30 ส.ค. 2020 เวลา 05:20 • สุขภาพ
แพทย์แผนไทยกับ COVID-19 – บทความวิชาการ
ได้มีการกล่าวถึงแพทย์แผนไทยกับ COVID-19 โดยมีข้อมูลเรื่อง “โรคห่า” กันอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงการใช้ฟ้าทะลายโจรในแบบภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย การศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
“โรคห่า” ในพระคัมภีร์ตักศิลา
“สิทธิการิยะ จะกล่าวถึงเมืองตักกะศิลา เกิดความไข้วิปริตเมื่อห่าลงเมือง ท้าวพระยาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง เกิดความไข้ล้มตายเป็นอันมาก ซึ่งคนที่เหลือตายอยู่นั้นออกจากเมืองตักกะศิลาไป ยังเหลือแต่เปลือกเมืองเปล่า...”
ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า ชื่อโรคในสมัยโบราณไม่ได้มีความหมายตรงกับลักษณะโรคตามความรับรู้ของปัจจุบันเสมอไป เช่น
- “โรคมะเร็ง” ที่ปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพนฯ และจารึกวัดราชโอรสาราม รวมถึงตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะมีความหมายไม่ตรงกับโรคมะเร็งหรือ Cancer ในปัจจุบัน
- หรืออย่างกรณีของ “โรคป่วง” ในจารึกตำรายาก็มีลักษณะโรคระบบทางเดินอาหาร
- หรือ “โรคเรื้อน” ที่อยู่ในพระคัมภีร์กุฏฐโรคก็ไม่ได้หมายความเพียงโรคเรื้อนที่เกิดจากการติดเชื้อ เป็นต้น
คำว่า “ห่า” ใน สัพะพะจะนาพาสาไทย ของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ได้ให้ความเป็นภาษาอังกฤษว่า Plague และ อักขราภิธาน ของหมอบรัดเล ก็ระบุว่า ความไข้ประจุบัน ตายเร็ว, เกิดมีชุมนัก เช่น ไข้ลงรากนั้น จะเห็นว่าคำว่า “โรคห่า” เป็นคำที่หมายความถึงโรคปัจจุบันที่ระบาดแล้วทำให้มีคนตายคราวละมาก ซึ่งอาจเกิดจากฝีดาษ อหิวาตกโรค กาฬโรค หรือโรคอื่นก็ได้
ซึ่งถ้าหากว่าตีความตามความหมายนี้ พฤติการณ์ของ COVID-19 ก็คือ “โรคห่า” ที่กำลังลงเมืองไทย
COVID-19 กับไข้พิษไข้กาฬ
อาการของ COVID-19 ที่พบบ่อยที่สุดคือ
มีไข้ (ร้อยละ ๘๘)
ไอแห้ง (ร้อยละ ๖๘)
อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง (ร้อยละ ๓๘)
ไอแบบมีเสมหะ (ร้อยละ ๓๓)
หายใจลำบาก (ร้อยละ ๑๘)
เจ็บคอ (ร้อยละ ๑๔)
ปวดศีรษะ (ร้อยละ ๑๔)
ปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ ๑๔)
หนาวสั่น (ร้อยละ ๑๑)
อาการที่พบน้อยลงมาคือ
คลื่นไส้และอาเจียน (ร้อยละ ๕)
คัดจมูก (ร้อยละ ๕)
และท้องเสีย (ร้อยละ ๔)
อาการที่ไม่ใช่สัญญาณโรค คือ “น้ำมูกไหล”
จะเห็นว่าอาการของ COVID-19
ยังไม่ได้เข้ากันกับลักษณะ “ไข้เหนือไข้พิษไข้กาฬ” ในพระคัมภีร์ตักศิลาที่จะมีลักษณะ
“...ไข้เกิดในกายให้ผุดเป็นแผ่นเป็นเม็ดแดงดำเขียวก็ดี เป็นทรายไปทั่วตัวก็มี...” ที่เป็นลักษณะของไข้ที่ออกผื่นทั้งหลายดังที่ได้กล่าวเอาไว้ในพระคัมภีร์มหาโชตรัตว่า “...ถ้าเตโชธาตุกล้าเดินเกินปรกติเมื่อใด โลหิตนั้นร้อนทนมิได้ก็ผุดขึ้นมานอกผิวหนัง แพทย์ทั้งปวงสมมุติว่าเม็ดกำเดา ลากสาดปานดำแดงแลกาฬทั้งปวงนั้นก็คือโลหิตนั้นเอง...”
