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือการ “กำหนด Deadline” ใช่ครับ… แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันก็คือ “เวลาที่เหมาะสม” นั่นเอง…
6) ถ้าเข้าไปดูผลคะแนนรายคนของนักศึกษากลุ่ม #กำหนดเอง จะพบว่า… ถ้านักศึกษาคนไหนกำหนด deadline แบบที่มีระยะห่างของแต่ละรายงานที่เท่าๆ กัน (เหมือนกับกลุ่มที่อาจารย์กำหนดให้ ในที่นี้คือ ชิ้นละ 4 สัปดาห์) ผลคะแนนของรายงานก็แทบจะ “ใกล้เคียง” กับกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดเลย…
ในขณะที่นักศึกษาคนไหนที่ตั้ง deadline แบบไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ เช่น ห่างกันเกินไป หรือใกล้กันเกินไป ก็มักจะได้คะแนนน้อย เพราะมันแปลว่าต้องรีบๆ เร่งทำรายงานมาส่ง (ใกล้กันเกินไป) หรือละเลยกับงานเกินไปด้วยสิ่งล่อใจอื่นๆ ภายนอก (ห่างกันเกินไป) โดยที่สุดท้ายแล้วทำให้ใช้เวลาไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่มี ซึ่งส่งผลต่อ “คุณภาพของงาน” ในที่สุด
7 ) บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ… เกือบทุกคนมีแนวโน้มที่จะเป็นคน #ผัดวันประกันพรุ่ง นั่นแหละ แต่ใครที่ “รู้ตัว” และ “ยอมรับโดยเร็ว” และใช้เครื่องมือภายนอกในการมาช่วยแก้ปัญหา ก็มีแนวโน้มที่จะป้องกันปัญหานี้ได้ดีกว่าคนที่ไม่ทำอะไรเลย…
ตัวอย่างเมื่อกี๊นี้ก็เป็นแค่เรื่องเรียนหนังสือ… แต่สำหรับเรื่องอื่นในชีวิตประจำวันล่ะ? ลองดูตัวอย่างของ #การลดความอ้วน
8 ) เราบอกตัวเองเสมอว่าเราจะ “ลดความอ้วน” เราจะไม่กินของหวานแล้ว เราออกไปวิ่งทุกเช้า หรือแม้แต่ไปฟิตเนสบ่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วทำไมเราถึงทำไม่ได้? มันมักจะมีสิ่งล่อใจมาเสมอ เพื่อนชวนไปกินบุฟเฟต์บ้าง… วันนี้เหนื่อยมาทั้งวัน ค่อยออกกำลังกายพรุ่งนี้เช้าแทนแล้วกันนะ… หรือแม้แต่บอกตัวเองว่า “วันนี้ขอกินหนักๆ ครั้งสุดท้าย แล้วพรุ่งนี้จะงดข้าว 1 วัน!” ทั้งหมดนี้ก็เป็น “การผัดวันประกันพรุ่ง” ทั้งสิ้น… แล้วสุดท้ายเราก็ไม่สามารถทำตามเป้าหมายของเราได้….
9) บางทีการใช้ “เครื่องมือภายนอก” อาจจะตอบโจทย์ตรงนี้มากกว่า… เช่น ถ้าตั้งใจจะไปฟิตเนสแต่รู้ตัวว่าเป็นคนขี้เกียจ… ลองเปลี่ยนเป็น “จ้างเทรนเนอร์” ดีไหม? เพราะเราได้ “เสียเงิน” ไปแล้ว การเสียเงินอาจจะทำให้เรารู้สึก “เสียดาย” ถ้าเราไม่ได้ใช้บริการ (สำหรับคนที่เสียดายเงินมากกว่าความสบาย)
หรือสำหรับการกินอาหารที่มีประโยชน์ เราอาจจะใช้วิธี “ผูกปิ่นโต” กับร้านอาหารสุขภาพ ให้เค้ามาส่งอาหารให้เราทุกวัน…แทนที่เราจะเลือกกินอาหารเอง ก็ลักษณะเดียวกัน เราจ่ายเงินไปก่อน เรา (อาจจะ) เสียดายเงินถ้าเราไม่กินอาหารนั้น เป็นต้น…
#สรุปแล้ว นี่ก็เป็นตัวอย่างนึงของการผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าเราสังเกตดีๆ มันก็แทบจะมีกับทุกเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องการ “เก็บเงิน” เราบอกเราจะเก็บเงินทุกเดือน แต่สุดท้ายเราก็อดใจซื้อ “โทรศัพท์” เครื่องใหม่ไม่ได้… อันนู้นก็สำคัญ อันนี้ก็ต้องใช้… ดังนั้น สำหรับใครที่คิดว่าจะไม่สามารถเอาชนะการ “ผัดวันประกันพรุ่ง” ได้ ก็อาจจะต้องลองใช้เครื่องมือภายนอก ที่บังคับให้เราทำแทน…
#ทิ้งท้าย ลองนึกดูว่าในแต่ละวัน เราผัดวันประกันพรุ่งกับเรื่องอะไรบ้าง… แล้วมันพอจะมี “เครื่องมือภายนอก” ชิ้นไหนที่จะช่วยเราได้รึเปล่า แต่มันก็แน่นอนครับ… ว่าถ้าเราชนะใจตัวเองได้ มันก็คงจะดีกว่า (และประหยัดกว่า) แต่ก็อย่างว่าแหละครับ มนุษย์เรามักไม่มีเหตุผล… แต่การไม่มีเหตุผลนั้นมันเกิดซ้ำๆ เป็นแพทเทิร์นจนเรา “หาวิธีรับมือ” กับมันได้…
ที่มา/อ้างอิง
The Problem of Procrastination and Self-Control – Predictably Irrational by Dan Ariely
โฆษณา