24 ส.ค. 2020 เวลา 01:21 • ปรัชญา
“เทศน์ธรรมดา” โดยพระมหาวิเชียร ชินวํโส
“ทำวัตรเช้า 23 สิงหาคม 2563”
✨เวลาที่เราภาวนา พยายามให้เป็นธรรมชาติ การวางใจใช้หลักง่ายๆ หลักสัมมาวายามะ จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะที่เราทำอะไรอยู่ก็ตามจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่เกี่ยวว่าจะนั่งนาน นั่งน้อย เดินจงกลม หรือไม่เดินจงกลม ก็แล้วแต่ให้เป็นเรื่องเดียวกัน
✨คำว่าจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ไม่ได้แปลว่า ถ้านั่งแล้วรู้สึกจิตเป็นอกุศลก็เลิกนั่ง หรือเดินจงกรมแล้วจิตเป็นอกุศลแล้วเลิกเดินไม่ใช่ เพียงแค่ว่า เมื่อจิตเป็นอกุศลก็พยายามละมัน อย่าละที่ตัวอกุศลให้ละที่ตัวต้นเหตุ เช่น ความคิด ความปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดอกุศล หรือตัวอกุศลนั่นแหล่ะทำให้เกิดความคิดก็มี รักษาใจให้เป็นกุศลอยู่เสมอ จิตที่เป็นกุศล โดยเฉพาะจิตที่ประกอบปัญญา แม้จะเป็นปัญญาในระดับต้นๆ เช่น โยนิโสมนสิการ หรือภาษาชาวบ้านคือ คิดเอา ภาคอยู่ในหัวนี่แหล่ะ เป็นเครื่องเตือนตัวเอง ว่าขณะนี้จิตเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าจิตเป็นกุศลการภาวนาถึงจะเดินหน้าได้ เพราะเริ่มมาจากตัว มหากุศล บุญธรรมดาที่เราทำอยู่ คือการให้ทาน รักษาศีล งั้นทุกครั้งที่ทำอะไรก็รักษาทำใจให้เป็นมหากุศล มันถึงจะไปสู่ตัวกุศลที่มีระดับที่สูงกว่านั้น เป็นมหากตะกุศล หรือตัวณาณ ตัวสมาธิ
✨ทีนี้ กุศล หรือ อกุศล ต่างกันตรงไหน?
👉🏻 ต่างกันที่ว่า ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ นั่นคือ กุศล รู้สึกตัวอยู่ รู้สึกตัวอยู่
และแน่นอนที่ว่า ในขณะที่เราภาวนาอยู่ จะป่วนอยู่ข้างใน กุศล อกุศล มันทำงานสลับกันอยู่ กุศลก็รู้ทัน อกุศลก็รู้ทัน รักษาจิตให้เป็นกุศล ก็ไม่ได้แปลว่าจะยึดกุศลนั่นไว้ เพราะกุศลเองก็ไม่เที่ยง หรือสติสัมปชัญญะเองก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นได้ก็ดับได้ ที่นี้มันจะสลับระหว่างกุศล และอกุศล ถ้ามีสติรู้ทันอยู่ อกุศลนั้นก็กลายเป็นอารมณ์ของจิต เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฐฐาน เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตเข้าไปรับรู้ได้อย่างหนึ่ง จะต่างกันตรงที่ว่า ถ้าจิตรู้ อกุศลที่ถูกรู้ก็จะดับไปตามธรรมชาติ แม้จะไม่ดับ ก็จะไม่มีผลที่เป็นตัววิบาก ตัวผลตามมา เช่น จิตเกิดโทสะ จิตเกิดราคะอยู่ ก็รู้ทัน ก็จะเป็นเพียงแค่อาการคิดอย่างหนึ่งเท่านั้น อาการปรุงแต่งของจิตอย่างหนึ่งจะไม่มีผลตามมา แต่ถ้าเกิดว่าไม่รู้ทัน ก็จะหลงไปจมอยู่กับอารมย์นั้น และปรุงแต่งไปสารพัด จิตก็เกิดความเศร้าหมองขึ้นมา โดยธรรมชาติของมัน ไม่ใช่เราเศร้าหมอง จิตมันเศร้าหมองขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ มันเป็นผลของอกุศลเหล่านั้น