13 ส.ค. 2020 เวลา 14:57 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผมได้ทราบมาว่า เมื่อข่าวการนิมนต์พระมาแสดงปาฐกถาสำคัญในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เริ่มแพร่ออกไปนั้น ได้เกิดปฏิกิริยาในทางลบทันที มีเสียงค้านว่า พระจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวิทยา­ศาสตร์ เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ...
ท่านเจ้าคุณฯ ใช้เวลาสี่ชั่วโมงครึ่งเพื่อบรรยายเนื้อหาที่ท่านเตรียมมาแต่ก็ไม่จบสิ้นกระบวนความที่ท่านประสงค์จะแสดง ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่ คือมากกว่า ๙๐% อยู่ฟังต่อจนจบหลังจากพักครึ่งเวลา ห้องประชุมใหญ่ซึ่งจุคน ๓๐๐ คน แน่นจนต้องเปิดห้องอื่นต่อโทรทัศน์วงจรปิดให้เข้าไปนั่งฟัง ...
ผู้อ่านบางท่านอาจข้องใจสงสัยว่า ท่านเจ้าคุณเทพเวทีรู้วิทยา­ศาสตร์ เพียงพอที่จะวิเคราะห์วิจารณ์หลักการของวิทยาศาสตร์ละหรือ ท่านเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาจากสถาบันไหน
เมื่อผมได้ฟังการบรรยายของท่านแล้ว ผมก็แน่ใจว่าท่านไม่ได้ศึกษามาอย่างที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางสาขาใดของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ท่านไม่เคยได้รับแม้แต่ปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ ข้อนั้นผมถือว่าเป็นการดีที่จะได้ไม่มีเจ้าสำนักสถาบันวิทยาศาสตร์ใดอ้างได้ว่าเคยเป็นอาจารย์ของท่านมา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ท่านอ้างอิงถึงนั้น ผู้รักเรียนทั่วไปสามารถแสวงหาได้ โดยอุตสาหะวิริยะของตนเอง
ปัญหามีอยู่ว่าโดยทั่วไปแม้ในหมู่ผู้ที่ถือว่าตนเป็นนักวิชาการนั้น มีความสนใจที่จะเรียนกว้างไกลออกไปจากวงแคบของความรู้เชี่ยวชาญพิเศษของตนหรือเปล่า
ผมมีความเห็นว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยได้เรียนรู้พุทธศาสนาอย่างถูกต้องในระดับอันเทียบเท่ากับที่ท่านเจ้าคุณฯ รู้วิทยาศาสตร์แล้ว ก็คงจะมีทัศนคติที่ช่วยให้ท่านทำประโยชน์แก่ทั้งวิทยาศาสตร์ และพุทธศาสนา ได้ไม่น้อย
ผู้คนทั่วไปในโลกปัจจุบันยอมรับนับถือว่า วิทยาศาสตร์เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญและน่าเชื่อถือในเรื่องโลกและชีวิต ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะวิทยาศาสตร์ประยุกต์เป็นรากฐานของเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งได้ผลิตอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายและสนองตอบเต็มที่ต่อความต้องการ ทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ของมนุษย์ วิทยาศาสตร์จึงประทับใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในโลก
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของวิทยาศาสตร์ ต่อปัญหาเรื่องต่างๆ จะถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงแท้ กล่าวคือ สัจจธรรม หรือไม่อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่นักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเองก็ได้ขบคิดพิจารณากันอยู่ตลอดมา ปาฐกถาของท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีอันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ เป็นกรณีหนึ่งของการอภิปรายในปัญหาซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการไทยปัจจุบันควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง ถ้าคิดจะก้าวหน้าให้ทันโลกปัจจุบัน
ข้อความบางส่วนจากคำนำ โดย ศ.ดร. ระวี ภาวิไล
จากเรื่อง พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
โฆษณา