๒๕ เกณียานุโมทนาคาถา (พระสงฆ์เป็นประมุขแห่งบุญ)
พระสงฆ์เป็นประมุขแห่งบุญ
๑๑ เมษายน ๒๔๙๗
นโม ... อคฺคิหุตตํ มุขา ยญฺญา ...
พระคาถานี้กล่าวปรารภเปรียบเทียบในทางโลกและทางธรรม ให้พวกเราเข้าใจในทางบำเพ็ญทานการกุศล
อคฺคิหุตตํ ฯ
ยัญทั้งหลาย มีไฟเป็นหัวหน้า
สาวิตติฉันท์ เป็นคัมภีร์ของฉันทศาสตร์ทั้งหลาย
พระเจ้าแผ่นดิน เป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
สมุทรสาคร เป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย
ดวงจันทร์ เป็นประมุขของดวงดาวนักษัตทั้งหลาย
ดวงอาทิตย์ เป็นประมุขของสิ่งที่มีความร้อนทั้งหลาย
ขยายความ :
หมวดของความเป็นประธานในทางโลกและทางธรรม ที่มนุษย์มักไม่เข้าใจมี ๖ ประการ คือ
๑. ไฟเป็นประธานในการบูชา เมื่อติดไฟขึ้น จึงถือว่าเริ่มการบูชายัญ แปลว่า การบูชาหรือเซ่นสรวง มีมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น
ธมฺโม ปทีโป วิย แปลว่า “ธรรมนั้นเหมือนไฟ”
มีไฟปรากฏขึ้นฉันใด ธรรมก็ปรากฏ ฉันนั้น
“เราเป็นพุทธศาสนิกชน ไฟที่ติดอยู่นี่เหมือนธรรมจริง ๆ หนา ดับไปเสียไม่มีไม่เห็น มีไฟจุดขึ้นปรากฏฉันใด ธรรมก็ปรากฏฉันนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นขึ้น เห็นทีเดียว ธรรมใสสว่างกระจ่างชัชวาลทีเดียว”
ธรรมเป็นดวง ดวงเล็กใหญ่ตามส่วนของกายต่าง ๆ ถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตละเอียด ๒๐ วา กลมรอบตัว กว้างออกไปเหลือประมาณ เหมือนไฟในโลกที่มากน้อยตามเชื้อที่คนจุดหรือธรรมชาติในป่า
“ดวงธรรมที่เป็นฝ่ายพระน่ะใสสะอาด สว่าง เป็นธรรมไปหมด ดวงบาป ดวงธรรมโตเท่าไร ดวงบาปก็โตเท่านั้น ดวงธรรมเล็กเท่าไร ดวงบาปก็เล็กเท่านั้น”
“เมื่อเราจุดไฟเวลาใด ก็นึกถึงธรรมเวลานั้น ว่าอ้อดวงไฟที่ปรากฏขึ้นนี้ ที่เรานับถือธรรม แสวงหาธรรม เรายังไม่เป็นธรรม ที่เรายังไม่เป็นยังไม่เห็นปรากฏ ก็ให้กำหนดรู้เหมือนไฟอย่างนี้แหละ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปได้ ถ้าเกิดขึ้นสว่างดี ดับวูบไปเดียวนั้นก็ได้ เกิดขึ้นสว่างดี ค่อย ๆ ดับไปก็ได้ เกิดขึ้นแล้วไม่ดับติดจนกระทั่งสำเร็จก็ได้"
 
ไฟมีทั้งคุณและโทษถึงมอดไหม้ ธรรมก็เช่นกัน ใช้ดีถึงนิพพาน ถ้าประพฤติผิดธรรมทำไม่ดี ก็ไปถึงโลกันต์ได้
สรุป : ทางความเชื่ออื่น การบูชามีไฟเป็นประธาน
ทางพุทธศาสนา มีธรรมเป็นประธาน
๒. สาวิตติศาสตร์ เป็นคัมภีร์ใหญ่สุดของพราหมณ์ คัมภีร์อื่น เช่น ฉันทศาสตร์ ถือเป็นรอง ส่วนในทางพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปรมัตถปิฎก ถือเป็นคัมภีร์สูง เป็นประธานของพระวินัยพระสูตรทั้งหมด
๓. พระราชา เป็นประมุขของพสกนิกร ใคร ๆ ต้องนับถือทั้งนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินสั่งลงโทษได้
๔. สมุทรสาคร หรือมหาสมุทร เป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย แม่น้ำน้อยใหญ่ย่อมไหลไปรวมที่นั้น เหมือนกับที่สัตว์โลกเกิดมาแล้ว ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในสมุทัยสัจ คือ ทั้งหญิงชายรวมอยู่ในกามทั้งนั้น กามบังคับป่นปี้ ทั้งรบราฆ่าฟัน และเวียนว่ายตายเกิด
