28 ส.ค. 2020 เวลา 04:17 • การศึกษา
ตามปกติที่เราคุ้นเคยกัน...ม.ปลายของโรงเรียนทั่วๆไปก็จะแบ่งเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ แล้วก็สายอื่นๆอีกไม่มากนัก หรือบางโรงเรียนมีพัฒนาการแบ่งละเอียดออกไปตามความถนัดของเด็ก แบบเจาะจงมากขึ้น...ก็มีเจ็ดแผนแปดแผน บางโรงเรียนมีมากกว่ายี่สิบแผนก็มี...แต่
ผมเห็นข่าวว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะมีชั้นม.ปลายเป็นปีแรกและ...จะไม่มีแผนการเรียน ???
หมายความว่าทุกคนเรียนเหมือนกันหมดเลยเหรอ...เปล่าจ้า ตรงกันข้ามเลย...ที่นี่จัดแผนการเรียนแบบคนต่อคน ที่นักเรียนร้อยคน อาจจะมีแผนการเรียนร้อยแผนไม่ซ้ำกันเลยก็เป็นไปได้...
เฮ้ย เค้าทำได้ไงอ้ะ...ผมในฐานะดูเรื่องนโยบายการศึกษา จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้เสียแล้ว ต้องไปดูให้รู้แจ้งเห็นจริง...จึงยกหูโทรหาท่านคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่เป็นต้นสังกัดของโรงเรียนแห่งนี้...
อ.อ้อ ดร.อนุชาติ พวงสำลี ท่านก็ให้ความกรุณาผมเหมือนเช่นเคย...ท่านช่วยประสานจนผมและทีมการศึกษาพรรคกล้าได้เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนสาธิต มธ.ในเวลาอันรวดเร็ว...
ความรู้สึกแรกที่ได้เข้าร่วมประชุมกับทีมครูและผู้บริหารโรงเรียนคือ...คนหนุ่มสาวไฟแรง ฉลาด เก่ง รู้จริงมีประสบการณ์จริง พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ทีมผมอย่างกระตือรือร้น...เวลาสองชั่วโมงครึ่งที่พูดคุยกัน จึงผ่านไปอย่างรวดเร็วและได้อะไรมาเยอะมาก...
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งมาปีนี้เพิ่งเป็นปีที่สี่เอง...เมื่อสามปีที่แล้วรับนักเรียนม.1 แล้วก็เติบโตมาเรื่อยๆ จนปีนี้นักเรียนรุ่นแรกจบม.3 เลยได้บุกเบิกเป็นม.ปลายรุ่นแรก...โดยไม่มีการรับนักเรียนจากภายนอกมาเข้าตอนม.4 แม้แต่คนเดียว...
1
ปรัชญาในการสอนของที่นี่...เขาให้ความสำคัญกับบรรยากาศการเรียนรู้มาก และเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันที่ดี เป็นทีม จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี...ที่นี่ดูแลเด็กอย่างละเอียดเป็นรายบุคคล แล้วไม่ใช่แค่ตัวเด็กแต่รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย...
ครูเข้าใจว่าตัวเองจะสอนอะไรเพื่ออะไรและอย่างไร ตัวเด็กก็ต้องเข้าใจด้วย และพ่อแม่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าลูกกำลังเรียนอะไรอย่างไรมีเป้าหมายอย่างไร
อะไรที่ดูเหมือนไม่มีคำอธิบายชัดๆ ที่นี่จะตัดออกไปให้มากที่สุด...เรื่องทรงผม ที่นี่จะปล่อยตามสบายแต่ก็สอนให้รู้จักความเหมาะสม...เรื่องชุดนักเรียน ก็ให้แต่งเฉพาะจันทร์กับพฤหัส...เพราะในธรรมศาสตร์มีตลาดนัดในสองวันนั้นมีคนพลุกพล่าน ก็ขอให้แยกแยะนักเรียนของตัวเองได้ง่ายหน่อย
1
“ม.ต้นเน้นหลากหลาย ม.ปลายเน้นลงลึก”...เป็นปรัชญาข้อนึงของโรงเรียนนี้...
แต่ความหลากหลายของม.ต้น ก็ไม่ได้แปลว่าหลากหลายซะจนสะเปะสะปะ...เขาก็มีหมวดหมู่ของสิ่งที่ต้องเรียนครอบเอาไว้ด้วย...ลองดูได้ตามรูปครับ
พอขึ้นม.ปลาย...คำว่าเรียนแบบ tailor made...แผนการเรียนสั่งตัดแบบคนต่อคน เขาทำได้ยังงี้...
สองในสามของวิชาเรียน เขาจะให้กับการเรียน academic เหมือนม.ปลายทั่วไป ก็พวกคณิตศาสตร์ ...ส่วนอีกหนึ่งในสาม ตรงนี้คือเรื่องสนุก...
เขามีกลุ่มวิชาเลือก 6 กลุ่มด้วยกัน (ดูตามรูป) คล้ายๆที่เราเรียกว่าเลือกเสรีอะไรประมาณนั้น แต่เขามีหลากหลายและเสรีในการเลือกจริง...ครูที่ปรึกษา หนึ่งท่านดูแลนักเรียนสิบคน ก็จะให้คำปรึกษานักเรียนเป็นรายคนเลย...โดยดูจากความชอบ ความถนัด ความฝันของนักเรียน ปรึกษาหารือกันแล้วก็จะออกมาว่า...นักเรียนควรเรียนอะไรบ้าง...
1
นักเรียนที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องเรียนอะไรบ้างในกลุ่มวิชาเลือก...ต่างจากนักเรียนที่อยากเป็นนักออกแบบภายใน ก็ต้องเรียนไม่เหมือนนักเรียนที่อยากเป็นนักกฎหมาย...โดยการเลือกก็ไม่ได้แปลว่าต้องเลือกแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สามารถผสมกันได้ ในสัดส่วนของใครของมัน...
ดูๆไปก็คล้ายการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเลย คือทุกคนมีตารางเรียนของตัวเอง...
อีกอย่าง ม.ปลายที่นี่ไม่ได้ผลักดันเด็กต้องจบเป็นรอบปีๆไป อย่างปีนี้เรียนม.4 ปีหน้าต้องเรียนม.5...แต่มันเป็นไปแต่ละเวลาของแต่ละคน และก็ไปได้ที่เด็กที่นี่จะจบม.ปลายใน 2 ปี...
แต่จริงๆแล้วครูก็ไม่ได้อยากให้เด็กรีบจบ คือถ้าเด็กทำได้ตามตัวชี้วัดในเวลาอันรวดเร็ว ครูก็จะบอกว่าไม่ต้องรีบหรอก รู้ในระดับที่ผ่านตัวชี้วัดแล้ว ก็ใช้เวลาให้มันรู้ลึกกว่านั้นดีมั้ย...
1
ได้คุยกับครูรุ่นใหม่พวกนี้แล้วผมก็ได้แง่คิดมาหลายอย่าง...
...ที่นี่ให้เด็กรับผิดชอบวินัยด้วยตัวเอง ซึ่งค่อนข้างได้ผลดีเพราะ...ถ้าเป็นโรงเรียนอื่นๆหลายๆโรงเรียน เด็กมีหน้าที่มาเป็นเป้าให้ครูสอน เป็นหมอนให้ครูยัดความรู้ใส่ เหมือนยัดนุ่น...การมาโรงเรียนของเด็กแบบนั้นจึงเป็นความทุกข์...
แต่ที่นี่ได้ปลูกฝังให้นักเรียนรู้ตัวว่ามาทำอะไร ไม่ได้แค่มาเรียนหนังสือแต่มาพัฒนาตัวเอง...เพราะฉะนั้นพวกหนูจึงตั้งใจมาอยากให้ครูช่วยพัฒนาพวกเรา...
ทุกชั่วโมงนักเรียนจะเป็นฝ่ายมานั่งรอครูอยู่เสมอ...
อ้อ มีกิมมิกเชิงจิตวิทยาซึ่งก็ได้ผล...ก่อนเปิดเทอมม.ปลาย นักเรียนทุกคนต้องเขียนคำปฏิญาณของตัวเองว่า ตัวเองอยากพัฒนาอะไรอยากเรียนรู้อะไรเป้าหมายคืออะไร...เซ็นชื่อ แล้วพ่อแม่กับครูก็ต้องเซ็นรับรู้ด้วย...
อีกเรื่องที่ครูพูดขึ้นมาแล้วผมก็เห็นด้วย...การวัดผลว่าที่ได้เรียนรู้กันมานั้น นักเรียนรู้จริงทำได้จริงแล้วหรือยัง...มันมีวิธีวัดผลมากกว่าหนึ่งอย่าง...การทำข้อสอบ การเล่าให้ฟัง การเขียนเป็นรายงาน การทำชิ้นงานให้เห็น...แต่ทั่วไปจะใช้การทำข้อสอบเป็นตัวชี้วัดแบบเดียว...ซึ่งมันไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับทุกการเรียนรู้
และการทำข้อสอบหลังๆนี่ก็เลอะเทอะไปใหญ่ จากการวัดว่านักเรียนได้รู้ได้เข้าใจจริงมั้ย กลายเป็นการทดสอบแบบ speed test ไปซะยังงั้น...ซึ่งตรงนี้แหละ เป็นช่องว่างให้ธุรกิจติวเตอร์งอกงาม
คำพูดของครูอีกอย่างที่ผมชอบคือ...ที่จริงแล้วตัวชี้วัด มันควรทำหน้าที่เพื่อชี้ว่าตรงไหนที่บกพร่องจะได้เอาไปพัฒนาให้ถูกจุด...แต่ตัวชี้วัดแบบที่ใช้กันทั่วไปกลับใช้แค่เป็นตัวตัดสินว่าผ่านมั้ยผ่าน ผ่านดีแบบดีเลิศเลยมั้ย แล้วก็เอามาโอ้อวดกัน...พ่อแม่อวดระหว่างพ่อแม่ โรงเรียนอวดกันระหว่างโรงเรียน...
ช่วงท้ายๆของการสนทนา คุณครูก็พูดอย่างถ่อมตัว...ปีนี้ก็เป็นปีแรกของม.ปลาย เราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราเตรียมการมาสามปี มันจะได้ผลอย่างที่คิดมากน้อยแค่ไหนแต่ก็ไม่ประมาท เรามีการติดตามวัดผลจากเด็กอย่างใกล้ชิด และก็เชื่อว่ามันจะได้ผลดี เราจะผลิตเด็กที่มีคุณภาพออกสู่สังคมแน่นอน...
...ครับ ผมและทีมการศึกษาพรรคกล้าก็เอาใจช่วยครับ...
1
โฆษณา