21 ส.ค. 2020 เวลา 03:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รายการ Vaccine #เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด
ตอนที่ 19 สถิติ ศาสตร์แห่งข้อมูลที่เผยความจริงและกลบฝังความจริงได้
สถิติ (Statistics) เป็นคณิตศาสตร์สาขาหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาและจัดการกับข้อมูลที่หลายๆคนต้องเรียน เพราะมันช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เป็นอย่างดี แต่รายการในตอนนี้จะเล่าให้ฟังว่า บางครั้งสถิติอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดได้
มาร์ค ทเวน นักเขียนชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า " การโกหกนั้นมีสามแบบ 1.โกหกเฉยๆ 2. โกหกคำโต 3. สถิติ"
- ประโยชน์อย่างหนึ่งของสถิติ คือ มันช่วยในการตอบคำถามจากข้อมูลที่เก็บมาแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสองเหตุการณ์มีความสัมพันธ์กัน (correlation) หรือไม่ ? แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ ตัวแปรที่สัมพันธ์กันอาจไม่ได้เป็นเหตุผลของกันและกัน
ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เชิงสถิติพบว่า เมื่อยอดขายชุดว่ายน้ำเพิ่มขึ้น ยอดขายไอศกรีมจะเพิ่มขึ้นด้วยแนวโน้มเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าการซื้อชุดว่ายน้ำ ส่งผลให้คนอยากกินไอศกรีม แต่อาจเป็นเพราะความบังเอิญหรือตัวแปรอื่น เช่น ในช่วงที่เก็บข้อมูลเป็นฤดูร้อนทำให้ยอดขายของสินค้าทั้งสองอย่างเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน
- ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Mean) เป็นการนำตัวเลขที่สนใจของกลุ่มประชากรทั้งหมดมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนประชากรนั้น มันจึงเป็นตัวแทนของข้อมูลประชากรที่เรียบง่ายและใช้งานกันบ่อยๆ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ เช่น ข้อมูลส่วนน้อยที่โดดออกจากกลุ่มมากๆ
- การเปรียบเทียบผิดที่ผิดทาง หรือจับแพะชนแกะ เป็นทางหนึ่งที่นำไปสู่ข้อสรุปผิดๆได้ ในหนังสือเรื่อง a field guide to Lie ยกตัวอย่างไว้น่าสนใจว่า อัตราการเสียชีวิตของทหารสหรัฐฯที่ไปรบช่วงปี ค.ศ. 2010 คือ 2.4 คนต่อ 1000 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคนที่ไม่ได้ไปรบในสหรัฐช่วงปีนั้นคือ 8.2 คนต่อ 1000 คน บางคนเห็นตัวเลขนี้แล้วาอาจสรุปผิดๆว่าการไปรบนั้นปลอดภัยเสียยิ่งกว่าการนั่งอยู่บ้าน
- งานวิจัยเพื่อทำการตลาดอาจมีการเก็บข้อมูลด้วยกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยเกินไป ส่งผลให้เราไม่สามารถอนุมานถึงภาพใหญ่ที่ต้องการได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย แต่กลับบอกผลลัพธ์ในรูปของเปอร์เซ็นต์ อาจได้ผลลัพธ์ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ถ้าเราโยนเหรียญ สองครั้ง แล้วได้หัวทั้งสองครั้ง จากนั้นรายงานผลว่าผลการทดลองพบว่าเหรียญออกหัว 100% แล้วสรุปว่าเหรียญนั้นมีการถ่วงน้ำหนัก อาจเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้องได้ เพราะจำนวนครั้งที่โยนน้อยเกินไป
..................
ดังนั้นเมื่อเราได้ยินการอ้างข้อมูลเชิงสถิติ ก็ต้องระมัดระวังไว้บ้าง
รวมทั้งเมื่อเราจำเป็นต้องทำการเก็บรวบรวมค่าเชิงสถิติด้วยตนเองจะได้ก็จะได้ป้องกันความผิดพลาดได้ด้วยครับ
.................................................................
[ช่องทางรับฟัง]
anchor
spotify
youtube
หรือค้นคำว่า Vaccine ในแอปพลิเคชัน podcast
.......................................................
สนับสนุนรายการโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โฆษณา