27 ส.ค. 2020 เวลา 07:32
ไขข้อข้องใจที่ทุกคนสงสัยเรื่อง “ภาษีบ้านและที่ดิน”
จ่ายเท่าไหร่? จ่ายอย่างไร? แบบไหนต้องจ่าย?
ช่วงนี้คงจะเห็นหลายคนพูดถึงเรื่องการจ่ายภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และล่าสุดภาษีบ้านและที่ดิน ที่เชื่อว่ามีคนสงสัยว่ามันจะต้องจ่ายด้วยเหรอ? ทุกคนที่มีที่ดิน มีบ้าน มีคอนโด ต้องจ่ายภาษีนี้ใช่หรือไม่ หรือว่ามันมีเงื่อนไขอะไรที่ต้องรู้และทำความเข้าใจกับมัน วันนี้ผู้เขียนจะอธิบายแบบง่ายๆ ให้เข้าใจกันว่า ภาษีที่ดิน มันคืออะไร แล้วสรุปจะต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่าย แล้วถ้าต้องจ่ายแบบไหนคือเข้าเกณฑ์
หลายคนคงได้รับ “ใบแจ้งการชำระภาษีที่ดิน” ที่ส่งกันมาทางไปรษณีย์กันแล้ว และมีกำหนดว่าจะต้องไปจัดการยื่นชำระให้เรียบร้อยภายในสิ้นเดือนนี้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินแล้วสิ่งปลูกสร้าง ได้มีการประกาศบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 และบังคับใช้จริงๆ เมื่อต้นปี 2563 แต่เนื่องจากว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้ต้องมีการเลื่อนการจ่ายภาษีออกมาเป็นไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
1
จริงๆ แล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมันก็คือขั้นกว่าของภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเก่าที่ใช้มานานหลายสิบปี และมีการปรับแก้กฎหมายกันใหม่ โดยที่ผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดิน บ้าน คอนโดฯ หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ก็ตามทั้งที่เป็นเจ้าของอสังหาฯ นั้นๆ ทั้งที่ยังใช้ประโยชน์ ซึ่งหมายถึงเจ้าของอยู่อาศัยเองหรือมีการพัฒนาที่ดินขึ้นมา รวมทั้งอสังหาฯ ที่เจ้าของไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่นบ้านเช่า ห้องเช่า หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า ต้องเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยภาษีที่ได้รับการชำระดังกล่าวจะนำเงินไปใช้พัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ
2
แต่อย่าเพิ่งตกใจไปว่า ทุกคนจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ใครมีบ้านมีที่ดินก็ต้องเสียภาษีตัวนี้ทุกคน เพราะมันมีเกณฑ์การเสียภาษีอยู่ ซึ่งภาษีตัวนี้ประกาศออกมาโดยมีเป้าหมายมุ่งตรงไปที่กลุ่มคนที่มีอสังหาฯ ในชื่อของตัวเองมากกว่า 1 แห่ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคอนโดหลังที่ 2 ให้เช่า มีบ้านหลังที่ 2, 3, 4 (ไม่ใช่บ้านเล็กบ้านน้อยนะ) หรือมีที่ดินว่างเปล่าที่ไปกว้านซื้อเอาไว้แต่ปล่อยให้รกร้างไม่ทำอะไร เพื่อรอเก็งกำไรในวันที่ราคาที่ดินพุ่งเอาพุ่งเอา
รวมไปถึงผู้ที่มีบ้านของตัวเอง มีชื่อของตัวเองเป็นเจ้าบ้านเพียงหลังเดียว แต่มีราคาเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป คนกลุ่มนี้ก็เข้าเกณฑ์การจ่ายภาษีด้วย ซึ่งมันก็คงไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนรายได้หลักหมื่นธรรมดาๆ แน่นอนที่จะมีบ้านราคาครึ่งร้อยล้านบาทไว้อยู่อาศัย ก็ต้องเป็นคนมีสตางค์ หรือเป็นเศรษฐีพอสมควรถึงจะครอบครองบ้านราคาขนาดนี้ได้
ดังนั้นภาษีดังกล่าวนี้จะไม่กระทบไปถึงคนทั่วไปที่มีบ้านหรือคอนโดที่อยู่อาศัยเองในราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งก็คือคนทำงานมีรายได้แบบเดือนชนเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ ส่วนใครที่รู้ตัวว่าเข้าเกณฑ์ก็ต้องวางแผนค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมถึงฐานภาษีตรงนี้เอาไว้ให้ดีด้วย
ทีนี้ลงรายละเอียดให้ลึกลงไปอีกหน่อย โฟกัสไปที่กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ทั้งสร้างบนที่ดินตัวเองและบนที่ดินคนอื่น มันจะมีเกณฑ์แยกย่อยดังนี้
ในกรณีที่มีบ้านหรือคอนโดฯ ที่แม้จะซื้อด้วยตัวเราเอง แต่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นๆ ตรงนี้ชัดเจนแล้วว่าที่อยู่อาศัยนั้นจะถูกนับเป็นบ้านหลังรอง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเสียภาษีแม้ราคาประเมินจะกี่บาทก็ตาม แต่หากมีชื่อในทะเบียนบ้าน (บ้านหลังหลัก) ก็ต้องมาดูต่อว่า เป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว หรือเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
