26 ส.ค. 2020 เวลา 16:28 • ไลฟ์สไตล์
#ก่อนถึงวันแต่งงาน
ฉันและสามีคบหากันประมาณ 7 ปี แม่ไม่เคยอนุญาตให้ไปไหนด้วยกัน ส่วนใหญ่ก็จะมาหาที่บ้านตอนเย็นทานข้าวกันแล้วเขาก็กลับบ้าน จนถึงวันหมั้นกันเงียบ ๆ ไม่มีพิธีการอะไร จากนั้นพี่สาวสามีก็ไปหาฤกษ์แต่งงาน มีเวลาเตรียมตัวเพียงเดือนเดียว
และเป็นวันมหาฤกษ์ ที่เป็นวันสถาปนามกุฎราชกุมาร
พอรู้กำหนดวันแต่งงาน ฉันหัวหมุนเลย เพราะมันเร็วมาก ๆ โชคดีที่มีพี่สาวของเพื่อนเป็นช่างตัดเย็บ พาไปหาซื้อผ้า วัดตัวตัดเย็บให้ จากนั้น ฉันต้องตระเวนหาร้านอาหาร โดยเลือกเป็นโต๊ะจีน
แม่บอกว่าช่วงพิธีตอนเช้าเลี้ยงพระ และตอนรดน้ำสังข์ แม่จะตัดเย็บชุดไทยให้ แม่หยิบฝ้ายสีครีมยกดิ้นทองที่ซื้อมาจากลำพูนนานหลายปี ออกมาจากตู้ เลือกแบบจากหนังสือ แม่บอกว่าไม่เคยเย็บชุดไทยเลย เห็นแบบก็คิดว่าเย็บให้ได้ ส่วนชุดตอนเช้า แม่เลือกผ้าฝ้ายสีเลือดหมู เย็บเป็นถุงสำเร็จ ส่วนเสื้อแม่เลือกผ้าชีฟองสีชมพูเข้ม คอจีบ แขนยาวจีบระบาย
เรื่องพิธีสงฆ์ นิมนต์พระวัดมหรรณพารามใกล้บ้านมาสวด โดยมีพี่สาวคนโตลงมาจากเชียงใหม่ จัดทำอาหารเช้าถวายพระ จำได้ว่าเป็นข้าวต้มกุ้งแม่น้ำ
ในการเดินหาซื้อของชำร่วย ก็ไปเดินหาซื้อของแถวพาหุรัด เป็นที่ใส่ไม้จิ้มฟัน ฉันเป็นคนจัดทำห่อของชำร่วยเอง ส่วนของชำร่วยตอนรดน้ำ ก็ไปหาซื้อผ้าเช็ดหน้ามาพับเป็นช่อดอกกุหลาบ ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานนั่งทำ
ต่อมาก็ไปสั่งทำพวงมาลัยจำได้ว่าไปสั่งทำแถวถนนสุโขทัย เป็นบ้านที่เขาได้รับรางวัลชนะเลิศในการร้อยมาลัย และสั่งช่อเขี้ยวกระแตมอบให้ผู้ใหญ่
การพิมพ์การ์ดไม่ยุ่งยากเนื่องจากมีเพื่อนอาสาพิมพ์ให้ จำได้ว่าสั่งไป 250 ใบ
แม่พาฉันพร้อมกับว่าที่ลูกเขย ไปหาพ่อที่พนัสนิคม พ่อบอกรายชื่อเพื่อนมาให้มากมาย ส่วนใหญ่ฉันรู้จักและจำเพื่อนพ่อได้ดี เพื่อนพ่อนส่วนใหญ่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มากมาย ฉันต้องตระเวนไปหาตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ
ก่อนถึงวันงาน หนังสือพิมพ์จะลงข่าวงานแต่งของฉันอยู่ร่วมอาทิตย์(ยุคนั้นการสื่อสารที่ดีที่สุดคือลงข่าวตามหนังสือพิมพ์)
ช่วงไปกราบเรียนเชิญ ท่านอธิบดี เทียน อัชกุล ท่านบอกว่าวันงานไม่แน่ใจจะมาสวมมงคลให้ได้ไหม เพราะต้องเข้าวังในพระราชพิธี แต่ก็เป็นความโชคดีที่ท่านเสร็จพิธีการในตอนบ่าย ท่านเมตตามาเป็นประธานรดน้ำสวมมงคลให้
ในการเตรียมงาน การจัดสถานที่เลี้ยงพระเช้า ฉันและแม่พร้อมด้วยจ้าวบ่าว ช่วยกันเก็บย้ายสิ่งของกันเอง ก่อนวันงานฉันนั่งรถเมล์มาซื้อกับข้าวที่ตลาดมหานาคกันสองคนกับจ้าวบ่าว โดยพี่สาวเป็นคนรับทำอาหารให้ พอตกบ่าย ก็นั่งรถเมล์มาทำผมที่ร้านแถวเทเวศน์ จำได้ว่าชื่อร้านคุณหมู ก่อนนอน ฉันต้องนอนแบบระวังมิให้ทรงผมที่ทำเสียทรง ตื่นเช้ามาก็แต่งหน้าเองแบบง่าย ๆ
ช่วงพิธีเช้าไม่มีแขกใด ๆ มีเพียง พ่อแม่ เจ้าสาว พ่อแม่เจ้าบ่าว และพี่สาว พี่เขยของสามี เสร็จพิธีสงฆ์ก็รับไหว้พ่อแม่ของทั้งคู่
จากนั้นฉันก็เตรียมตัวไปร้านเสริมสวยเพื่อแต่งหน้าทำผมในงานตอนเย็น โดยอาศัยพี่เขยของสามีขับรถมารับที่ร้าน โดยมาเปลี่ยนชุดที่กรม ช่วงนี้มีเรื่องหวาดเสียวที่แม่ลืมเอาชุดมาให้ โชคดีที่บ้านอยู่ใกล้กรม เจ้าบ่าวพร้อมพี่เขยต้องวิ่งมาเอาชุดให้ อย่างหวุดหวิด
ช่วงรดน้ำสังข์ใช้สถานที่ห้องประชุมกรม โดยมีท่านอธิบดี และรองอธิบดีเมตตามารดน้ำให้พรครบ ทั้งสองฝั่งของคู่บ่าวสาว ตลอดจนเพื่อน ๆ ของพ่อมากันมากมาย
ช่วงค่ำใช้พื้นที่โรงอาหารกรมฯ เป็นสถานที่จัดเลี้ยงจะเป็นแขกจากที่ทำงาน เพื่อนสมัยนักเรียน ญาติพี่น้อง หลังเสร็จงาน พ่อตามมาส่งตัวให้ศีลให้พร แล้วพ่อก็กลับไป
เสร็จพิธีการเรียบร้อย พี่สาวเตรียมข้าวต้มไว้ให้ ยอมรับว่าหิวมาก เพราะตั้งแต่เช้าแทบไม่ได้กินอะไรเลย
ในช่วงการเตรียมงานแต่งของตัวเอง ฉันไม่ได้รบกวนเงินของพ่อแม่ ใช้เงินของตัวเอง ทางฝ่ายสามีเขาก็ไม่รบกวนเงินจากครอบครัวเช่นกัน เราจัดเตรียมกันเองทุกอย่าง มีเพียงแหวนหมั้นที่ได้รับมา แม้แต่เงินสินสอดใด ๆ แม่ก็ไม่เรียกร้อง แม่ขอแต่เพียงให้มีพิธีการที่ถูกต้องตามประเพณี ก็เพียงพอแล้ว.
