14 ส.ค. 2020 เวลา 12:35 • การตลาด
เทคนิคจับกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน (lookalike audience - LLA) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มฯ ในการเลือกยิงแอดเฟซบุ๊ก ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้ความสามารถของเฟซบุ๊กในการเลือกหากลุ่มเป้าหมายให้ แต่เจ้าของสินค้าต้องมีความแม่นยำ เทคนิคการป้อนข้อมูลที่ดีจึงจะเกิดผล
สำหรับคุณผู้อ่านที่ใช้โฆษณาเฟซบุ๊ก (Facebook ads) ในการทำตลาด คงทราบดีว่า การเลือกกลุ่มเป้าหมาย (audience targeting) เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ได้ยอดขาย ยอดแฟน เติบโตขึ้นได้ ซึ่งในระบบโฆษณาของเฟซบุ๊ก ผู้ใช้จะสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ 3 รูปแบบด้วยกันคือ กลุ่มเป้าหมายหลัก (core audience) กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเองได้ (custom audience) และกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน (lookalike audience – LLA) โดยแต่ละกลุ่มฯ ก็จะมีจุดแข็ง และความเหมาะสมในการใช้ที่แตกต่างกันไป
กลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน?
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน ขออนุญาตอธิบายกลุ่มเป้าหมายพื้นฐานด้วย เพื่อจะได้เข้าใจถึงความเหมาะสมในการใช้ และความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น
กลุ่มเป้าหมายหลัก หมายถึง กลุ่มที่ผู้ใช้เลือกกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ของลูกค้าด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์ (เพศ อายุ ตำแหน่งที่ตั้ง ฯลฯ) ความสนใจ และพฤติกรรม แล้วให้เฟซบุ๊กไปมองหาผู้ใช้ที่มีคุณสมบัติตามนี้ เหมาะสำหรับการเริ่มต้นสร้าง และทดสอบกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อหาว่ากลุ่มไหนให้ผลตอบรับแคมเปญดีที่สุด
ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเองได้ จะเป็นกลุ่มฯ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์แล้ว เช่น เคยไปที่ร้านแล้วให้ข้อมูลไว้ (เบอร์โทร อีเมล์ ฯลฯ) ไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ อินบ๊อกซ์ หรือแม้แต่มีเอนเกจเมนต์กับโพสต์ในเพจของธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นกลุ่มที่มีการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ (สนใจ ผลิตภัณฑ์ บริการ ฯลฯ) กลุ่มเป้าหมายนี้ มักจะให้ผลตอบรับที่ดีกว่ากลุ่มเป้าหมายหลักเวลายิงโฆษณา
ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน จะเป็นการใช้ความสามารถของเฟซบุ๊กในการเลือกหากลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกับกลุ่มผู้สนใจ หรือลูกค้าของธุรกิจ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ (ข้อมูลประชากรศาสตร์ ความสนใจ พฤติกรรม ฯลฯ) เหมาะสำหรับการหาลูกค้าใหม่ โดยหว่านเมล็ดจากข้อมูลลูกค้าเก่า (ใช้ข้อมูลกลุ่มลูกค้าไปเทียบเคียงผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นๆ ที่ข้อมูลใกล้เคียงกัน) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้คุณผู้อ่านได้ลองใช้กัน หลังจากที่คุ้นเคยกับการใช้กลุ่มเป้าหมายหลัก และกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเองได้แล้ว
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้สร้าง LLA
คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะหาเมล็ดพันธุ์ หรือข้อมูลลูกค้าอะไรได้บ้างในการที่จะส่งให้เฟซบุ๊กนำไปใช้ในการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน ซึ่งการเลือกเมล็ดพันธุ์ในการสร้าง LLA สำคัญมาก เพราะถ้าไม่ใช่กลุ่มที่ตอบโจทย์ หรือเป้าหมายที่ต้องการ กลุ่มเป้าหมายที่ได้มา (จากเฟซบุ๊กเทียบเคียงมาให้) ก็เท่ากับเสียเปล่า ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ในการเพาะลูกค้าใหม่ที่คล้ายกันที่น่าสนใจก็เช่น
- รายชื่อ เบอร์โทร หรืออีเมล์ลูกค้า รวมถึงสมาชิกจดหมายข่าว (newsletter)
- กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเองได้ (custom audience) ที่มาจากการเยี่ยมชมเว็บไซต์ โดยเฉพาะผู้ที่เคยคลิกเข้าไปดูหน้าเว็บผลิตภัณฑ์ เพิ่มสินค้าลงในตะกร้า หรือซื้อสินค้าออนไลน์ของเรา
- กลุ่มเป้าหมายที่มีเอนเกจเมนต์กับโพสต์ภาพ วิดีโอ ฯลฯ
- กลุ่มเป้าหมายที่เคยโทรเข้ามาสอบถามสินค้า หรือบริการ
- ข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจ ชื่นชอบ พฤติกรรมชัดเจน และส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน เช่น ลูกค้าชั้นดี (vip list) กลุ่มคุณแม่ กลุ่มอาชีพเฉพาะทาง เป็นต้น
เทคนิคการใช้ LLA ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด
การใช้โฆษณา Facebook lookalike ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด นักการตลาดต้องไม่ใช้วิธีเหวี่ยงแห แต่ต้องเข้าใจว่า กลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกันได้มาจากการเทียบเคียง ดังนั้นความแม่นยำในการได้ลูกค้าใหม่จากวิธีนี้ จึงต้องมีเทคนิคในการเลือกเมล็ดพันธุ์ หรือข้อมูลกลุ่มเป้าหมายตั้งต้นที่ดี ซึ่งเทคนิคต่อไปนี้ จะช่วยให้การใช้ LLA ของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเมล็ดพันธุ์ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ ในที่นี้ก็คือ ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเองได้ต้องสอดรับกับเป้าหมายที่ธุรกิจต้องการ เช่น ถ้าต้องการเพิ่มยอดขาย คุณก็ควรสร้าง LLA จากข้อมูลผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์
ทดสอบขนาดของกลุ่มเป้าหมาย LLA เฟซบุ๊กจะเปิดโอกาสให้เลือกขนาดของกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกันได้ถึง 10 ระดับ โดย 1-5 จะเป็นกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงกันกับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเองได้มากที่สุด ในขณะที่ 6-10 ก็จะมีความคล้ายกันน้อยลงไป ส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็จะเลือกระดับ 1 หรือ 2 เพื่อให้มีโอกาสขายสูงสุด แต่ถ้าเป้าหมายคือ ต้องการสร้างฐานการรับรู้ให้มากที่สุด เพราะเป็นสินค้าทั่วไปการเลือกใช้สเกลที่สูงขึ้นก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่าก็ได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2PNHzio
ติดตามเรื่องราวแรงบันดาลใจอื่นๆได้ที่
YouTube : postconnex
โฆษณา