27 ส.ค. 2020 เวลา 15:53
ประเพณีทิ้งกระจาด (ซิโกว)
ตั้งแต่อดีตกาลมา สังคมไทย เป็นสังคมที่อยู่อย่างบ้านพี่เมืองน้อง ช่วยเหลือเกื้อกูล หยิบข้าวแลกหยิบปลา แลกของกันเหมือนสิ่งของเป็นค่าเงิน สมัยก่อนวัตถุมีค่าและใหญ่กว่าเงิน การแบ่งปันของซึ่งกันและกันเป็นเรื่องของน้ำใจ ไม่ใช่มองเงินทองเป็นของต้องมี ต่างจากสังคมในยุคปัจจุบันที่เมื่อมีเงินทองใช้เป็นตัวแปร ก็เกิดการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น เกิดความขัดแย้งต่างๆนานา ส่งผลให้วัฒนธรรมไทยแบบเดิมเริ่มหายไป ความเป็นเครือญาติ ญาติสนิท มิตรสหาย เริ่มลดน้อยถอยลง เหลือแต่ความโดดเดียว แย่งชิง อีกทั้งยังเกิดสังคมของการอวดอ้าง แสดงอิทธิพลเป็นตัวนำ การช่วยเหลือกันเป็นตัวตาม
1
อย่างไรก็ตามประเพณีที่สำคัญในเดือน 7 ตามปฏิทินจีน (ตั้งแต่ 1 ค่ำ เดือน 7) ซึ่งโดยปกติจะอยู่ประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน ของทุกปี หรือเราเรียกว่าเดือนของเทศกาลสาทรจีน ที่หลายคนมักจะพูดถึงเดือนปล่อยผี ในทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานจะเป็นเดือนของการปล่อยดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้วให้ออกมารับส่วนบุญส่วนกุศล ดังนั้นในเดือนนี้อาจจะเรียก “เดือนแห่งมหากุศลทาน” เพราะโดยทั่วไปเดือนนี้จะมีการทำบุญครั้งใหญ่ของชาวพุทธนั่นคือประเพณี “ทิ้งกระจาด” หรือ “ซิโกว”
ประเพณีทิ้งกระจาด เป็นประเพณีของชาวพุทธนิกายมหายาน โดยการทำบุญอุทิศให้ดวงวิญญาณร่วมที่ล่วงลับไปแล้ว กับการแจกทานให้ผู้ที่ยังมีชีวิตแต่ยากไร้
การจัดประเพณีทิ้งกระจาดของแต่ละศาลเจ้ามักจะเป็นการกระทำ 2 ส่วน คือส่วนของการไหว้เจ้าที่อยู่ในศาล หรือเจ้าประจำศาลนั้น และในอีกส่วนหนึ่งคือการไหว้ผู้เสียชีวิตที่ไร้ญาติขาดมิตร (ผีไม่มีญาติ) หรือที่บางศาลเจ้าจะทำพิธีล้างป่าช้าแล้วนำวิญญาณมาไหว้
1
หลังจากการไหว้ผีไม่มีญาติ (ฮ้อเฮียตี๋) ส่วนของที่นำมาใช้ไหว้ส่วนนี้เรามักจะนำไปแจกจ่ายแก่ผู้มารับทาน ทำให้เรายังสามารถมองได้ว่าสิ่งที่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันยังมีอยู่ ผ่านการทำบุญด้วยการแจกทานที่ผู้ใหญ่หลายๆท่านเรียกการทำบุญประเพณีซิโกว ว่าเป็นการทำบุญใหญ่
ในสมัยพุทธกาล พระอานนท์ทรงเล่าเรื่องที่มีเปรตมาปรากฏตัวให้เห็น ให้แก่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงทรงแนะนำพระอานนท์ให้ทำการสะเดาะเคราะห์ให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม โดยการแผ่อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เปรตและดวงวิญญาณต่างผ่านการสวดมนต์และแจกจ่ายสิ่งของแก่ผู้ยากไร้
7
การจัดของไหว้ในปัจจุบันขอแบ่งงานออกเป็น 2 ประเภท โดยประเภทที่ 1 องค์เทพเจ้าเป็นองค์ที่ทานเจ เช่นองค์เจ้าแม่กวนอิม องค์ฮุกโจ้ว หรือองค์ฮั่วท้อเซียนซือ ฯลฯ ของที่จัดไหว้ในพิธีแบบจัดอาหารเจถวายทั้งส่วนที่ไหว้เทพเจ้า และไหว้ผีไม่มีญาติ ประกอบด้วยผลไม้ 5อย่าง ฮกก๊วย อั่งก๋วยท้อ (เจ) เจไฉ่(แห้ง) ขนมจันอับ น้ำชา น้ำเปล่า ชุดเพ้า (เสื้อผ้า) และชุดกระดาษไหว้