- อาการไม่ได้เข้ากันกับ “ไข้กาฬ ไข้ลากสาด” ที่จะมีลักษณะ “
...ลางทีกระทำพิษภายในให้ลงเป็นโลหิต ไอเป็นโลหิต ให้อาเจียนเป็นโลหิต เป็นเสมหะโลหิตเน่าก็มี ผุดขึ้นมาเหมือนลายต้นกระดาดก็มี ผุดขึ้นมาเป็นทรายขาวทั้งตัวก็มี ลายเหมือนงูลายสาบก็มี ลายเหมือนสายเลือดก็มี ลายเหมือนดีบุกก็มี...”
- หรืออาการของ “ไข้ประดง” “ไข้ฝีกาฬ” “ไข้กระโดง” หรือแม้แต่ “ไข้กำเดา” ก็ยังไม่ได้เข้ากันนัก เนื่องจากไข้เหล่านี้จะมีอาการผุดออกผื่นหรือก้อนฝีอย่างใดอย่างหนึ่ง
- และอาการของไข้หวัดน้อยและไข้หวัดใหญ่ ที่จะมีอาการ “..ให้ไอให้จาม น้ำมูกตกเป็นกำลัง...” ก็ยังไม่คล้ายนักเพราะว่า COVID-19 นั้นส่วนใหญ่อาการ “น้ำมูกไหล” ไม่ใช่สัญญาณของโรค
- ส่วนอาการของ “ไข้ทั้งสามฤดู” ที่เกิดในยามเปลี่ยนแปลงฤดูกาลซึ่งมักจะ “...อาการมีต่างๆ ให้นอนละเมอฝันร้ายแลเพ้อไป ย่อมเป็นหวัดมองคร่อ หิวหาแรงมิได้...” ก็ยังมิได้ชัดเจนนักว่าจะเป็นประเภทเดียวกัน เพราะว่า “หวัดมองคร่อ” เป็นอาการที่มีไอจามน้ำมูกตก เมื่อนานเข้าแล้วลงปอดเป็นมองคร่อคือเสมหะมากและหอบ
โดยสรุปแล้ว COVID-19 นั้นเป็นโรคระบาดที่แม้ว่าจะมีพฤติการณ์คล้ายดัง “โรคห่า” ที่กล่าวถึงในพระคัมภีร์ตักศิลา แต่ว่าอาการที่เป็นไม่ได้เข้ากันกับอาการของโรคในพระคัมภีร์ตักศิลามากนัก
แนวทางในการวินิจฉัยโรคและการวางแผนการรักษาจึงน่าจะไม่ได้เหมือนกันกับในพระคัมภีร์ตักศิลาทั้งหมด ควรจะต้องใช้แนวทางของสมุฏฐานวินิจฉัยร่วมในการวินิจฉัยและการรักษาด้วย
สมุฏฐาน COVID-19 ทางการแพทย์แผนไทย
อาการของโรค
- อาการเกิดรวดเร็วปัจจุบันหลังจากได้รับเชื้อก่อโรคเมื่อสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เป็นโรคประมาณ ๒ – ๑๐ วัน
- อาการเริ่มต้นที่มีไข้ตัวร้อน ไอแห้ง อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง หายใจลำบาก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น
- ครั้นเมื่อโรครุนแรงขึ้นก็จะมีอาการไข้สูง ไอ หายใจขัด แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ
สมุฏฐานวินิจฉัย
๑. โรคนี้เป็นปัจจุบันโรค เกิดจากพิษรุกรานจากภายนอกที่ก่ออันตรายให้เสียดแทง ร่างกายจึงต้องมีสิ่งที่เข้ามาขับล้างทำลายสิ่งรุกรานก็คือ “เตโช”
พระคัมภีร์ฉันทศาสตร์ได้กล่าวเอาไว้ว่า “...อนึ่งจะกล่าวสอน กายนครมีมากหลาย ประเทียบเปรียบในกาย ทุกหญิงชายในโลกา ดวงจิตรคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์ ข้าศึกคือโรคา เกิดเข่นฆ่าในกายเรา ... ให้ดำรงกระษัตริย์ไว้ คือดวงใจให้เร่งยา อนึ่งห้ามอย่าโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย ปิตฺตํ คือวังหน้า เร่งรักษาเขม้นหมาย อาหารอยู่ในกาย คือเสบียงเลี้ยงโยธา...”