ถ้ารู้สึกว่าเคร่งเครียดเกินไป เพลิดเพลินเกินไป สังเกตดู เอาจริงเอาจังเกินเหตุ ตั้งท่าตั้งทางมากเกินไป แปลว่าจิตเป็นอกุศลหล่ะ หรือบังคับจิตมากเกินไปก็ต้องระวัง บางคนติดรูปแบบต้องเดินท่านู้น ต้องนั่งท่านี้ และก็ไม่ได้สังเกตดูใจตนเอง เคร่งเครียดเอาเป็นเอาตาย หรือแข่งกับคนอื่นเขา กลัวจะน้อยหน้าคนอื่นเขา ก็จะกลายเป็นการแข่งดี จิตเป็นอกุศล หรือจิตมีมานะฐิติครอบงำอยู่ ก็จะทำให้การภาวนาเป็นไปอย่างเนินช้า แต่ถ้ารักษาจิตให้เป็นกุศลได้สม่ำเสมอดี ก็จะทำให้การภาวนาก้าวหน้าได้เร็ว ซึ่งก็จะมีอยู่ 2 อย่างก็คือ ถ้าไม่ลงไปสงบก็มีปัญญเข้าไปพิจารณาอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ โดยจะเห็นอาหารเหล่านี้เองโดยธรรมชาติของมัน ขอแค่เพียงเฝ้าสังเกตดู ในการสังเกตนั่นแหล่ะเป็นจุดเริ่มต้น ของการภาวนาหล่ะ สังเกตมาจากสติสัมปชัญญะ ถ้าภาษายุคใหม่จะเรียกอยู่ 2 อย่าง ปรีชาญาณอย่างหนึ่ง ตัวปัญญาญาณอย่างหนึ่ง
ตัวปรีชาญาณก็คือ จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดเอา คิดเอาว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็แล้วแต่ คิดเอา อันนี้ในเบื้องต้น แต่พอถึงจุดหนึ่งจะเกิดปัญญาญาณ ปัญญาญาณเกิดในขณะที่จิตมันว่าง ว่างจากความยึดถือ ไม่ใช่ว่างจากอารมณ์ จิตมันว่างจากความยึดถือว่ามีเรา มีเขาอะไรที่ไหนอยู่ มันเกิดปัญญาญาณขึ้นมา ถ้าเราเข้าไปสังเกตดูอยู่อย่างนี้ จะทำให้เราเข้าใจถึงสภาวะของจิต สภาพธรรมทั้งหลายที่มาปรากฏอยู่ หมั่นสังเกตดูแบบนี้บ่อยๆอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อย่างพระ เดินบิณฑบาต ก็จะเป็นการภาวนาได้ด้วย ขณะที่เดินอยู่ เหยียบก้อนกรวด ก้อนหิน อยู่ อะไรก็แล้วแต่ หมั่นเข้าไปสังเกตเห็นอยู่ เช่นอาการเจ็บเท้า มันเกิดขึ้น รู้ถึงอาการของมัน รู้ของอาการของขาที่กำลังยืด กำลังเหยียดอยู่ กำลังก้าวเดินอยู่ รู้ของอาการที่เท้ากำลังกระทบพื้นอยู่ เป็นต้น จะกลายเป็นการเจริญภาวนาไปด้วย ในขณะที่กวาดก็รู้ถึงอาการของร่างกายที่เคลื่อนอยู่ อาการของมือที่กำลังเคลื่อนอยู่ อาการของศอก ของไหล่ ที่เคลื่อนไหวอยู่เป็นต้น อันนี้เรียกรู้อาการ รับรู้อย่างนี้ให้เป็นธรรมชาติ ปล่อยให้เป็นอิสระ อย่าไปรู้จุดใดจุดหนึ่งฝึกให้เป็นนิสัยเลย ขยับตัวปุ๊บ ให้รับรู้ทันที พอก้าวเดินให้รับรู้ทันที ก็จะกลายเป็นการเดินจงกลมตลอดทั้งวัน นั่งอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกตัวอยู่
รู้ถึงอาการที่นั่งอยู่ จะเคี้ยว จะกลืนรู้สึกตัวอยู่ เคี้ยวก็รู้ กลืนก็รู้ ให้มันเนื่องๆไปอย่างนี้ พูดให้น้อย รู้ให้มาก เคี้ยวไปรู้ไป เคี้ยวไป คุยไป โมหะก็ครอบงำแล้ว ไม่มีประโยชน์สาระอะไร ไม่ต่างจากหมู หมา กา ไก่ ที่ขณะกำลังกินอาหารอยู่อย่างนั้นเอง หรือชาวบ้านทั่วไป ที่กินไปเคี้ยวไป เพลิดเพลินสนุกสนาน คุยกันไปไม่มีความหมายอะไรแบบนั้น ในฐานนะที่เป็นนักปฏิบัติภาวนา หรือที่ตั้งใจจะภาวนา ให้พยายามอยู่กับตัวเอง
