25 ส.ค. 2020 เวลา 18:52 • ประวัติศาสตร์
เฉลิมฟิล์มกระจกไทย มรดกความทรงจำแห่งโลก
การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกในเมืองไทยเริ่มมีการเผยแพร่และถ่ายทอดวิธีการถ่ายภาพในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ และบาทหลวง ลาร์นอดี สอนวิชาถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคมีนฤมิตร และพระปรีชา กลการ ถือเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย เส้นทางฟิล์มกระจกแพร่หลายมากในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชนิยมในการถ่ายภาพยิ่งมากขึ้น
ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2560 จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ "ยูเนสโก" ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 35,427 แผ่น ภาพมากมายที่ได้บันทึกบนแผ่นฟิล์มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีตของชาติไทย
ฟิล์มกระจกมีความหมายและความสำคัญ ยิ่งเก็บไว้นานก็สามารถย้อนกลับไปศึกษาเกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ ช่วยเปิดโลกทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ยิ่งนำมาพิจารณาประกอบลายลักษณ์อักษรจะทำให้กระจ่างแจ้ง สิ่งนี้เรา เรียกว่า มรดกความทรงจำของโลก เป็นที่น่ายินดีของประเทศไทยที่มีการเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้อย่างประณีตและบรรจง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ในฐานะสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ และขอพระบรมราชานุญาต พระราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยบันทึกภาพลงฟิล์มกระจก มาเก็บรักษาที่หอสมุดพระวชิรญาณ จนเกิดแผนกจดหมายเหตุ และส่งต่อสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อดูแลรักษาในปัจจุบัน
โฆษณา