ส่วนประเภทที่ 2 คือองค์เทพเจ้าอื่นๆ เช่น ที่ตี่แป่บ้อ องค์แปะกง องค์เจ้าพ่อปึงเถ่ากง-ปึงเถ่าม่า ฯลฯ ของที่จัดไหว้ประกอบด้วย ชุดเครื่องไหว้ หมู เป็น ไก่ (ซาแซ) หัวหมู ผลไม้ 5 อย่าง ฮกก๊วย อั่งก๋วยท้อ สุรา น้ำชา น้ำเปล่า ขนมจันอับ กับข้าวแบบใส่เนื้อสัตว์ ขนมเปี๊ยะโต๊ะมิ่ง ชุดเพ้า (เสื้อผ้า) และชุดกระดาษไหว้
*** ข้อสังเกตของไหว้ที่เป็นเจ ไม่มีเนื้อสัตว์ เรามักจะไม่จัดสุราถวาย จัดเพียงน้ำชา และน้ำเปล่า เท่านั้น
ประเพณีทิ้งกระจาดในส่วนที่ 1 คือการจัดของเพื่อไหว้เทพเจ้าในศาลเจ้าในช่วงเช้า หรือการอัญเชิญเจ้ามาที่ประรำพิธี ของไหว้จะจัดตามความเหมาะสมของเทพเจ้าองค์นั้นๆ
ส่วนที่ 2 คือการจัดไหว้องค์ไต่ซือเอี๊ยะ (ท้าวอมฤตราช) และไหว้ฮ้อเฮียตี๋ (ผีไม่มีญาติ) ชุดของไหว้องค์ไต่ซือเอี๊ยะหรือที่ผู้ใหญ่บางท่านจะเปรียบท่านกับยมบาล ชุดของไหวจะเป็นชุดไหว้ทั่วไป อาทิเช่น ชุดหมู เป็ด ไก่ หัวหมู ผลไม้ 5 อย่าง ฮกก๊วย อั่วก๊วยท้อ ชุดเจไฉ่(แห้ง) ขนมเปี๊ยะโต๊ะมิ่งติดชื่อ สุราขาว น้ำชา น้ำเปล่า อย่างละ 12 ถ้วย กับข้าว เสื้อผ้า (เพ้า)ชุดใหญ่ 1 ชุด ชุดเล็ก 5ชุด ชุดกระดาษไหว้เจ้า และของไหว้ 5 ธาตุ ประกอบด้วย ข้าวสาร เหลือ ถ่านดำ ผักกาดขาว และน้ำเปล่า
ส่วนของไหว้ฮ้อเฮียตี๋ หรือที่เรียกว่า “แปะแซ่กงม่า” ชุดของไหว้ประกอบด้วยชุดหมู เป็ด ไก่ หัวหมู ผลไม้ 5 อย่าง ฮกก๊วย อั่วก๊วยท้อ กับข้าวและของหวาน ใส่เป็นหม้อ ข้าวสวยแล้ววางเต้าหู้แปะบนกระจาดข้าว ผัดหมี่ สุราขาว 3 ขวด น้ำชา น้ำเปล่า ถ้วยใส่สุรา อย่างละ 12 ถ้วย บุหรี่ยาเส้น หมากพลู ไม้ขีด ขนมขบเคี้ยว ขนมเด็ก น้ำอัดลม นม ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือ กระดาษไหว้ที่ร่วมกับพับเป็นเข่งใหญ่ ทั้งคอซี กิมจั๊ว โกวอี ภูเขาเงิน ภูเขาทอง ภูเขาใบเบิกทาง ภูเขาเส้นหมี่ ภูเขาผักบุ้ง ชุดเสื้อผ้ากระดาษ และชุดของที่จะใช้แจกทาน อาทิเช่นข้าวสาร ปลากระป๋อง น้ำตาล น้ำปลา นม ขนม ฯลฯ
*** ข้อสังเกต เวลาตั้งของไหว้ส่วนของแปะแซกงม่า จะจัดกองทราย เพื่อใช้ในการปักธูป เนื่องจากการจุดธูปเพื่อปักไม่ต้องนับจำนวน และปักธูปครั้งละเป็นกำ
เมื่อจัดพิธีไหว้เสร็จเรียบร้อยพิธีตอนบ่ายเป็นพิธีที่ทุกคนทุกท่านมารอ นั่นคือพิธีทิ้งกระจาด หรือพิธีหว่านทาน โปรยทาน โดยผู้ใหญ่เล่าว่าในกสมัยก่อนการโปรยทาน หรือหว่านทาน จะขึ้นไปชั้นสูงแล้วหยิบสิ่งของที่ทำบุญโยนสิ่งของลงมา เหมือนโปรย หรือหว่าน แล้วชาวบ้านก็เบียดเสียดกันเพื่อรับสิ่งของ และเกิดอันตราย ในภายหลังจึงมีวิธีในการแจกสิ่งของต่างๆนานา เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น เช่นอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จะวิธีการโยนติ้ว