22 ส.ค. 2020 เวลา 14:29 • การเมือง
Hunger Games:สามนิ้ว ความหมาย ความหวัง และเข็มนาฬิกา
( หมายเหตุ 1 : มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง )
( หมายเหตุ 2 : สิ่งที่เขียนอาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของผู้อ่านบางท่าน ท่านสามารถแสดงความเห็นของท่านได้อย่างอิสระ ผู้เขียนพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง แต่ขอความกรุณาในการแสดงความคิดเห็น งดเว้นข้อความที่เป็น Hate Speech เพื่อรักษาบรรยากาศของสุภาพชนในสังคมออนไลน์ )
ตามข้อบัญญัติการลงโทษฐานกบฏที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ในทุกปีแต่ละเขตจะต้องส่งตัวแทนชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี เข้าร่วมการแข่งขันในเกมประลองที่มีชื่อว่า " Hunger Games " (เกมล่าชีวิต)
กติกาของเกมนี้คือ ผู้ร่วมแข่งขันจะต้องต่อสู้เพื่อทำให้ตนเองกลายเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายในเกมจึงจะเป็นผู้ชนะ
" มันเป็นธรรมเนียมที่มาจากส่วนที่เจ็บปวดที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา "
เป็นคำกล่าวอ้างของผู้จัดการแข่งขัน ซึ่งผู้ชมจะได้ยินประโยคนี้ตอนเริ่มเรื่อง
ประวัติศาสตร์ทำให้เกิดเกมพิลึกพิลั่นนี้ โดยมีเหยื่อเป็นเยาวชนซึ่งถูกคัดเลือกให้ร่วมการแข่งขัน ในฐานะของ " เครื่องบรรณาการ "
แคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาววัย 16 ปี คือตัวแทนฝ่ายหญิงเขต 12 เธออาสาแข่งเกมนี้แทน พริมโรส เอฟเวอร์ดีน น้องสาวของเธอ
ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละเขตล้วนอดอยาก แร้นแค้น ซึ่งแตกต่างจากผู้มีอำนาจเป็นอย่างมาก พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย
ประธานาธิบดีสโนว์ คือ ตัวแทนของผู้นำในระบบอำนาจนิยม เขาสร้าง Hunger Games ขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการปกครอง
" ความหวัง เป็นสิ่งที่ทรงพลังมากกว่าความกลัว ความหวังเพียงเล็กน้อยคือสิ่งที่ดี แต่ความหวังที่มากเกินไปจะเป็นอันตราย " ประโยคนี้คือคำอธิบายที่สโนว์บอกกับลูกน้องของเขา และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิด Hunger Games เพราะมันเป็นเกมที่สร้างความหวังและความกลัวไปพร้อมๆกัน
ความหวังทำให้ผู้ถูกปกครองคิดถึงชีวิตที่สวยงาม ผู้ชนะในเกมจะได้รับชีวิตที่สุขสบาย ขณะเดียวกันเกมนี้ก็สร้างให้เกิดความกลัวเพราะผู้แพ้จะต้องสังเวยชีวิตของตนเอง
ในภาพรวม Hunger Games คือเครื่องมือทำลายความเป็นเอกภาพของประชาชน มีการแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 13 เขต ( 2 ภาคแรกมี 12 เขต ) ซึ่งการแบ่งแยกนี้ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างพื้นที่เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
การแข่งขันดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเมื่อแคตนิสได้เข้ามาแข่งขัน
เธอร่วมมือกับ รูว์ สาวน้อยตัวแทนจากเขต 11 ทั้งสองต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนวันหนึ่ง รูว์ ก็จากไปเพราะถูกผู้แข่งขันคนหนึ่งลอบทำร้าย
นี่เป็นครั้งแรกที่แคตนิสชูสามนิ้ว มันไม่ใช่เครื่องหมายของการต่อสู้กับอำนาจนิยม การชูสามนิ้วที่เกิดขึ้นในหนัง เป็นตัวแทนของการขอบคุณ ชื่นชมและกล่าวลา
แคตนิส ชูสัญลักษณ์นี้เพื่อไว้อาลัยให้กับรูว์ ซึ่งภาพของเธอได้ถูกถ่ายทอดไปยังเขตต่างๆ และเมื่อคุณตาคนหนึ่งในเขต 11 ได้เห็นสัญลักษณ์สามนิ้วของแคตนิส เขาก็ไม่อาจอดกลั้นต่อการกดขี่ของฝ่ายรัฐได้อีกต่อไป ทำให้เกิดการจราจลขึ้นในเขต 11 นับเป็นการต่อต้านที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบหลายปี
