17 ส.ค. 2020 เวลา 13:42 • ประวัติศาสตร์
ชะตากรรม #กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาว
กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาวมีพระนามว่า
สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา มีพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา หรือ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางคำผุยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1930 มีพระราชโอรสธิดารวม 5 พระองค์
พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1959
ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1975 ( พ.ศ. 2518 ) พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (คอมมิวนิสต์ลาว)
ได้เข้ายึดกรุงเวียงจันทน์ ส่งผลให้รัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาได้กลายเป็นรัฐบาลที่ไร้อำนาจและเสถียรภาพ
ฝ่ายยึดอำนาจได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศลาวเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ได้ปฏิเสธการหลบหนีอพยพออกจากประเทศด้วยเหตุผลว่า "พวกเราเป็นคนลาวเหมือนกันก็ต้องคุยกันได้" พระองค์ยังประทับอยู่ในพระราชวงศ์หลวงพระบางต่อไปจนกระทั่งล่วงมาอีก1ปี ค.ศ. 1976 พูมี วงวิจิด ได้สั่งการให้พระราชวังหลวงพระบางและทรัพย์สินในพระราชวังเป็นสมบัติของประเทศ และสั่งให้พระองค์กับพระญาติวงศ์ออกจากวังไปในทันที
และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1977 ด้วยความที่รัฐบาลลาวหวั่นเกรงพระองค์ที่ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์อันเนื่องมาจากการที่มีทหารม้งและมีชาวลาวนอกประเทศต่อต้านรัฐบาล สปป.ลาว บวกกับการหวั่นเกรงที่พระราชวงศ์จะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศได้ ทหาร สปป.ลาว ได้นำพระองค์, พระมเหสี, เจ้าฟ้าชายมกุฏราชกุมาร, เจ้าฟ้าศรีสว่าง, และพระอนุชาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าสุพันธรังสี และ เจ้าฟ้าทองสุก ไปอยู่ที่เมือง เวียงไซพระองค์ได้ทรงประทับในค่ายกักกันในเวียงไซที่ชื่อว่า "ค่ายเลข 1" "'
#คำพัน ธัมมะขันธี ผู้เล่าเหตุการณ์ในค่ายเลข1
เป็นอดีตทหารแห่งกองทัพราชอาณาจักรลาว เขาถูกจับกุมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1975 ถูกจองจำอยู่นาน 15 ปี และในแคมป์หมายเลข 1 ที่เขาถูกจองจำนั้น คำพันมีเพื่อนนักโทษสูงศักดิ์หลายคน หนึ่งในนั้นคือเจ้าชายศรีสว่าง โอรสองค์ที่สองของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา
คำพันเล่าว่าเขาเห็นเหตุการณ์ที่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระนางคำผุย และเจ้าชายวงศ์สว่าง มกุฏราชกุมาร ถูกพามาควบคุมตัวที่กระท่อมไม้ไผ่ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแคมป์หมายเลข 1 โดยมีลำน้ำเล็กๆ แห้งขอดคั่นกลาง เจ้ามหาชีวิตสวมกางเกงกับเสื้อคลุมบางๆ และมกุฏราชกุมารวงศ์สว่างมีหนวดเครายาวเหมือนฤาษี
ครอบครัวกษัตริย์ถูกนำตัวมาที่แคมป์หมายเลข 1 ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1977
‘พวกเราแทบไม่เชื่อตาตัวเอง’ คำพันเล่าให้ Crishtopher Krammer ผู้เขียนหนังสือ Bamboo Palace เล่มนี้ฟัง เขาเล่าว่าเจ้าชายศรีสว่าง ที่ยืนอยู่ข้างๆ เขาอ้าปากค้างตอนที่เห็นพระบิดา พระมารดา และพระเชษฐา ถูกนำตัวมา เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนามีพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในเดือนนั้น และเป็นนักโทษที่อายุมากสุดที่นั้น
คำพันเล่าว่าครอบครัวเจ้ามหาชีวิตไม่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในที่กักกันเหมือนนักโทษคนอื่นๆ ทั้งสามได้รับอนุญาตให้เคลื่อนไหวโดยเสรีบริเวณรอบๆ กระท่อมในช่วงกลางวัน เจ้ามหาชีวิตกับมกุฏราชกุมารช่วยกันปลูกมะละกอ และทำสวนผัก ทุกๆ วันเขาเห็นมกุฏราชกุมารวงศ์สว่างเดินไปรับปันส่วนอาหารของครอบครัวที่ยุ้งฉางของแคมป์หมายเลข 1 ซึ่งได้รับในอัตราส่วนเท่าๆ กับนักโทษคนอื่น
ฤดูร้อนปี 1978 เจ้ามหาชีวิตและมกุฏราชกุมารถูกสั่งให้ไปทำงานในนาทุกวัน เป็นเวลาสองเดือน บางครั้งผู้คุมก็ตะโกนด่าอดีตเจ้ามหาชีวิตกับมกุฏราชกุมารว่า ‘คนทรยศ! ขี้ข้าอเมริกา...’
