21 ส.ค. 2020 เวลา 06:20 • ครอบครัว & เด็ก
การพูดถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เราสื่อสาร ทำความเข้าใจ รับรู้ สิ่งต่างๆ ผ่านการสนทนา
แต่คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่าทำไมบางคนถึงพูดแล้วน่าฟังพูดแล้วรู้สึกอบอุ่นอยากคุยด้วย แต่กลับบางคนพูดแล้วรู้สึกอึดอัด น่าโมโห ไม่อยากคุยด้วยเลย
และเพื่อไขข้อข้องใจดังกล่าว วันนี้เราจึงพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับภาษาหมาป่าและภาษายีราฟ ภาษาที่จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจในการพูดและช่วยให้พูดได้อย่างน่าฟังอีกด้วย!!
การสนทนาของมนุษย์แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจในภาษาดังกล่าว ต้องอธิบายก่อนว่าวิธีการพูดแบบภาษาหมาป่าและภาษายีราฟถูกคิดค้นขึ้นโดยดอกเตอร์มาร์แชล โรเซนเบิร์ก ชาวอเมริกัน ผู้ที่สนับสนุนการสื่อสารอย่างสันติและจัดตั้งองค์กรการสื่อสารอย่างสันติ จนได้มีการเผยแพร่ภาษาดังกล่าวไปทั่วโลก
ซึ่งในประเทศไทยเองยังค่อนข้างรู้จักน้อยมีเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นวันนี้เราจะมาอธิบายให้ท่านเข้าใจอย่างง่าย ๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย!!
เริ่มจากภาษาหมาป่า นี่เป็นภาษาที่เปรียบเทียบกับผู้พูดเชิงตำหนิ ก้าวร้าว ใช้อารมณ์ในการพูดมากกว่าเหตุผลในการทำความเข้าใจ เปรียบเสมือนหมาป่าที่ดุดันก้าวร้าว ซึ่งวิธีการพูดเหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่อยากคุยด้วยเพราะเหมือนโดนต่อว่า ตำหนิ อยู่นั่นเอง เราลองมาดูตัวอย่างประโยคของภาษาหมาป่ากัน เช่น
- นี่มันกี่โมงแล้ว ทำไมมาทำงานสาย?
- ไปไหนมา ทำไมกลับบ้านดึกดื่นแบบนี้?
- ทำงานส่งไม่ทันอีกแล้ว ถ้าเรื่องแค่นี้ยังทำไม่ได้แล้วจะทำไปทำอะไรกิน?
- เจอผู้ใหญ่ทำไมไม่ไหว้ หัดมีมารยาทบ้างซิ
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าประโยคเหล่านี้ไม่ได้มีการใช้คำหยาบหรือคำด่าอยู่เลย แต่พอเราฟังแล้วกลับรู้สึกเหมือนโดนตำหนิ ต่อว่าและอาจชวนหาเรื่องไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหม?
เพราะนี่แหละคือการพูดแบบภาษาหมาป่า โดยผู้พูดจะใช้ความรู้สึกเฉพาะมุมของตนเองและไม่ได้สนใจในมุมผู้ฟังว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร บางครั้งผู้พูดอาจพูดด้วยความเป็นห่วงแต่รูปประโยคที่ใช้นั้นกลับทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนเองถูกตำหนิ เช่น แม่เป็นห่วงลูกอยากให้ลูกกินข้าวไวขึ้น แต่กลับพูดว่า "กินข้าวให้มันเร็ว ๆ หน่อย!! ช้าแบบนี้จะไปทันใครเขา!!" หรือครูเป็นห่วงนักเรียนที่มาสายแต่พูดว่า "มาโรงเรียนให้เร็วหน่อย พวกเธอเป็นนักเรียนทำไมทำตัวเถลไถล " เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงพอจะทราบแล้วว่าประโยคแบบภาษาหมาป่าเป็นอย่างไร ดังนั้นเรามาลองดูภาษายีราฟกันบ้างซึ่งเป็นภาษาที่จะช่วยให้เราพูดได้อย่างน่าฟังกว่าภาษาหมาป่าข้างต้นแน่นอน