“ในสากลโลก หมดทั้งกามภพ รูปภพ อรูปภพ อยู่ในสมุทัยทั้งนั้น ข้ามพ้นสมุทัยไปไม่ได้ สมุทัยเป็นคู่กับพระนิพพาน ถ้าพ้นสมุทัยก็ไปนิพพาน เหมือนแม่น้ำทั้งหลาย ถ้าตกลงมาแล้วจะไปไหนไม่ได้ ต้องไปขังอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรนั่น”
พ้นสมุทัยก็ไปนิพพาน
๕. พระจันทร์ เป็นประมุขของดาวทั้งหลาย ในเวลากลางคืน
“ดวงจันทร์ทำแสงสว่างให้สำคัญ ลบดวงดาวหมดทั้งสิ้นฉันใดก็ดี ดวงที่ให้สัตว์เวียนว่ายตายเกิดเหล่านี้ ก็มีดวงธรรมอีก สำหรับแก้ไขให้สัตว์โลกพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดวงธรรมใหญ่เป็นลำดับจนกระทั่งดวงของพระอรหัตใหญ่ วัดผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วากลมรอบตัว สว่างหมดทั้งธาตุทั้งธรรม จะดูอะไรเห็นหมดฉันใด ดวงที่เป็นบาปอกุศลมีมากเท่าใด ก็ถูกดวงธรรมที่ใหญ่เช่นนั้นครอบงำหมด ดวงธรรมที่ย่อย ๆ ทำอะไรไม่ได้ เหมือนดวงดาวทำอะไรไม่ได้ ดวงจันทร์เป็นประมุขของดวงดาวทั้งหลาย ดวงธรรมที่ดีที่สุด ที่ใหญ่ที่เป็นประมุขของดวงบาปทั้งหลายเหล่านี้ ดวงธรรมย่อย ๆ ทำอะไรไม่ได้ สู้ดวงที่ใหญ่ไม่ได้ พาสัตว์ให้ข้ามพ้นจากสมุทัยได้”
๖. แสงอาทิตย์ เป็นหัวหน้าของแสงร้อนทั้งหมด จนสามารถเกิดไฟบรรลัยกัลป์ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศไหม้หมด อากาศหยาบหรืออากาศละเอียด ร้อนหมดด้วยอำนาจดวงอาทิตย์ฉันใด พระสงฆ์ก็ได้ชื่อว่าเป็นประมุขของบุญทั้งหมดฉันนั้น
“พบพระพุทธศาสนา พบพระสงฆ์เข้าแล้ว บุญลาภอันล้ำเลิศ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทีเดียว” เพราะพระสงฆ์เป็นประมุขของบุญทั้งหมด
“ให้อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจ ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระสงฆ์เข้าแล้ว ตัวบุญละ ต้องการอื่นไม่สมความมุ่งหมายที่มาพบละ หรือไม่ฉะนั้น เป็นบุรุษเราก็จะบวชเป็นพระสงฆ์บ้าง เราจะบำเพ็ญกิจของพระสงฆ์ให้เต็มที่ ถ้าเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ครองเรือนเล่า เราจะต้องบริจาคทานให้เป็นที่เป็นฐานทีเดียว มาพบบุญอันล้ำเลิศ อันประเสริฐแล้ว เป็นประมุขของบุญทั้งหมดแล้ว”
พระสงฆ์ เป็นประมุขของบุญยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า “พระศาสดาวางตำราไว้เป็นตัวอย่าง ว่าถวายแด่พระองค์ไม่อัศจรรย์ดอก ถวายพระสงฆ์นั้นแน่ ให้ถวายในหมู่พระสงฆ์” โดยไม่เจาะจง
ตัวอย่าง : พระนางปชาบดี ทอผ้า ๒ ผืนไปถวายพระพุทธเจ้า พระองค์รับไว้ผืนเดียว ผืนหนึ่งตกกับพระอชิตะภิกษุผู้บวชใหม่ นางปชาบดีทรงเสียพระทัย พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐานบาตรไปในอากาศให้อชิตะภิกษุแก้ สิ้นคำอธิษฐานของอชิตภิกษุว่า หากได้เป็นพระศาสดาเอกของโลกในอนาคต ขอให้บาตรนั้นมาสู่มือของข้าพเจ้า บาตรก็ตกสู่มืออชิตะภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศต่อหมู่ภิกษุว่า อชิตะภิกษุจะตรัสรู้ธรรม เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระนางปชาบดีจึงปีติยิ่งนัก
