24 ส.ค. 2020 เวลา 00:30 • สุขภาพ
ผักติ้ว / โดย อาหารเป็นยา
เพื่อนๆบางคนอาจจะไม่รู้จัก ผักชนิดนี้นะคะ
ผักติ้ว เป็นไม้ยืนต้น สูง 8-15 เมตร ลำต้นมียางสีเหลือง ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ
ปลายแหลม โคนเกือบมน ผิวใบมีขนทั้ง 2 ด้าน จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า "ติ้วขน"
2
ผักติ้ว บางคนก็เรียกว่า ผักแต้ว
แล้วก็มีอีกหลาย ๆ ชื่อ เช่น ติ้วขน ติ้วส้ม แต้วหอม หรือแต้วหิน เรียกตามพื้นถิ่นของแต่ละภาคค่ะ จะเป็นที่รู้จักกันมากในภาคอีสาน
และคนส่วนใหญ่นิยมจะนำใบนำมากินเป็นผัก
ให้รสเปรี้ยว ปนฝาด ทั้งกินกับพริก ลาบ หรือแหนมเนือง ใส่แกงเลียง แกงส้ม หรือต้มยำ
ผักติ้ว
จะมียอดอ่อนเป็นสีแดง รสฝาดปนเปรี้ยว เมื่อใบแก่เป็นสีเขียวสด
ดอกเป็นสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งก้านเหนือรอยแผลใบ และก็มีผลกลม ๆ เมื่อผลแก่ แตกอ้า ภายในมีเมล็ดรูปไข่ หรือรูปกระสวย พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทย
คุณประโยชน์ของผักติ้วนั้นก็เหลือหลาย ทั้งเป็นอาหาร เป็นวัสดุทำอุปกรณ์ เป็นยาดี และที่สำคัญมีคนบอกว่ารักษามะเร็งได้ด้วย แต่จะจริงหรือไม่??
มาดูกันเลยค่ะ!!!
5 คุณประโยชน์จากผักติ้ว
เพื่อนๆพอจะทราบกันบ้างแล้วว่าผักติ้วนั้นสามารถนำมารับประทานกันได้สารพัด
ทีนี้เรามาดูกันสิว่า ประโยชน์และสรรคุณทางด้านยาจะมีอะไรกันบ้าง??
1. ในผักติ้วหนัก 100 กรัม จะมี
- เส้นใยอาหารอยู่ 1.4 กรัมช่วยป้องกันอาการท้องผูก
- แคลเซียม 67 มิลลิกรัม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน
-ไนอะซิน 3.1 มิลลิกรัม มีบทบาทต่อกระบวนการเผาผลาญสารอาหารและการทำงานของระบบประสาท
- วิตามินซี 56 มิลลิกรัม ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและช่วยให้แผลหายเร็ว
- เบตาแคโรทีนและวิตามินเออยู่สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและบำรุงสายตา
2. โดยสรรพคุณทางยาไทยนั้น ใช้รากผสมกับหัวแห้วหมูและรากปลาไหลเผือก ต้มเอาเฉพาะน้ำ ดื่มวันละ 3 มื้อ เพื่อขับปัสสาวะและแก้ปัสสาวะขัด รากและใบต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง เปลือกต้นและใบตำผสมน้ำมันมะพร้าวทาแก้โรคผิวหนัง แม้แต่น้ำยางจากเปลือกต้นก็ใช้ทาแก้คันได้
3. ยอดอ่อน นิยมรับประทานเป็นผักเคียงกับ ลาบ ก้อย น้ำตก แหนมเนืองเวียดนาม ตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนภาคใต้รับประทานกับขนมจีนใต้รสชาติ อร่อยมาก
 
4. ดอกผักติ้ว มี สีขาวหรือสีชมพูอ่อน ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ นำมากินเป็นผักได้เช่นเดียวกับยอดและใบอ่อน ไม้จากต้นผักติ้วก็ยังมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะเนื้อไม้แข็ง จึงใช้ทำเสา ด้ามจอบเสียม หรือเผามาทำฟืน
5. สารสกัดจากผักติ้ว ในงานวิจัยของนิสิตโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก (คปก.) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ระบุว่า สารสกัดจาก "ผักติ้ว" สามารถนำไปใช้ในการยับยั้งกลิ่นหืนในอาหารได้
โดยเอายอดอ่อนของ "ผักติ้ว" ที่คนอีสานนิยมรับประทานเป็นผักเคียงกับลาบ ก้อย และแหนมเนืองเวียดนาม ไปเข้ากระบวนการสกัดผสมกับ "เอทานอล"
และขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนจะได้สารจาก "ผักติ้ว" ชื่อ "คอลโรจินิกแอซิก" นำไปใช้เป็นสารสกัดธรรมชาติป้องกันกลิ่นหืนของอาหารดีมาก
ผักติ้วกับการรักษามะเร็ง
เคยมีการวิจัยเกี่ยวกับผักติ้วว่า ผักติ้วนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ชื่อว่า กรดคลอโรเจนนิคสูง เมื่อเทียบกับสารโพลีฟีนอลทั้งหมด
โดยกรดคลอโรเจนนิคนี้เป็นสารที่ป้องกันการทำลายดีเอ็นเอได้
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า "ผักติ้ว" ยังมีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญของของเซลล์มะเร็งตับได้ โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติด้วย แต่ทั้งนี้ สารดังกล่าว ไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งตับ (HepG2 / cells) ได้
กล่าวโดยสรุปผักติ้วนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิด และอายุของยอดใบอ่อนหรือใบแก่
โดยทั่วไปแล้วผักติ้วจะไม่แตกต่างกับผักพื้นบ้านที่เป็นพืชยืนต้นอื่น ๆ มากนัก แต่ในด้านส่วนประกอบทางเคมีแล้ว ผักติ้วกลับมีกรดคลอโรเจนนิคที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง
นอกนั้น ก็ยังจะอุดมด้วยวิตามิน บี ซี เค แร่ธาตุต่างๆ และเส้นใย เช่นเดียวกับผักอื่นๆด้วยค่ะ
ผักทุกชนิดจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่คล้าย ๆ กัน ดังนั้นเวลาที่เพื่อนๆจะทานผักแล้ว ก็ไม่ควรจะทานแค่ผักอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการทานซ้ำอยู่อย่างเดียว ก็อาจทำให้เราได้รับสารอาหารนั้นต่อสุขภาพมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ค่ะ
พวกเราโชคดีแล้วค่ะ ที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย แผ่นดินทองแห่งนี้ ที่อุดมทั้งพืชผักและอาหารนานาชนิด
หากใครยังไม่รู้จัก ยังไม่เคยทานลองหามาทานกันนะคะ ส่วนใหญ่จะมีในตลาดที่เป็นขายผักพื้นบ้านนะคะ
แถวบ้านขายกำละ5บาทค่ะ ราคาไม่แพงเลย
อยากให้ทุกคนทานอาหารให้เป็นยากันเยอะๆนะคะ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้อง ไปทานยาเป็นอาหารกันค่ะ
#สุขภาพดีไม่มีขาย ดูแลสุขภาพตัวเองและคนที่คุณรักนะคะ
โฆษณา