ภาษายีราฟ หรือภาษาสำหรับการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เป็นรูปแบบการพูดที่ตรงข้ามกับภาษาหมาป่าโดยสิ้นเชิง โดยผู้พูดจะต้องยึดหลักการยอมรับความต่างแตกหลากหลายเพราะทุกคนล้วนมีความแตกต่างกันทั้งความคิด ความเชื่อ ประสบการณ์ ฯลฯ
ดังนั้นเราจึงไม่ควรพูดโดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวของเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรมองในมุมของผู้ฟังบ้างเหมือนกับยีราฟสัตว์ที่ไม่ก้าวร้าวแต่รับฟังสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา
เริ่มจากการหลีกเลี่ยงใช้คำว่า "ทำไม" ในประโยคที่เราจะพูด เพราะการใช้คำนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนโดนตำหนิหรือถูกตั้งคำถาม เช่น ทำไมมาช้า ทำไมไม่ส่งงาน ทำไมไม่ทำงานให้เสร็จ เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงใช้คำว่า ทำไม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้คำนี้ตลอดเวลาเพราะจะต้องขึ้นอยู่กับ "น้ำเสียง" ของผู้พูดด้วย
ผู้พูดในภาษายีราฟจะต้องไม่ใช้น้ำเสียงในเชิงดุด่า ต่อว่า ตำหนิ แต่ควรพูดแบบสบายๆ ปกติได้เลย และที่สำคัญภาษายีราฟจะต้องสังเกตและเข้าใจผู้ฟังว่าเขาคิดอย่างไร เขาต้องการอะไร เพื่อจะทำให้เราสื่อสารได้อย่างไม่เกิดความขัดแย้ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
แม่ต้องการให้ลูกมีสัมมาคารวะ
- ภาษาหมาป่า เจอผู้ใหญ่ทำไมไม่ยกมือไหว้ หัดมีมารยาทบ้างซิ
- ภาษายีราฟ เมื่อลูกเห็นผู้ใหญ่ควรยกมือไหว้สวัสดี เพราะจะทำให้ผู้ใหญ่เอ็นดูเราและช่วยให้เราดูน่ารักขึ้นนะ
พ่อไม่อยากให้ลูกกลับบ้านสาย
- ภาษาหมาป่า กลับบ้านดึกดื่นแบบนี้ไม่อายชาวบ้านเขาหรือไง
- ภาษายีราฟ ลูกกลับบ้านดึกพ่อเป็นห่วงนะ ถ้าลูกมีอะไรโทรบอกพ่อได้นะพ่อจะได้สบายใจ
หัวหน้างานอยากให้ลูกน้องทำงานสำเร็จ
- ภาษาหมาป่า คุณช่วยตั้งใจทำงานให้มันดีกว่านี้หน่อยได้ไหม ทำไมไม่ดูคนอื่นเขาบ้าง
- ภาษายีราฟ คุณทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีตรงไหนไม่เข้าใจสามารถสอบถามผมหรือเพื่อนร่วมงานได้ตลอดเวลาเลยนะ
จากสถานการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าภาษายีราฟใช้ความเข้าใจผู้อื่นและเหตุผลในการสื่อสารมากกว่า ซึ่งจะไม่ใช้คำห้วนๆ หรือน้ำเสียงแบบกระแทก แต่พูดคุยแบบสบายๆ และทำความเข้าใจผู้ฟัง ไม่ใช้การตำหนิติเตียน แต่ใช้การแสดงความเป็นห่วงหรือความต้องการของผู้พูดในทางบวก ทำให้การสนทนาดูอบอุ่นไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างคู่สนทนานั่นเอง
การสนทนาที่สนุกสนานและจากภาษาหมาป่า/ภาษายีราฟ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วเรามักเจอทั้งสองรูปแบบในชีวิตจริง เพราะบางครั้งเราก็พูดด้วยภาษาหมาป่า แต่บางครั้งเราก็พูดด้วยภาษายีราฟ
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราอาจนำวิธีดังกล่าวมาปรับใช้กับการพูดในชีวิตประจำวัน เพราะจะทำให้เราพูดได้อย่างน่าฟังและช่วยสร้างสังคมที่อบอุ่น สังคมที่พูดคุยกันอย่างเข้าใจ ลดความขัดแย้ง ท่ามกลางปัญหาสังคมในทุกวันนี้
ปล.ช่วงนี้หมดมุกแล้ว ใครอยากให้เขียนเรื่องอะไร comment มาได้เลยเด้อออ
โฆษณา