อยู่กับตัวเองก็ไม่ใช่จมกับตัวเองนะ ให้รับรู้อารมณ์ที่มากระทบรอบตัว เพราะอารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มากระทบทางตามั่ง ทางหูมั่ง ทางจมูกมั่ง ทางลิ้นมั่ง ทางกายมั่ง หรือจิตปรุงแต่งนึกคิดเรี่องราวต่างๆขึ้นมาในขณะนั้นๆ ให้สังเกตดูเถอะ ตัวขันธ์ 5 ทำงานอยู่อย่างนั้น เช่น ขณะที่เคี้ยว ลิ้นกระทบกับรส จิตปรุงแต่งเทียบเคียงหล่ะ อันนี้รสอะไร รสชาติแบบนี้เคยกินมารึเปล่า นึกถึงหล่ะ อันนี้แกงนู้น แกงนี่ เทียบเคียงกับความจำเดิมๆที่เราเคยบันทึกเอาไว้ในสมอง เอามาเทียบเคียงหล่ะ ที่จริงแล้วมันบันทึกไว้ในใจของเราเนี่ยแหล่ะส่วนหนึ่ง แล้วก่อ ให้เกิดความชอบ ความชังตามมา ความสุขความทุกข์ตามมาสังเกตดูนะ อาหารนี้อร่อยชอบ อาหารนี้ไม่อร่อยไม่ชอบ มันจะเห็นอยู่ตลอด โดยเฉพาะถ้าคนที่ภาวนามานานๆ ก็จะเห็นอาการของจิตที่เข้าไปรับรู้อาการเคี้ยวอาการกลืนนั้น และก็ดับไป ขณะหนึ่งขณะหนึ่ง รู้ขณะหนึ่งก็ดับไป รู้ขณะหนึ่งก็ดับไป อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อให้นั่งเล่นอยู่เฉยๆ ก็กลายเป็นการเจริญภาวนา นั่งทีละ 8 ชั่วโมง ต่อให้ไม่รู้อะไรเรื่องพวกนี้เลย บังคับให้ตัวเองสงบนิ่งๆ ก็กลายเป็นไม่ได้เจริญภาวนาอะไร ก็แค่กริยาอาการข้างนอกเท่านั้นเอง แต่ข้างในไม่ได้ภาวนาอยู่ งั้นหมั่นสำรวจตัวเอง พูดให้น้อยภาวนาให้มากคลุกคลีให้น้อย อยู่กับตัวเองให้มาก อยู่กับตัวเองก็ไม่ใช่อยู่ในกุฏินั่งดูโทรทัพท์ทั้งวันนะ ไม่งั้นก็เสียเวลาของชีวิตไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้นนั่งอยู่รู้ เดินอยู่รู้ จะทำอะไรให้รู้สึกอยู่ ให้เนื่องๆไปอยู่อย่างนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ตื่นขึ้นมาก็ให้รู้สึกตัวก่อน ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น ก่อนที่จะหลับก็ให้รู้สึกตัวอยู่ นอนอยู่รู้ หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หลังกระทบพื้นรู้ หมอนกระทบกับศรีษะรู้ ก้นกระทบกับพื้นเสื่อ พื้นที่นอนอะไรก็แล้วแต่รู้ ให้รับรู้อยู่ รู้อาการของกายที่มันหนัก เหมือนมีแรงดึงดูดของโลกดึงอยู่ เวลานั่งก็เหมือนกัน สังเกตดู รู้สึกตรึงตรงไหน หนัก เบา ตรงไหนก็รับรู้อยู่ รู้ของอาการของหลังที่ยืดตรงหรืองออยู่ รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆจะทำให้เราฉลาดกับการอยู่ตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่นั่งอยู่ก็คิดอะไรฟุ้งซ่านไปเรื่อยเปื่อย อันนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไร
พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวํโส
✨ติดตามรับฟัง “เทศน์ธรรมดา”
โดยพระอาจารย์มหาวิเชียร ทำวัตรเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2563 👇🏻
โฆษณา