“นี่พระศาสดาวางตำราไว้เป็นตัวอย่าง ถวายแก่พระองค์น่ะไม่อัศจรรย์ดอก ให้ถวายในหมู่พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่มาสวดมนต์ในวัดปากน้ำ ที่เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคข้างหน้า จะกี่องค์เราก็ไม่รู้เหมือนกัน บางทีมีบารมีแก่ ๆ สร้างมาหลายอสงไขย เราไม่รู้ ไม่รู้ว่าใครสร้างบารมีมาเท่าไร”
“พระสงฆ์นั่นแหละเป็นประมุขของบุญสำคัญ เป็นหัวหน้าของบุญสำคัญ เป็นต้นของบุญสำคัญ ถ้าต้องการบุญก็ถวายในพระสงฆ์ไม่เจาะจงภิกษุองค์หนึ่งองค์ใด มั่นหมายไปในหมู่พระสงฆ์ทีเดียว จะมีข้าวถ้วยปลาตัวก็ช่าง ก็ถวายพระสงฆ์ให้ใจตรงเป็นกลาง ให้ทำดังนี้จะถูกบุญใหญ่ในพระพุทธศาสนา”
กาลทานสูตร พระสงฆ์ทุกวัดใช้แสดงเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จทอดพระกฐิน เป็นพระคาถาแสดงอานิสงส์ของการให้ตามสมัย
แปลเนื้อความจากพระบาลีว่า :
ทกฺขิณา แปลว่า ทานสมบัติที่ทายกถวายแล้วโดยกาลสมัยในพระสงฆ์ ย่อมมีผลไพบูลย์ เหมือนน้ำเปี่ยมมหาสมุทร เพราะทำในบุญเขตอันเยี่ยม
ทำทานน้อย แต่ได้ผลมาก
เมื่อถวายไม่เจาะจง เหมือนได้ถวายในหมดสากลโลก หรืออธิษฐาน ว่าท่านผู้ใดเป็น
พระอรหันต์ หรือจะประพฤติตัวให้เป็นอรหันต์ต่อไป เป็นอายุพระศาสนาทั้งหมด จงรับทานของข้าพุทธเจ้าเถิด จะเป็นพระหรือสามเณรก็ตามคิดว่าใช่องค์นี้ ทานนั้นก็จะตกเป็นสังฆทานแท้ ๆ ถ้าถวายเจาะจงผลก็น้อยไป
บางท่านมีทานเล็กน้อย เข้าไปถวายเฉพาะองค์ ทำให้ผลน้อยลงไป ถ้าทำให้ผลมากแม้มีน้อย แต่มุ่งขอถวายในหมู่สงฆ์ หรือตั้งใจว่าองค์หนึ่งองค์ใดเป็นพระอรหัต สืบอายุศาสนาต่อไป ทานก็จะตกเป็นสังฆทาน ได้ชื่อว่า ถวายทานในสงฆ์แท้ ๆ
ท่านจึงวางหลักว่า “ทายกผู้มีจิตมิได้ย่อหย่อนท้อถอย ให้ในที่เช่นใดมีผลมาก ควรให้ในที่เช่นนั้น"
คือฉลาดถวายเป็นกลางร่ำไป บุญก็ยิ่งใหญ่ไพศาล เรียกว่าให้อย่างฉลาด
บุญย่อมเป็นที่ตั้งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า และเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งโลกนี้โลกหน้า การบำเพ็ญบุญทั้งหลายมีพระสงฆ์เป็นหัวหน้า
การบูชาทั้งหลายมีไฟเป็นหัวหน้า คัมภีร์ทั้งหลายมีสาวิตติฉันท์เป็นหัวหน้า พระเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สมุทรสาครเป็นประมุขของแม่น้ำ ดวงจันทร์เป็นประมุขของดวงดาวนักขัตทั้งหลาย ดวงอาทิตย์เป็นประมุขของสิ่งที่มีความร้อนทั้งหลาย การบำเพ็ญบุญทั้งหลายมีสังฆทานเป็นหัวหน้า
พระศาสนาอยู่ได้ เพราะอาศัยความเป็นกลาง ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ประพฤติปฏิบัติเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร บริจาคทานแด่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ให้ใจเป็นกลาง ได้ชื่อว่าบริจาคทานถูก “ประมุขของบุญ”
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๘๖ - ๘๙
โฆษณา