5 ก.ย. 2020 เวลา 23:06 • ท่องเที่ยว
ช๐๔๙_ วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก
ตัวอย่างแห่งการอนุรักษ์ ตอนที่ ๑
ดั้น
...๏กลางคามวาวแสงกล้า..เจิดอิน
พระเจ้าพันองค์ริน.............รดฟ้า
สมรูปลออบิน....................พาดฝั่ง
คั้นธรรมเร่งเดินคว้า...........ทันกัปป์ ฯ
2
โคลงชมวัด
รูปวิหารพระเจ้าพันองค์ สมัยก่อนที่จะบูรณะ จากหนังสือเมืองโบราณ ขอขอบคุณ
...จริงๆการไปลำปางครั้งนี้(กลางปี2558) เกิดจากการได้อ่านหนังสือของการบูรณะวัดปงสนุกหลังจากนั้นไม่นานนักก็มีเพื่อนชวนกันไปดูวัดที่ลำปางกัน ผมแวะมาลำปางครั้งหนึ่งเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ด้วยเป็นทางผ่านไปทำงานจากกรุงเทพไปเชียงราย พอดีคนขับรถของบริษัทฯในสมัยนั้นเป็นคนลำปาง ก็เลยใช้เวลาไม่มากนักประมาณสักชั่วโมงเศษในเมือง แวะไปวนไปเพื่อดูวัดอยู่สักห้าหกวัดรายละเอียดปลีกย่อยก็แทบจำไม่ได้ เป็นวัดพม่าเต็มรูปแบบสองวัด นานจนลืมไปหมดแล้ว
...จนในพศ.นี้หลังจากลงเครื่องทานข้าวกัน
เสร็จ เจ้าถิ่นคนลำปางก็เริ่มพาไปที่วัดปงสนุกนี้และวัดปงสนุกวัดเดียวนี้ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการมาครั้งนี้ ด้วยเป็นวัดที่ควรค่าน่าภูมิใจในแง่มุมของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของคนลำปางและของชุมชนเอาทีเดียว เราได้เห็นการสืบต่อของชิ้นงานสถาปัตยกรรมศิลปะกรรมที่คนในปัจจุบันทำได้เช่นคนในอดีต ซึ่งจริงผมแทบไม่ต้องพูดหรือยกเหตุผลขึ้นมาก็ได้ด้วยที่นี่มีรางวัลทางสถาปัตยกรรมและอื่นๆ หลากหลายรองรับคุณค่านั้นอยู่แล้ว
...ต้นทางของวัดนี้มีอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคสมัย พศว.13 เจ้าเมืองลำปางเจ้าอนันตยศซึ่งเป็นรุ่นลูกของพระนางจามเทวี สร้างไว้อาจจะสร้างในรุ่นสร้างเมืองลำปางหรือเขลางค์นคร จนต่อมาอีกรุ่นหนึ่งมีบันทึกว่าเป็นที่ตั้งรับศึกขุนพะงั่วในยุค พศว.20และได้ชัย ยุคตั้งอยุธยาใหม่ขุนพะงั่วเป็นนักรบที่ตีฝ่าสุโขทัยจนขึ้นมาถึงแถวนี้เลย และในยุคนี้มีกล่าวกันว่าตำแหน่งนี้เป็นศูนย์กลางของเมือง และสันฐานของวัดก็มีลักษณะที่ถมดินพูนขึ้นมาเป็นเป็นเนินน้อยหรือม่อนน้อย เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว จนในยุคของท่านกาวิละในสมัยต้นรัตนะ ไปรบกับพม่าที่เชียงแสนเมื่อรบชนะแล้วก็ต้อนชาวเชียงแสนมาที่ลำปาง และกลับมาตั้งบ้านเรือนตั้งชุมชนกันที่บริเวณนี้ ชาวเชียงแสนกลุ่มนี้เดิมที่อยุ่ที่เชียงแสนอยู่ในพื้นที่วัดปงสนุก(ชื่อพ้อง)ที่เชียงแสน ก็เลยกลายมาเป็นที่ไปที่มาของชื่อวัดนี้ที่ลำปางจากการเคลื่อนย้ายของชุมชน ประวัติศาสตร์ในยุคตั้งบ้านเรือนของอยุธยา(ขุนพะงั่ว) มาต่อเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเมืองลำปางอีกหลายครั้งเป็นเรื่องที่พวกเรามีความรู้เรื่องพวกนี้น้อยมาก โดยเฉพาะขุนพะงั่วผู้นี้มีชื่อปรากฎในหลักฐานในจารึกของทั้งสุโขทัยและชุมชนล้านนาในหลายที่หลายแห่งมากทีเดียว แต่ไม่ใช่ชื่อของกษัตริย์วีรบุรุษแบบภาพพจน์ของอยุธยา
...๏อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ
แต่ในวันหนึ่งถ้าคุณตื่นขึ้นมา
โดยไร้รากเหง้า
คุณจะเป็นอะไรและคุณคือใคร
คุณอยากให้วันหนึ่ง
คุณหรือลูกหลานเป็นเช่นนั้นหรือ
...๏วันก่อนผมได้อ่านหนังสือบางๆเล่มนี้
ซ้ำเป็นรอบที่สอง
เรื่อง”ปงสนุก
คนตัวเล็กกับการอนุรักษ์”
...๏วัดปงสนุกเป็นวัดเก่าแก่ในลำปาง
สืบสมัยมาแต่ยุคพุทธศตวรรษที่ 13-14
ยุคพระนางจามเทวี
ซึ่งก็เป็นยุคเดียวกันกับ
พระธาตุลำปางหลวง
...๏จุดเริ่มของการอนุรักษ์ปงสนุก
เกิดจากวัดและชุมชน
ซึ่งเป็นการเกิดของวิถีคิด
และการกระทำดีดีที่เกิดขึ้น
...๏ผมก็นึกถึงการต่อยอด
จากการรู้สึกรับผิดชอบร่วมในชุมชน
ประเพณีที่ลึกซึ้ง
ที่ผู้คนด้านนอกอาจจะสัมผัสไม่ถึง
นักเรียนนักศึกษา
สถานศึกษาในชุมชนและในภูมิภาค
ก็เป็นสดมส์ที่สอง
ต่อจากชาวบ้านที่เป็นศูนย์ของศรัทธา
...๏บางทีเราเอะอะอะไรกัน
ก็จะไปพูดถึงระบบราชการ
ที่ต้องมาเอื้อต้องรอให้กรมศิลป์
หรือกรมศาสนามาตีความตัดสิน
และก็รอแต่งบเงินหลวง
พูดถึงว่าทำไมคนนั้นคนนี้ไม่ทำ
...๏และโยนความรับผิดชอบ
ของชุมชนตลอดจนตนออกไป
ผมกำลังนึกถึงวัดหรือโบราณสถาน
ทั้งประเทศที่ชุมชนสามารถลุกขึ้นมา
พูดกระทำและดูแลรากเหง้าของตนเองได้
โคลงชมวัด
ต่อตอน๒ พรุ่งนี้ครับ
โฆษณา