24 ส.ค. 2020 เวลา 12:29 • การเมือง
บาร์เตอร์เรือดำน้ำกับสินค้าเกษตร
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
เดนิส วาเลนติโนวิช แมนตูรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียและผมนัดพบกันที่ห้อง 2117 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อ 27 ธันวาคม 2561 สนทนากันอยู่นานหลายชั่วโมง
ผมสนใจกรณีที่อินโดนีเซียซื้อเครื่องบินรัสเซีย 11 ลำ ราคา 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 35,507 ล้านบาท โดยอินโดนีเซียไม่ได้จ่ายเป็นเงิน ทว่าจ่ายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พวกน้ำมันปาล์ม กาแฟ ชา และสินค้าเกษตรในมูลค่าเท่ากัน
กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียแต่งตั้งบริษัท พีที เปรู ซาฮาบ เปอร์ดากันกัน ส่วนรัฐวิสาหกิจโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ตแต่งตั้งบริษัทรอสเทค ไปเป็นตัวแทนเจรจาและลงนามร่วมกันเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2561
นอกจากนั้น นายโอเคะ นูรวัน ปลัดกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียยังเสนอจะให้ยางแผ่น น้ำมันปาล์มดิบ เม็ดกาแฟ โกโก้ น้ำมะพร้าวตากแห้ง ใบชา ปลา เครื่องเทศ ผ้าผืน รองเท้า พลาสติก ยางเรซิ่น เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป ฯลฯ โดยแลกกับการที่ฝ่ายรัสเซียสร้างศูนย์บริการ อะไหล่ การซ่อมบำรุงเครื่องบินรบซูคอยในอินโดนีเซีย
ฝ่ายรัสเซียเห็นด้วยเพราะตอนที่เจรจานั้น มีเครื่องบินรบในตระกูล Su-27/30 ใช้ในอินโดนีเซีย (Su-27 + Su-30MKK จำนวน 16 ลำ Su-35 จำนวน 11 ลำ) เวียดนาม (Su-30MKV จำนวน 32 ลำ Su-27 ที่อัพเกรดเป็น Su-30 จำนวน 8 ลำ กำลังจัดหา Su-30MKV อีกจำนวน 6 ลำ) ส่วนเครื่องบินรบในตระกูลซูคอยในมาเลเซียมี 18 ลำ และเมียนมามี 6 ลำ
รวมเครื่องบินรบซูคอยที่จะมาซ่อมในศูนย์บริการในอินโดนีเซียทั้งหมด 113 ลำ
พ.ศ.2552 รัสเซียจัดเรือดำน้ำชั้นกิโล 6 ลำ ราคามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้เวียดนาม โดยเวียดนามจ่ายเป็นเงินสดร้อยละ 50 ที่เหลืออีกร้อยละ 50 จ่ายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนั้น ฝ่ายรัสเซียยังฝึกลูกเรือ สร้างอู่จอด และอู่ซ่อมที่ฐานทัพอ่าวกามแรงให้ด้วย
เวียดนามยังซื้อเครื่องบินรบ Su-30MKV 32 ลำ ราคา 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายเป็นเงินร้อยละ 50 และจ่ายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลิตอีกร้อยละ 50
12 เมษายน 2561 ฯพณฯ อเล็กซานเดอร์ เอ. คาร์ชาวา อดีตเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำมาเลเซียและศรีลังกา บินจากกรุงมอสโกมาเมืองไทยเพื่อไลฟ์สดทางเฟซบุ๊คแฟนเพจในรายการคุยสบายๆ กับผมที่บ้าน
1
ท่านทูตเล่าให้ผมฟังว่า ท่านเป็นคนจัดการเรื่องแลกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียกับเครื่องบินรบรัสเซีย เมื่อทางรัสเซียได้น้ำมันปาล์มจากมาเลเซียไปแล้ว ก็ได้ไปเจรจาขายต่อให้กับทางฝรั่งเศส โดยได้กำไรประมาณร้อยละ 5
ทุกคนแฮปปี้มีความสุข ทางรัสเซียได้ขายเครื่องบินรบ รวมทั้งได้กำไรจากการขายน้ำมันปาล์มให้ฝรั่งเศส มาเลเซียได้เครื่องบินรบพร้อมทั้งได้ขายสินค้าเกษตรคือน้ำมันปาล์ม กองทัพอากาศมาเลเซียก็แฮปปี้ที่ได้เครื่องบินรบฝูงใหม่มาประจำการ
เคยสนทนากับผู้มีอำนาจที่เป็นเจ้าของสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ พวกเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ รถถัง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยยุคไหนสมัยใด ไม่มีใครยอมซื้อของแบบแลกเปลี่ยน
ผมลุ้นเรื่องการค้าขายด้วยระบบแลกเปลี่ยนตั้งแต่ พ.ศ.2540 จนถึงบัดนี้ เวลาผ่านมา 23 ปีแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับอาวุธยุทโธปกรณ์ รถยนต์ รถบรรทุก เครื่องจักร ฯลฯ ของไทยกับประเทศอื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบาร์เตอร์กัน บางครั้งต้องอาศัยความสนิทสนมรู้จักกันเป็นการส่วนตัวจึงจะเจรจาได้ง่าย
อย่างท่านทูตคาร์ชาวาผู้เคยทำเรื่องแลกเปลี่ยนเครื่องบินรบรัสเซียกับน้ำมันปาล์มมาเลเซียในสมัยที่ท่านเป็นทูตอยู่มาเลเซีย ท่านสนิทกับ ดร.มหาเธร์ มุฮัมมัด หลังจากมาเลเซีย ท่านได้ย้ายไปศรีลังกา ดร.มหาเธร์ยังเคยไปเยี่ยมท่านที่ศรีลังกาด้วย
เรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรกับเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ รถถัง ฯลฯ
ผมขอมาเล่าต่อในโอกาสหน้าครับ.
โฆษณา