หรือโยนไม่เพื่อแสดงรายการสิ่งของที่แต่ละคนจะได้รับ จากนั้นนำติ้วที่ตนเองได้รับไปรับของจากกรรมการผู้จัดงาน หรืออำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ทั้งศาลเจ้าพ่อปึงเถ่ากงม่าแก่งคอย และสุสานฉื่อฮุ้ง เขาพระแก่งคอย จะเน้นที่การแจกข้าวสาร โดยการให้เข้าแถวเรียงกับ เพื่อความเป็นระเบียบ จากนั้นจะมีการแจกบัตรคิว เมื่อถึงเลขที่ของตนเองก็ออกมารับข้าวสาร พร้อมชุดของที่ทางกรรมการจัดใส่ถุงไว้ให้
ตัวอย่างประเพณีทิ้งกระจาดและแจกทาน
ประเพณีทิ้งกระจาดของมูลนิธิแก่งคอยเมตตาธรรม
ประเพณีทิ้งกระจาดของมูลนิธิแก่งคอยเมตตาธรรม ทุกปีจะจัดขึ้นในวัน 17 ค่ำ เดือน 7 ของปฏิทินจีน ซึ่งในปีพ.ศ.2563 จะจัดขึ้นในวันที่ 4 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาทางมูลนิธิแก่งคอยเมตตาธรรมจะจัดพิธีเป็น 2 ส่วนคือพิธีไหว้เทพเจ้าในช่วงเช้า ทางมูลนิธิได้ใช้สถานที่เป็นสุสานฉื่อฮุ้ง เขาพระแก่งคอย เป็นสถานที่ในการแจกทาน ภายใต้การดูแลจัดงานของประธาน รองประธานฝ่ายสุสาน ผู้จัดการสุสาน และกรรมการมูลนิธิฯ
ซึ่งคณะกรรมการของมูลนิธิฯ เกิดจากการคัดเลือกทุก 2 ปี โดยการเลือกตั้งจากประชาชนชาวตลาดแก่งคอย จำนวน 45 ครัวเรือน เพื่อเป็นตัวแทนชาวตลาดแก่งคอยมาทำหน้าที่บริหารมูลนิธิ โดยมูลนิธินี้ดูแลในส่วนของโรงเรียนจิ่นเต๊อะแก่งคอย สุสานฉื่อฮุ้ง เขาพระ แก่งคอย และวิหารท้าวมหาพรหมมหามุนี
การจัดงานของมูลนิธิประกอบไปด้วยการไหว้เทพเจ้าที่ปกปักสถานที่แห่งนี้คือ ทีกงทีม่า องค์แปะกง ตี่จู้เอี๊ยะ และองค์ไต่ซื้อเอี๊ยะ การจัดของไหว้
ส่วนของไหว้ฮ้อเฮียตี๋ แปะแซะกงม่า หรือไหว้ผีไม่มีญาติ ที่เราตั้งของไหว้กับพื้นหลังกองทราย ประกอบด้วย
หลังจากการตั้งไหว้ฮ้อเฮียตี๋เรียบร้อยแล้ว อาหารที่ผ่านการลาจากการไหว้แล้วก็นำมาแจกจ่ายกรรมการมูลนิธิ และผู้ที่มารับแจกทาน ในช่วงพิธีบ่าย ทางมูลนิธิฯทำการแจกทานแก่ประชาชนที่มารับแจกทาน ซึ่งทางมูลนิธิจัดแจกข้าวสาร 5 กิโลกรัม เป็นหลัก ส่วนสิ่งของอย่างอื่นที่ใช้ในการแจกทานเกิดจากประชาชนชาวตลาดแก่งอยบริจาคเพื่อนำมาร่วมไหว้และแจกทานกับผู้มารับทาน อาทิเช่น ชุดยาสามัญประจำบ้าน มาม่า น้ำดื่ม ปลากระป๋อง และรองเท้า ฯลฯ
ระบบของการแจกทานของทางมูลนิธิแก่งคอยเมตตาธรรมคือการใช้บัตรสีมาเป็นเครื่องมือในการแบ่งชุดการรับของ และการรันด้วยตัวเลข ซึ่งจะเชิญผู้สูงอายุ คนพิการ มารับก่อน ส่วนผู้ที่ร่ายกายปกติจะต้องรอเรียกลำดับของตน ส่วนเด็กถ้าข้าวสารเหลือจากการแจกผู้ใหญ่ถึงจะได้รับ แต่เด็กจะได้รับในส่วนของขนมและของแจกอื่นๆ
ด้วยสถานการณ์โคโรน่าไวรัสยังพบการระบาดและยังไม่สงบ ดังนั้นการแจกทานในปีนี้ทางมูลนิธิฯจะจัดทำการแจกเฉพาะประชาชนในอำเภอแก่งคอย ต้องมีบัตรประชาชนมารับด้วยตัวเอง ซึ่งแบ่งตามชุมชน ชุมชนละ 30 ครัวเรือน และมีการแบ่งรอบการแจกด้วยการจัดสรรตามชุมชน เพื่อลดการแออัดของผู้มารับแจกของ
โฆษณา