26 ส.ค. 2020 เวลา 00:59 • นิยาย เรื่องสั้น
#10เทคนิคสร้างตัวละครให้ปัง❗❗❗
ตัวละคร คือ 50% ของการบอกว่า “นิยาย” เรื่องนั้น จะโดนใจคนอ่านหรือไม่
และวันนี้เราก็มีวิธีการสร้างตัวละครให้โดดเด่น โดนใจคนอ่านมาฝากกันค่ะ😉
✏️
1. กำหนดตัวเอกก่อน
แน่นอนว่านอกจากพล็อตเรื่องแล้ว เราจำเป็นต้องกำหนดตัวละครเอกให้กับเรื่องของเราเสียก่อน โดยที่ไม่จำเป็นว่าตัวเอกจะต้องเป็นพระเอก หรือนางเอกเท่านั้น ตัวเอกอาจจะเป็นบุคคลที่3 ที่เป็นตัวสำคัญของเรื่องก็ได้
✏️
2. กำหนดว่าเรื่องที่เรากำลังจะแต่ง มีตัวละครหลักกี่ตัว
เมื่อเรากำหนดตัวเอกของเรื่องได้แล้ว เราก็จำเป็นต้องวางตัวละครหลัก รอง พระ-นาง-ตัวร้าย-และตัวอื่นๆ ให้ครบตามเรื่องที่เราต้องการก่อน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งว่า เราต้องกำหนดตัวหลักให้ได้ (นิยายสั้นปกติจะมีตัวหลักไม่เกิน 3ตัว และนิยายยาว ประมาณ 6-10 ตัว) โดยแต่ละตัวละครจะมีความสำคัญลดหลั่นกันลงไปตามบทบาทที่เราวาง
✏️
3. สร้างตัวละครแบบมีมิติ (ตัวละครกลม)
สร้างตัวละครแบบมีมิติ หรือตัวละครกลม คือ ตัวละครที่มีมิติ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคิดอะไร จะทำอะไร มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง (เหมือนมนุษย์จริงๆ) มีพฤติกรรมเป็นของตัวเอง คนอ่านไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวละครนี้จะทำอะไร (เช่น แฮรี่ใน Harry Potter, โฟรโด ใน The Lord of the ring , เกษสุรางค์ใน บุพเพสันนิวาส เป็นต้น) ส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวหลักในเรื่อง
✏️
4. สร้างตัวละครแบน
ตัวละครแบน คือตัวละครที่มีพฤติกรรมชัดเจน ผู้อ่านสามารถคาดเดาพฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิดของเขาได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวประกอบหลัก สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้สร้างสีสันของเรื่อง เช่น มองฟรอย ในเรื่อง Harry Potter , แซมในเรื่อง The Lord of the Ring , ยายปริก ในเรื่องบุพเพสันนิวาส เป็นต้น
✏️
5. วางตัวละครขั้วตรงข้ามกัน
เทคนิคการวางตัวละครขั้วตรงข้าม เพื่อสร้างสีสันให้กับเรื่องราวของเรา เช่น เราสร้างตัวละครฮีโร่ขึ้นมา(เช่นแบทแมน) เราก็ต้องสร้างตัวละครวายร้ายขึ้นมาคู่กัน (โจ๊กเกอร์) หรือถ้าสร้างนางเอกให้แสนดี เราก็ต้องสร้างนางร้ายให้ร้ายไปเลย หรือถ้าเราสร้างตัวละครที่ฉลาดมากๆ (ดัมเบอร์ดอร์) เราก็ต้องสร้างตัวละครที่โง่มาคู่กันด้วย (แฮกริด) เป็นต้น
✏️
6. ใส่รายละเอียดให้ตัวละครทุกตัว
เทคนิคการใส่รายละเอียดให้ตัวละคร เป็นการสร้างความสมจริงให้กับตัวละครของเราให้มากขึ้น เช่น นอกจากแค่ชื่อ อายุแล้ว เราจำเป็นต้องใส่ ส่วนสูง น้ำหนัก บุคลิก นิสัย การแต่งตัว อาชีพ(คนไทยไม่ค่อยชอบใส่อาชีพให้ตัวละครเลยทำให้ไม่ค่อยสมจริง) รถที่ขับ อาหารที่ชอบ สีที่ชอบ สัตว์เลี้ยง สิ่งที่ไม่ชอบ ปมในใจ ครอบครัว การเลี้ยงดู รายได้ การเลี้ยงดู สังคมแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดตรงนี้เราต้องใส่ทั้งลักษณะทางกายภาพ และชีวภาพ รูปธรรมและนามธรรม คือ ทั้งลักษณะที่มองเห็นด้วยตา และที่มองไม่เห็นด้วยตา (ความรู้สึก นึกคิด เรื่องในหัว) เพื่อให้ตัวละครของเรานั้นเหมือนคนจริงๆมากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้จะช่วยในตอนที่เราเขียนไดอะล็อก เพราะเราจะสามารถแยกบุคลิกให้ตัวละครแต่ละตัวได้ชัดเจน
✏️
7. สร้างภาพตัวอย่าง แบบร่าง ของตัวละครนั้นๆ ออกมาให้ได้