เดือนพฤศจิกายน 1979 คำพันได้ยินเสียงผู้คุมกับอดีตมกุฏราชกุมารวงศ์สว่างเถียงกัน
หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เจ้าชายวงศ์สว่างวัย 48 ปีก็เสียชีวิตสิ้นพระชนม์
คำปันเล่าว่าเช้าวันหนึ่งของเดือนมกราคม 1980 นักโทษในแคมป์หมายเลข 1 ได้ยินเสียงอดีตพระราชินีคำผุยตะโกนบอกผู้คุมว่า ‘เจ้าน้อยตายแล้ว’ ผู้คุมเข้าไปตรวจแล้วสั่งให้นักโทษ 5 คนรวมทั้งคำพันนำศพไปฝัง โดยผู้คุมไม่อนุญาตให้เจ้ามหาชีวิตและพระราชินีตามไปด้วย
เดือนมีนาคม 1980 เจ้ามหาชีวิตก็สวรรคต นักโทษชุดเดิมถูกสั่งให้นำร่างกษัตริย์องค์สุดท้ายไปฝัง ร่างของพระองค์ถูกฝังอยู่ห่างจากร่างของพระโอรส 5 เมตรใต้ร่มเงาของต้นไม้ต้นเดียวกัน
ครั้งนี้คำพันหลบเลี่ยงไม่ไปด้วย เขาให้เหตุผลกับผู้เขียน Bamboo Palace ว่า ‘ผมคิดอยู่ในใจว่าเรื่องนี้อาจเป็นความลับในประวัติศาสตร์ ผมไม่อยากรู้ว่าเจ้ามหาชีวิตถูกฝังไว้ที่ไหน ถ้าผมรับรู้ด้วย ประเทศลาวอาจกำจัดผม ผมถึงปฏิเสธที่จะไปด้วย’
ทั้งหมดนี้คือปากคำของ คำพัน ธัมมะขันธี อดีตนักโทษการเมืองใน แคมป์หมายเลข 1 หรือ “ค่ายมรณะ” ของรัฐบาลประเทศลาว
หลังจากเขาได้รับอิสรภาพในปี 1990 เขาลี้ภัยไปสมทบกับครอบครัวที่อเมริกา ทำงานเป็นช่างกลึง คำพันเสียชีวิตวันที่ 21 สิงหาคม 2004
#เครดิตที่มา หนังสือ Bamboo Palace
#Bamboo Palace พิมพ์ครั้งแรกในออสเตรเลีย ปี 2003 โดย HarperCollins Publishers Pty Limitedและพิมพ์ในประเทศไทย ปี 2004 โดย Silkworm Books
#หมายเหตุ
ปี ค.ศ.1978 (พ.ศ. 2521) มีรายงานว่า พระองค์, พระมเหสี และพระราชโอรส สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย แต่ต่อมา กลับมีการยืนยันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ค.ศ.1980 (พ.ศ. 2523) อันนำมาซึ่งความโศกเศร้าของพระราชวงศ์ล้านช้างที่อยู่ต่างประเทศในเวลานั้น โดย เจ้าฟ้าสูรยะวงศ์สว่างได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการในราชวงศ์จนกระทั่งเจ้าสุริวงศ์ สว่างทรงเติบใหญ่จึงได้ให้ตำแหน่งนี้ให้พระองค์ อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากคำพูดของไกสอน พมวิหานแล้ว พระองค์ได้เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1984 (พ.ศ. 2527) ขณะที่มีพระชนมายุ 77 พรรษา และศพของทั้ง 3 พระองค์ยังฝังไว้อยู่ที่แขวงหัวพันจนถึงทุกวันนี้
การสวรรคตของทั้ง 3 พระองค์ถือเป็นประเด็นที่ลึกลับพอสมควร เนื่องจากว่าไม่มีการบ่งบอกเรื่องราวสวรรคตทั้งสาเหตุการสวรรคตและเวลาสวรรคต โดยถือกันว่าพระองค์ทั้ง 3 อาจจะสิ้นพระชนม์จากการถูกทรมานทางกายและใจมากกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว ไม่เคยกล่าวออกมาเป็นทางการและมีท่าทีที่ปกปิดเรื่องราวนี้อยู่พอสมควรและถือว่าเป็นความลับ
#วิกิพีเดีย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา