24 ส.ค. 2020 เวลา 11:00 • ปรัชญา
บาทหลวงหนุ่มถามหัวหน้าบาทหลวงว่า
“ขอผมสูบบุหรี่ระหว่างสวดมนต์ได้ไหมครับ”
“ไม่ได้!” หัวหน้าบาทหลวงตอบ
วันถัด ๆ มา บาทหลวงหนุ่มเดินไปเจอบาทหลวงอีกคนสูบบุหรี่ระหว่างสวดมนต์
ก็เลยเอ็ดใส่ว่า
“คุณไม่ควรสูบบุหรี่! ผมถามหัวหน้าบาทหลวงแล้ว ท่านบอกว่าไม่ควร!”
“อ่าวหรอ...แปลกจัง” บาทหลวงอีกคนตอบ
“ผมถามหัวหน้าบาทหลวงว่า ผมสวดมนต์ระหว่างสูบบุหรี่ได้ไหมครับ
ท่านก็ตอบว่า ได้ จะสวดมนต์เมื่อไหร่ก็ได้”
เป็นมุขตลกของฝรั่ง
ที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการมองปัญหาและวิธีที่ถ่ายทอดออกมา
จะส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างเลี่ยงไม่ได้
1
ถ้าต้องเลือกระหว่าง
A : ช่วยชีวิตคนได้ 200 คน
B : มีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะช่วยชีวิตคนได้ 600 คน แต่มีโอกาสอีก 2 ใน 3 ที่จะช่วยใครไม่ได้เลยสักคน
ให้แต่ละท่านเลือกคำตอบของตัวเอง
เก็บไว้ในใจก่อน
แล้วถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีการนำเสนอตัวเลือกข้างต้น เป็นตัวเลือกดังนี้
C : จะมีคนเสียชีวิต 400 คน
D : มีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะไม่มีคนเสียชีวิต แต่มีโอกาสอีก 2 ใน 3 ที่คนทั้ง 600 คนจะเสียชีวิต
ทีนี้คำตอบของทุกท่านเป็นอย่างไรครับ
สอดคล้องกันกับแบบแรกหรือเปล่า
2
ผลวิจัยจาก Tversky และ Kahneman พบว่า
คนจำนวน 72% เลือกตัวเลือก A มากกว่า B
คนจำนวน 78% เลือกตัวเลือก D มากกว่า C
น่าแปลกใจไหมครับ ว่าทั้ง ๆ ที่แก่นของเนื้อหาเหมือนกัน
เพียงแต่การนำเสนอต่างกัน ก็ทำให้การตัดสินใจต่างกันได้
เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า
Framing effects
นั่นคือการตีกรอบความคิด ส่งผลต่อการตัดสินใจได้
3
แสดงให้เห็นว่า
ไม่ว่าเราจะคิดว่าเรามีเหตุผลมากน้อยเพียงไหน
แต่อารมณ์และจิตใจของเรามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ
โดยที่เราอาจจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ได้
เหตุผลเบื้องหลังตัวอย่างข้างต้น
คือ การหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Loss Aversion)
พูดง่าย ๆ คือไม่ชอบเสีย
ความรู้สึกของการสูญเสียจะรุนแรงกว่าความรู้สึกที่ได้รับ
เปรียบเทียบตัวเลือกทั้งสองกรณี
คนส่วนใหญ่จะเลือกตัวเลือกที่ปลอดภัยไว้ก่อน คือ A
เพราะอย่างน้อยก็ช่วยชีวิตคนได้ 200 คน
แต่พอเป็นกรณีหลัง คนส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสีย และเลือกที่จะเสี่ยงกับตัวเลือก D มากกว่า
ลองนึกภาพตัวเองได้เงิน 10,000 บาท เปรียบเทียบกับเสียเงิน 10,000 บาท
แม้ว่าจำนวนจะเท่ากัน แต่การเสียเงินทำให้เรารู้สึกแย่กว่าตอนที่ได้เงินจำนวนเดียวกัน
4
แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากการรับรู้นี้ได้อย่างไรบ้าง
ทำตัวเลือกให้เป็นกลางมากที่สุด โดยนำผลด้านบวกและด้านลบมาเขียนรวมกัน
เพื่อตัดความเอนเอียงของตัวเรา ที่จะพยายามเลี่ยงการสูญเสีย
ถ้าตามกรณีตัวอย่างแรก จะได้ภาพประมาณนี้
A : ช่วยชีวิตคนได้ 200 คน แต่จะมีคนเสียชีวิต 400 คน
B : มีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะช่วยชีวิตคนได้ 600 คนและไม่มีคนเสียชีวิตเลย แต่ก็มีโอกาสอีก 2 ใน 3 ที่จะช่วยใครไม่ได้เลยและทั้ง 600 คน จะเสียชีวิต
ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
อย่างน้อยเราก็ได้พยายามลด Loss Aversion อย่างที่สุดแล้ว
เพื่อน ๆ เห็นว่าอย่างไรกันครับ
มีวิธีไหนที่ช่วยลด Loss Aversion ในการตัดสินใจได้อีกหรือเปล่า
Tell Me More !
เพราะความอยากรู้มีไม่จำกัด
บันทึกไว้อ่านเองซะส่วนใหญ่ แบ่งปันกันได้ตามโอกาส
เรื่องราวการเงิน ธุรกิจ การลงทุน รอบตัว
— ทุกการกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม คำติชม ช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้เขียน
ติดตามได้ที่
อ้างอิง
โฆษณา