แคตนิส ได้จุดประกายความหวังของผู้คน
ในระหว่างนั้น ผู้สร้างเกมได้เพิ่มกติกาขึ้นมาว่า " หากผู้แข่งขันสองคนสุดท้ายคือชายและหญิงที่มาจากเขตเดียวกัน จะถือว่าทั้งสองคนคือผู้ชนะ " แคตนิส จึงร่วมมือกับพีต้าซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายชายเขต 12 ทั้งสองร่วมมือกันต่อสู้จนได้เป็นคู่สุดท้าย แล้วกฎของการแข่งขันก็เปลี่ยนอีกครั้ง " ผู้ชนะมีได้เพียงคนเดียว "
แคตนิส ตัดสินใจต่อต้านกฎนี้ เธอกับพีต้าเลือกที่จะตายไปพร้อมกันเพื่อทำให้เกมไม่มีผู้ชนะ
การกระทำนี้ถือเป็นการต่อต้านผู้จัดการแข่งขันและทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจเสียหน้า แคตนิสและพีต้าได้สร้างกระแสความนิยมกับคนดูไว้มาก หากทั้งคู่ตายไป จะเป็นการทำลายความหวังและทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การต่อต้าน สุดท้ายผู้จัดการแข่งขันจึงยอมให้ทั้งสองคนเป็นผู้ชนะร่วมกัน
หลังจากนั้นทั้งสองคนก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล เดินสายเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียและขอบคุณที่ทุกเขตให้ความร่วมมือ
การได้พบกับผู้คนในเขตต่างๆทำให้แคตนิสได้เจอกับผู้ต่อต้าน เขาชูสามนิ้วขึ้นมาก่อนที่จะถูกผู้พิทักษ์ทำร้ายและยิงจนตาย
แคตนิสไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ?
เธอเริ่มต่อต้านระบบอำนาจนิยม และผู้พิทักษ์ก็ทำให้เกิดความกลัวขึ้นอีกครั้ง พวกเขาเข้าทำร้ายผู้คนในเขต 12 พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิว
ประธานาธิบดีสโนว์เรียกแคตนิสเข้าพบ เขาบอกว่าเธอทำให้ผู้คนกระด้างกระเดื่อง
ผลเบอร์รี่พิษที่เธอนำมาใช้เพื่อจะฆ่าตัวตายพร้อมกับพีต้าในการแข่งช่วงสุดท้ายกำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้าน
" คงเป็นระบบที่เปราะบางน่าดู ถ้ามันจะพังเพราะเบอร์รี่เพียงไม่กี่ลูก " แคตนิสบอกกับสโนว์
แคตนิสปลุกผู้คนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสโนว์ ก่อนจะพบความจริงว่า เธอเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเกมอำนาจของคนสองฝ่าย ซึ่งท้ายที่สุดผู้นำของทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับผลกรรมของพวกเขา
Hunger Games เปรียบได้กับแบบจำลองทางประวัติศาสตร์
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ประชาชนถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเป้าหมายที่ดี ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการสังคมที่เจริญ สงบ และมีสันติภาพ แต่เส้นทางของการได้มาซึ่งสิ่งนี้ต่างกัน เป็นบทหนังที่ไม่ซับซ้อนแต่เกิดขึ้นซ้ำๆ และครั้งนี้ก็เพิ่มเติมด้วยความแตกต่างของช่วงวัย
คนเห็นต่างถูกผลักไสให้เป็นผู้ร้าย คำด่าทอถูกใช้เป็นเครื่องมือระบายความโกรธ
ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ เกิดความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน
ผู้ใหญ่มองเด็กว่าถูกล้างสมอง เด็กมองผู้ใหญ่ว่าก้มหัวให้กับผู้มีอำนาจ
ทั้งที่แท้จริงแล้วทั้งสองฝ่ายต่างก็มีจุดหมายเดียวกันคือ ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น แต่ประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ต่างกัน
เป็นไปได้หรือที่ความต่างจะมีจุดร่วมมาจากสิ่งที่เหมือนกัน ไม่ต้องยกตัวอย่างไกล ขนาดความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วที่ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมครั้งนี้ยังมีความหมายที่หลากหลาย
สามนิ้วในหนังเรื่อง Hunger Games แสดงถึง การขอบคุณ ชื่นชมและกล่าวลา
สามนิ้วในวิชาลูกเสือ (มือขวา) คือการเน้นย้ำคำปฏิญาณ 3 ข้อ คือ
1. จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2. จะช่วยเหลือและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
3. จะปฏิบัติตามกฎลูกเสือในทุกๆ ข้อ
ส่วนสามนิ้วที่นักเรียน นักศึกษาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในตอนนี้ (มือซ้าย) หมายถึง สันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ
แม้จะแตกต่างกันในความหมาย แต่การชูสามนิ้วก็ให้ความหมายในเชิงบวกไม่ว่าจะตีความด้วยมุมมองแบบไหน
สำหรับผม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการชูสามนิ้ว คุณจะชูแบบลูกเสือเพื่อปฏิญาณ ชูแบบ Hunger Gamesเพื่อไว้อาลัย หรือจะชูแบบผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เพื่อสันติภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ความผิดใดๆทั้งนั้น เพราะความหมายของการแสดงสัญลักษณ์ล้วนเป็นเรื่องที่ดี
ถ้าต่างฝ่ายต่างดีแล้วอะไรที่ทำให้ขัดแย้งกัน
คำตอบที่สำคัญข้อหนึ่งในมูลเหตุของความขัดแย้งในครั้งนี้ คือ " เวลา "
เราเกิดในห้วงเวลาที่ต่างกัน ทำให้ประสบการณ์ ความคิดและทัศนคติต่างกัน
ผู้ใหญ่มองว่ากฏเกณฑ์ จะทำให้เกิดวินัย แต่เด็กมองว่ากฏเกณฑ์บางอย่างไม่เหมาะสม ล้าหลัง และคุกคามเสรีภาพส่วนตัว
ความต่างนี้ได้ขยายช่องว่างขึ้นเรื่อยๆจนยากที่จะเชื่อมหากันได้ แล้ววันหนึ่งมันก็ลุกลามจากเรื่องสิทธิเสรีภาพในโรงเรียน กลายมาเป็นการเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
ถ้าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีเบื้องหลัง ทุกคนก็คือเบื้องหลังของการขับเคลื่อนนี้
พวกเขามองว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ส่งมอบสังคมในแบบที่พวกเขาต้องการ สังคมที่ไม่มีความเท่าเทียม สังคมที่ขาดความยุติธรรม พวกเขาจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสังคมในแบบที่พวกเขาต้องการ
แล้วเหตุการณ์แบบในหนังเรื่อง Hunger Gamesก็เกิดขึ้น การชูสามนิ้ว ชูกระดาษเปล่า กลายเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงของสังคม
เด็กๆถูกห้ามไม่ให้แสดงความเห็นทางการเมืองในสถานที่ที่พวกเขาควรจะได้แสดงออกมากที่สุด พวกเขาควรจะได้แสดงความเห็น ได้วิพากษ์วิจารณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างร่วมกันกับครู
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนจะเห็นตรงกันหรือไม่ก็ต้องถกเถียงกันด้วยเหตุผล
ในส่วนของผู้มีอำนาจ ตอนจบของเรื่องนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ประวัติศาสตร์ไม่ควรจะซ้ำรอยเดิม หากผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ
เด็กรุ่นใหม่ต้องการสื่อสารกับคนที่พูดภาษาเดียวกันกับเขา คนที่เคารพและให้เกียรติมากกว่าจะมองว่าพวกเขาเป็นเด็ก ถ้าอยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ต้องสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้นก่อน
ภาษาควรถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสาร มิใช่สังหาร
กฏหมายควรถูกนำมาใช้เพื่อคุ้มครอง มิใช่คุกคาม
อำนาจควรถูกนำมาใช้เพื่อสันติ มิใช่สงคราม
ปัญหาควรถูกแก้ด้วยแนวทางที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีก
เวลาอยู่ข้างพวกเขา แม้วันนี้จะปิดกั้นและไม่รับฟัง
แต่เด็กที่มีความคิดแบบนี้ก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เสียงเรียกร้องของพวกเขาก็จะดังมากขึ้นเรื่อยๆ
" แม้จะหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปเท่าไหร่ เข็มก็ยังเดินหน้าอยู่ดี มันก็เดินก้าวหน้าต่อไปไม่ยอมหยุด เดินไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้ซักวันหนึ่ง "
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ภาพประกอบจาก :
โฆษณา