เมื่อเราสร้างรายละเอียดให้ตัวละครของเราครบแล้ว เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีภาพต้นแบบของตัวละครนั้นๆ โดยอาจจะนำต้นแบบมาจากดาราที่เรารู้จัก หรือคนที่เรารู้จัก หรือตัวการ์ตูนต่างๆก็ได้ เพราะเมื่อเราจำเป็นภาพ เวลาเขียนเราจะเห็นถึงการเคลื่อนไหว การพูด ลักษณะท่าทางของตัวละครของเรา และจะทำให้คิดเรื่องราว บุคลิกการแสดงออกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
✏️
8. วางคาเรกเตอร์ให้ตัวละครหลัก
คาเรกเตอร์ตัวหลัก ต้องชัดเจน (จะต้องสอดคล้องกับข้อ6 ตรงดีเทล รายละเอียดของตัวละครนั้นๆ) เช่น คาเรกเตอร์พระเอกเป็นคนสุขุม นิ่งเฉย แต่มีความยุติธรรม คาเรกเตอร์ที่ออกมาก็ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่เราเขียนรายละเอียดให้สุขุม แต่คาเรกเตอร์ที่ออกมากลายเป็นเจ้าชู้ ก็จะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนและไม่อินในเรื่องได้
✏️
9. สร้าง Setting รองรับตัวละครเอก
Setting หรือสถานที่ หลายคนไม่ค่อยกำหนดรายละเอียดให้สถานที่ทั้งหลักและรองให้กับตัวละคร ทำให้เวลาบรรยายฉาก คนอ่านจะไม่รู้ว่าเกิดเรื่องที่ไหน ดังนั้นเราควรต้องกำหนดสถานที่หลัก ของตัวเอก(เช่นบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน แล้วใส่รายละเอียดภาพจำลองให้เหมือนสถานที่จริงๆ) ซึ่งคำบรรยายเหล่านี้จะปรากฏในเรื่องหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเราเขียนไว้ มันจะช่วยให้ตอนแต่ง เราสามารถรู้ว่าตัวละครจะทำอะไร ไปทางไหน อย่างไรในสถานที่นั้นๆ เช่น มีโต๊ะกลมอยู่มุมห้องนอน มีสวนดอกไม้อยู่หน้าบ้าน เป็นต้น
✏️
10. แยกไดอะล็อกของตัวละครให้ชัดเจน
การสร้างไดอะล็อก เป็นงานที่เรียกว่าหินสำหรับมือใหม่อยู่เหมือนกัน เพราะนักเขียนมือใหม่(หรือมือเก่า) มักจะเผลอเอาตัวเองไปเป็นตัวละคร จึงทำให้บทพูดของทุกตัวละครเป็นไปในทางเดียวกันหมด (มีบุคลิกเดียวทุกตัว) ซึ่งตรงนี้เราสามารถแก้ปัญหาได้ตาม 9 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเราวางรายละเอียดทั้งหมดให้ตัวละครของเราเสร็จก่อนแล้ว ตอนเขียนเราจะสามารถนึกภาพตามได้ว่าตัวละครนั้นๆ จะพูดอย่างไร มีบุคลิก นิสัย คาเรกเตอร์แบบไหน ทำให้ไม่กลายเป็นโมโนโทนไป
😊
การสร้างตัวละคร เป็นหัวใจหลักของการเขียนนิยาย นอกจากพล็อตเรื่องที่ดีแล้วตัวละครก็คือการดำเนินเรื่องราวทั้งหมด❤️
🤓
ดังนั้นแล้ว ก่อนเขียนให้เราใส่ใจกับรายละเอียดพวกนี้ก่อนนะคะ เผื่อที่เราจะได้สร้างสรรค์ผลงานให้นักอ่านได้ชื่นชมและติดตามได้อย่าง สนุกสนาน และอินไปกับเรื่องที่เราสรรสร้างขึ้นมา
🥰
และหากใครที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการเขียนนิยายเพิ่มเติม ก็สามารถติดตามเพจ ใครว่านักเขียนไส้แห้ง by Kru Nan ไว้ได้นะคะ หรือใครมีข้อสงสัยในเรื่องการเขียน ก็แวะมาเม้ามอยส์ พูดคุยกันได้นะคะ (ทั้งบทความ, Pocket Book, นิยาย,เรื่องสั้น , ภาพยนตร์, ละคร, ซีรีย์ หรือแอนิเมชั่น รวมไปถึงการเป็นนักเขียนเงา) ก็แวะมาทักทายกันได้
หรือถ้าใครต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องไหน ก็สามารถติดตามคอร์สเรียนได้ที่เพจเช่นกันนะคะ
😉
สุดท้ายนี้ ครูขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ตัวเองเลือก และขอส่งพลังใจ กำลังใจให้สู้ต่อไป อย่าย่อท้อ และหมั่นเรียนรู้ ฝึกฝนฝีมือไปเรื่อยๆ นะคะ วันหนึ่งก็จะเป็นวันของเราแน่นอน 🤟
.
❤️ด้วยรักและห่วงใย❤️
ครูแนน
#10เทคนิคสร้างตัวละครให้ปัง
#นิยาย #คอร์สเขียนนิยาย
#ใครว่านักเขียนไส้แห้ง
#KruNan
โฆษณา