ศาสนามีต้นกำเนิดจากอะไร
เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า ศาสนามีต้นกำเนิดจากความกลัวภัย ก็กลัวภัยธรรมชาตินี้แหละ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุร้ายอะไรต่างๆ เหล่านี้
พูดรวบรัดว่า มนุษย์นี้ ถูกภัยธรรมชาติบีบคั้น เกิดความกลัวภัยขึ้นมา ก็เริ่มที่จะหาคำตอบ และการที่จะหาคำตอบก็คือ เกิดความสนใจต่อธรรมชาตินั่นเอง ...
... ตัวกำหนดอันนี้แหละที่จะไปบรรจบกับวิทยา­ศาสตร์ บรรจบกันตรงที่ว่า ในฝ่ายศาสนานี้มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัย ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราพูดไปแล้วเมื่อกี้ว่ามีความใฝ่ปรารถนาที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติ ตรงนี้แหละที่จะเห็นจุดบรรจบ
ภาพ The Creation of Adam โดย Michelangelo
จะเห็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกนั้นมากับศาสนา พวกที่กำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกไว้ ในยุคอียิปต์ เมโสโปเตเมีย ฯลฯ เท่าที่ทราบนี่ เป็นคนในวงการศาสนา อาจจะเรียกว่าเป็นนักบวชหรืออะไรก็แล้วแต่
เพราะว่าบุคคลพวกนี้มีความสนใจธรรมชาติ เอาใจใส่หาทางจัดการกับภัยที่คุกคามมนุษย์นี้เป็นพวกแรก แล้วเขาก็ใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย
ก็เลยกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์กับศาสนานี้เริ่มต้นมาด้วยกัน
ธรรมชาติและภัยจากธรรมชาติที่มนุษย์หรือชีวิตจะต้องเผชิญนี้ เป็นเรื่องต่อหน้า เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตาย ซึ่งจะต้องมีคำตอบ และปฏิบัติได้ทันที รอไม่ได้ ภัยอยู่ข้างหน้าแล้ว มันมาถึงแล้ว สถานการณ์อยู่ตรงหน้านี้แล้ว จะทำอย่างไรก็ทำ ต้องมีคำตอบให้ทำได้ทันที พร้อมกันนั้นมันก็เป็นเรื่องของหมู่ชนหรือสังคมทั้งหมด ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกัน
ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็จะต้องมีผู้เสนอคำตอบขึ้น ชนิดที่จะให้ปฏิบัติได้ทันที ซึ่งพอแก่การถึงความยุติทีเดียว สำหรับหมู่ชนนั้นทั้งหมดพร้อมกัน เมื่อมีผู้เสนอคำตอบอย่างว่านั้นขึ้นแล้วและเป็นที่ยอมรับกัน คำตอบแบบนี้แหละก็ได้กลายมาเป็น “ศาสนา”
ทีนี้ อีกพวกหนึ่ง หรือพร้อมกันนั้นในคนเดียวกันนั่นเอง เมื่อผ่านสถานการณ์นั้นไปแล้ว หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่บีบคั้น ก็มีเวลาที่จะค่อยรวบรวมหาข้อมูล คิดค้นตรวจสอบความจริงไปเรื่อยๆ
พวกนี้ได้คำตอบมา เป็นความรู้จากการสังเกตและทดลอง ต่อมาเราเรียกว่าเป็น “วิทยาศาสตร์” เป็นความรู้จากการที่ค่อยๆ พิสูจน์ได้ทีละอย่างๆ ทีละเรื่องๆ มา
นี่คือ จุดที่แตกต่างกัน ที่จริงเดิมนั้นก็อันเดียวกัน เริ่มมาด้วยกัน แล้วกลายเป็นแยกเป็นสองอย่าง
การที่มนุษย์ยังมีศาสนาหลายศาสนาอยู่คู่เคียงกับวิทยาศาสตร์ได้นี้ เป็นเครื่องฟ้องหรือเป็นหลักฐานยืนยันอยู่ในตัวว่า วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถแสดงความจริงพื้นฐานหรือความจริงรวบยอดที่ครอบคลุมของธรรมชาติทั้งหมดได้ ยังไม่สามารถสนองความต้องการสูงสุดของมนุษย์ได้
คือ วิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ ศาสนาเหล่านั้นจึงมีโอกาสที่จะเสนอคำตอบชนิดที่อาจจะเป็นความจริงแบบพลางก่อนให้แก่มนุษย์ และมนุษย์จึงยังต้องพึ่งพาอาศัยศาสนาเหล่านั้น โดยที่ว่าวิทยาศาสตร์ไม่อาจสนองความต้องการเช่นนั้นแก่เขาได้
... ถ้าเมื่อใดวิทยาศาสตร์เข้าถึงความจริงแท้ สามารถให้คำตอบรวบยอดที่ครอบคลุมสัจจภาวะของธรรมชาติทั้งหมดแก่มนุษย์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ ศาสนาต่างๆ หลากหลายก็ย่อมหมดความหมายหายไปเอง
หรือหากจะมีศาสนาหนึ่งใดก็ตาม ที่แสดงความจริงแท้ นำมนุษย์ให้เข้าถึงสัจจธรรมได้จริง วิทยาศาสตร์กับศาสนานั้นก็ย่อมเป็นวิทยาหรือความรู้อันเดียวกัน และก็จะกลมกลืนเข้าด้วยกันกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อนั้นศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็จะถึงจุดบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการบรรจบประสานขั้นสุดท้าย ที่ว่าศาสนาก็คือวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็คือศาสนา ไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไป
จากเรื่อง พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
โฆษณา