หากเป็นถ้าเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว ซึ่งหมายถึงเราสร้างบ้านบนที่ดินคนอื่น เช่นที่ดินเช่า ที่ดินบ้านจัดสรร หากราคาประเมินน้อยกว่า 10 ล้านบาท จะไม่ต้องเสียภาษี
แต่ถ้ามากกว่า 10 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี และถ้าเป็นที่ดินและบ้านหลังหลัก กรณีราคาประเมินน้อยกว่า 50 ล้านบาท จะไม่ต้องเสียภาษี ส่วนกรณีมากกว่า 50 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี
มาต่อกันที่ประเด็นการคำนวณว่าที่อยู่อาศัยในแต่ละรูปแบบจะต้องเสียภาษีอย่างไร? เสียกันเท่าไหร่? มีรายละเอียดการคำนวณง่ายๆ โดยจะแยกระหว่างบ้าน กับคอนโดฯ ดังนี้
🔴ภาษีบ้าน : แบ่งเป็น 2 กรณี ภายใต้เงื่อนไขของการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นๆ ได้แก่
🔸 เป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
🔸 เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
1
🔴บ้านพร้อมที่ดิน
🔸 ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
🔸 50-75 ล้านบาท คิดภาษี 0.03 %
🔸 75-100 ล้านบาท คิดภาษี 0.05%
🔸 มากกว่า 100 ล้านบาท คิดภาษี 0.1%
1
🔴บ้านเท่านั้น
🔸 ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
🔸 10-50 ล้านบาท คิดภาษี 0.02%
🔸 50-75 ล้านบาท คิดภาษี 0.03%
🔸 75-100 ล้านบาท คิดภาษี 0.05%
🔸 มากกว่า 100 ล้านบาท คิดภาษี 0.1%
 
🔴คอนโดฯ
มีหลักการคำนวณภาษีที่ซับซ้อนกว่า เพราะต้องใช้ข้อมูลทั้งการประเมินราคา ขนาดของพื้นที่ แล้วใช้สูตร คำนวณตามประเภทการถือครองคอนโดฯ เพื่อหาจำนวนเงินภาษีที่จะต้องจ่ายจริงๆ โดยมีสูตรดังนี้
1
(ราคาประเมินต่อตารางเมตร x ขนาดพื้นที่ห้องชุด) = (มูลค่าของคอนโดฯ x อัตราภาษีแบบขั้นบันได)
โดยมีการจำแนกประเภทของคอนโดฯ ออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีเงื่อนไขในการคิดภาษีดังนี้
🔸 คอนโดฯ หลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษี
🔸 คอนโดฯ หลังที่ 2 เป็นต้นไป ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้คิดภาษีทั้งหมดไม่มีส่วนยกเว้น
🔸 คอนโดฯ ปล่อยเช่า จะคิดภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
แต่อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นบทความ ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน คนก็จะงงๆ กันหน่อย แต่ถึงอย่างไรในปีต่อๆ ไปการเก็บภาษีก็น่าจะกลับมาตรงรอบของมันซึ่งไม่เกินเดือนเมษายนของทุกๆ ปี หลังจากที่มีการยื่นภาษีเงินได้ภายในเดือนมีนาคม
อีกทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่จำเป็นต้องจ่ายตูมเดียวทั้งหมดก็ได้ หากว่ารู้สึกมันใช้เงินเยอะและหนักเกินไป เพราะสามารถผ่อนชำระได้ด้วย อย่างเช่นในปีนี้มีการให้ผ่อนชำนะเป็น 3 งวด ได้แก่ สิงหาคม กันยายน และงวดสุดท้ายในเดือน ตุลาคม แต่นั่นหมายความว่าจะต้องจ่ายของเดือนสิงหาคมก่อนภายในวันที่ 31 นี้ ไม่เช่นนั้นก็จะจ่ายของเดิมที่ค้างชำระ
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะต้องจ่ายภาษีนี้จริงๆ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องจ่ายทั้งหมด ส่วนบ้านไหนคือคอนโดฯ ไหนที่ปล่อยเช่าอยู่ ก็จะเสียภาษีเท่ากับที่อยู่อาศัย แทนที่จะเสียเท่ากับประเภทพาณิชยกรรมซึ่งภาษีแพงกว่า เพราะอย่าลืมว่าการทำธุรกิจบ้านเช่าหรือปล่อยห้องให้เช่า มันคือการสร้างรายได้ เมื่อมีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษี ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจอื่นๆ แต่เพียงแค่เป็นการจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำด้วยเงื่อนไขการเป็นที่อยู่อาศัยนั่นเอง
ดังนั้นอย่าลืมสำรวจตัวเองนะว่ามีเอกสารส่งมาถึงบ้านหรือยัง ถ้ามีให้รีบไปจัดการให้เรียบร้อยที่ และต้องตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ได้รับแจ้งให้จ่ายภาษีขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด เช่น สำนักงานเขต เทศบาล อบต. หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นที่กำหนด เช็คก่อนดีๆ จะได้ไม่ไปเสียเที่ยวนะ
โฆษณา