๒. เตโชกำเริบ อาการเกิดเริ่มต้นที่เตโชมิได้กระทบมาจากธาตุอื่นใด เกิดเป็น “ชาติเตโช”
- เกิดเป็นอาการ “ไข้เพื่อปิตตะ” มีอาการไข้ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มักสะท้านให้ร้อนหนาว เจ็บคอ คอแห้งร้อนผะผ่าว ร้อนหน้าร้อนปากขื่อจมูก แต่เหงื่อไม่ออก เป็น “ไข้พิษกำเดา” จากเตโชกอง ปริทัยหัคคี ทำให้มีอาการร้อนระส่ำระสาย ร้อนจนต้องพัดวี ร้อนจนต้องชโลมตัวด้วยสตโธตสัปปิ (เนยใสอันชำระร้อยครั้ง) และโคสีตจันทน์ (น้ำไม้จันทร์เย็นผสมด้วยน้ำนมโค)
- หากอาการรุนแรง มีอาการมึนซึมไม่รู้สึกตัว คลั่งเพ้อละเมอ
๓. วาโยกำเริบ เตโชที่กำเริบไปกระทบให้วาโยธาตุกำเริบ เกิดเป็น “จรณวาโย” แล้วไปทำให้ปิตตะมีกำลังกล้าขึ้นไปอีก
- เกิดเป็นอาการ “ไข้เพื่อวาตะ” มีอาการหนาวสะท้าน คอแห้งปากแห้ง ไข้มักขึ้นในปากคอ หายใจหน้าอกขัด
- กำเดาโลหิตกำเริบกระทบวาตะเกิดอาการลมร้อนตีขึ้นเบื้องสูง มีอาการตัวร้อนนอนมึนงง ปวดมึนตึงศีรษะเหมือนจะแตก ร้อนหน้าร้อนตาร้อนหูร้อนคอ
- หากกระทบหทัยวาตะ มีอาการใจสั่นหน้ามืดวูบวาบ แน่นหายใจไม่สะดวก
- หากกระทบสุมนาวาตะ มีอาการปวดเมื่อยอ่อนล้า เกร็งกระตุกเป็นตะคริว
- หากอาการรุนแรง มีอาการละเมอเพ้อพก นอนสะดุ้งหวาดไป
๔. อาโปพิการ เตโชที่กำเริบไปกระทบให้อาโปธาตุพิการ เกิดเป็น “จรณอาโป”
- กำเดาโลหิตกำเริบ เลือดหนืดข้นทำให้ไหลเวียนกำซาบไม่สะดวก เกิดอุระเสมหะและคูถเสมหะพิการ ทำให้มีอาการไม่มีแรงอ่อนเพลียปวดเมื่อย ไตขับของเสียได้ไม่ดีเกิดกรีสะคั่งค้าง อุระเสมหังแห้งเกิดเป็นประเมหะจับเหนียวในปอดมีอาการคอแห้งเสลดเหนียวข้นไปด้วยคูถเสมหะ หายใจลำบาก ให้หอบให้สะอึก
๕. ปับผาสังพิการ เตโชวาโยอาโปกำเริบพิการตกปฐวี เกิดเป็น “จรณปฐวี”
- เกิดเป็นอาการ “ปับผาสังพิการ” มีอาการไข้สูงตัวร้อนจัด ร้อนอกกระหายน้ำ หอบเหนื่อยหายใจลำบาก
หลักการรักษา
๑. ธาตุใดสมุฏฐานใดกำเริบให้รักษาที่ธาตุนั้นสมุฏฐานนั้นก่อน
- ไข้เพื่อปิตตะ กำเดาโลหิตกำเริบ ใช้ยาประธานรสเย็น ตัวยารสขม จืด เย็น
๒. ธาตุใดสมุฏฐานใดพิการรักษาธาตุนั้นสมุฏฐานนั้นมิให้แปรปรวน
- ไข้เพื่อวาตะ ลมร้อนตีขึ้นเบื้องสูงกระทบหทัยวาตะและสุมนาวาตะ ใช้ยาประธานรสร้อนแต่ต้องไม่ร้อนมากเพราะกระทบไข้ตัวร้อนจะทำให้ปิตตะกำเริบ ตัวยารสขมร้อน ร้อนสุขุม
- อุระเสมหังพิการ ประเมหะจับเหนียวในปอด ใช้ยาประธานรสสุขุม ตัวยารสเปรี้ยว เมาเบื่อ ขม
๓. ธาตุใดสมุฏฐานใดเป็นเหตุรักษาธาตุนั้นสมุฏฐานนั้นไว้อย่าให้เสีย
- ปริทัยหัคคีกำเริบ เกิดพิษกำเดาระส่ำระสาย ใช้ยารสขม เมาเบื่อ
๔. รักษาก่อนตกสันนิบาตปฐวีธาตุพิการ บำรุงรักษาธาตุเดิมเอาไว้อย่าให้เสีย
ฟ้าทะลายโจรกับการรักษา COVID-19