ธิดา อักขิโสภา
25 สิหาคม 2563
#พิธียกน้ำชา
ต่อจากแต่งงานตามประเพณีไทย ฉันต้องเข้าไปอยู่บ้านสามีตามประเพณีจีน เป็นเวลา 3 วัน
วันแรกที่ไปถึง ได้ทำพิธียกน้ำชาให้กับ ญาติผู้ใหญ่ พี่น้องตามลำดับอาวุโส ญาติพี่น้องมาพร้อมกันหลากหลาย ฉันเริ่มเกร็ง ๆ เพราะไม่เคยสัมผัสกับประเพณีจีน แม้ว่าครอบครัวของฉันจะมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนทั้งฝั่งพ่อและแม่ แต่ฉันก็ใช้ชีวิตแบบครอบครัวคนไทยมากกว่า ฝั่งแม่เหลือแค่อากู๋ และอากิ๋ม แต่วันแต่งงานอากู๋เสียชีวิตไปแล้ว จึงมีแต่อากิ๋มมาร่วมงานและฉันได้พาสามีไปเคารพอากิ๋มในช่วงเวลาตอนหมั้น แม่จึงไม่ได้ให้มีธีการ นอกจากไหว้พ่อ แม่ ไหว้พี่สาวคนโต และพี่สาว พี่เขย คนเล็ก
ก่อนที่จะเริ่มพิธียกน้ำชา ได้มีเจ้าพิธีมาแนะนำบอกขั้นตอนและให้พูดตาม เลยทำให้ตัวเองค่อยคลายกังวล
ที่บ้านสามีเป็นร้านค้าขาย เหมือนห้างสรรพสินค้า การทำพิธีพี่น้องจะหมุนกันเข้าร่วมพิธีแล้วก็ไปขายของ(ช่วงเวลานั้นร้านที่บ้านสามีขายของดีมาก มีทั้งขายปลีก และขายส่ง)
พิธียกน้ำชา เริ่มจากยกน้ำชาให้กับ อากง อาม่า(ต้องเรียกตามศักดิ์ของหลาน) เวลาเรียกตามนี้คนจีนเขาจะรู้ว่านี่คือ สะใภ้
เริ่มต้น บ่าว สาว คุกเข่ายกน้ำชาส่งให้อากง อาม่า ต้องเอ่ยชื่อตามศักดิ์ แล้วส่งถาดน้ำชาให้ดื่ม เมื่อทั้งสองดื่มน้ำชาให้ศีลให้พร ก็จะมอบของขวัญมาให้
ก่อนเริ่มพิธี เจ้าพิธี สอนให้ชงชาโดยให้เติมน้ำตาลลงไปนิดหน่อย เพื่อให้มีชีวิตคู่ที่ดีงาม
ฉันคุกเข่า ทำพิธีนานพอสมควร เพราะมีญาติแยะมาก เมื่อมาถึงยกน้ำยาให้กับญาติที่มีศักดิ์ต่ำกว่า (มีศักดิ์เป็นน้อง) เราทั้งคู่เปลี่ยนจากคุกเข่า มาเป็นยืนเสมอกัน
วันแรกที่จะเรียกพี่น้องฉันสับสนมาก เพราะต้องเรียกตามลำดับศักดิ์ เช่นญาติผู้หญิงเรียกตั่วโก ยี่โก ซาโก แล้วเรียกคู่เขยว่าอาเตีย มาถึงญาติฝ่ายชาย ต้องเรียกว่า ตั่วแปะ ยี่แปะ ซาแปะ และเรียกสะใภ้ว่า ตั่วอึ้ม ยี่อึ้ม และเซ้ยอึ้ม เป็นต้น
สามวันที่อยู่ที่บ้านสระบุรี ฉันค้าขายไม่เป็น ก็อาศัยทำอาหารไทย ส่วนอาหารจีนของ อาม่า อากง พี่สาวยังไม่ให้ทำ อาศัยจำการทำไปก่อน
ก่อนกลับบ้านฉันเริ่มคุ้นชินและเข้ากับญาติพี่น้องได้ไว เมื่อกลับมาถึงบ้านแม่คงเป็นห่วงมากถามอย่างละเอียดว่าเป็นเช่นใด พอแม่รู้รายละเอียดก็คลายใจ แม่บอกว่าเป็นห่วงเพราะฉันไม่รู้ประเพณีจีน และตัวแม่เองก็จะอยู่กับครอบครัวคนไทย ตามบ้านเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่
แม่อบรมการเป็นสะใภ้ให้ฉันถือปฎิบัติ ฉันเองรับคำสอน และได้จดจำการปฎิบัติของแม่ต่อ อากง ย่า และ ป้า อา ฝั่งพ่อ และแม่เป็นที่รักของครอบครัวของพ่อมาตลอด.
ธิดา อักขิโสภา
26 สิงหาคม 2563
โฆษณา