การแพทย์แผนปัจจุบันวิเคราะห์การออกฤทธิ์ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรตามปริมาณสารที่สำคัญในสมุนไพร ซึ่งคือสารกลุ่ม Lactone ได้แก่ Andrographolide แต่ทางการแพทย์แผนไทยวิเคราะห์การออกฤทธิ์ของยาตามรส ที่แสดงถึงโอชาของยา
- สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นตัวยารสขมเย็นจัด มีฤทธิ์ในทางแก้เตโชธาตุกำเริบปิตตะสมุฏฐานที่แปรปรวนโดยเฉพาะกำเดาที่ไหลเวียนไปกับโลหิต เมื่อกำเริบก็มีพิษทำให้ไข้ตัวร้อน
: แก้ไข้ ลดไข้ แก้อักเสบปวดเมื่อย
- อีกทั้งรสขมก็มีฤทธิ์ในทางแก้อาโปธาตุเสมหะสมุฏฐานพิการได้ด้วย
: แก้ร้อนในกระหายน้ำ เจริญอาหาร
- แต่ด้วยรสขมเย็นจัดจึงต้องระวังในการใช้ปริมาณมากหรือใช้ในเวลานาน ซึ่งอาจจะไปกระทบวาโยธาตุวาตะสมุฏฐานให้หย่อนพิการ
: กระทบหทัยวาตะทำให้ใจระส่ำระสาย กระทบสุมนาวาตะทำให้ปวดเมื่อยตึงเย็นชาแขนขาอ่อนแรง กระทบสัตถกะวาตะทำให้ท้องอืดแน่นเฟ้อ
ฟ้าทะลายโจรในการใช้แบบสมุนไพรเดี่ยว
ในการกินยาสมุนไพรตามสรรพคุณของตัวยาสามารถใช้ได้เบื้องต้นในอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ซับซ้อน
๑. ฟ้าทะลายโจร การกินเพื่อปรับปิตตะที่กำเริบในระยะแรกที่ไม่ได้มีไข้สูงและไม่ได้มีอาการที่ซับซ้อน คือ มีอาการไข้ตัวร้อน ปวดกล้ามเนื้อเมื่อยตามตัว อาจจะมีอาการเจ็บคอ คอแห้งบ้าง อาการนี้ไม่ได้จำเพาะสำหรับ COVID-19 เท่านั้นแต่สามารถเกิดขึ้นได้ในอาการไข้ตัวร้อนที่เป็นไข้เพื่อปิตตะ การใช้ฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเย็นจัดแก้พิษกำเดา ในการดูแลเบื้องต้นก็สามารถกระทำได้โดยการกินในขนาดที่ไม่ได้สูงมาก
- ใบหรือยอดฟ้าทะลายโจร สำหรับอาการไม่มากมีอาการไข้ตัวร้อน ปวดกล้ามเนื้อเมื่อยตามตัว ใช้ครั้งละ ๓ – ๕ ใบ ต้มหรือชงกับน้ำร้อนประมาณ ๑ แก้ว ดื่มวันละ ๔ เวลา หรืออาจจะเคี้ยวสดก็ได้
๒. ยาลูกกลอน สำหรับอาการที่เริ่มมีอาการไข้ตัวร้อน เจ็บคอ คอแห้ง ไอมีเสมหะมากขึ้น
- ใช้ใบฟ้าทะลายโจรล้างให้สะอาดผึ่งลมให้แห้งในที่ร่มที่มีอากาศโปร่ง บดเป็นผงละเอียดปั้นกับน้ำผึ้งเป็นยาเม็ดลูกกลอนขนาดประมาณเมล็ดพุดซาหรือปลายนิ้วก้อย (ขนาดประมาณแคปซูล ๕๐๐ มิลลิกรัม) เก็บไว้ในขวดแห้งและมิดชิด กินครั้งละ ๒ – ๓ เม็ด วันละ ๓ – ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
ฟ้าทะลายโจรในการใช้แบบยาตำรับ
การจัดตำรับยาเป็นสิ่งสำคัญถ้าหากว่ามีอาการที่รุนแรงหรือว่าซับซ้อนมากขึ้นที่ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาหรือมีตัวยาหลายตัวมาร่วมในการรักษาเพื่อแก้สมุฏฐาน กรณีฟ้าทะลายโจรถ้าหากเพิ่มตัวยามากก็มีอาการแทรกซ้อน ถ้าหากโรคมีอาการซับซ้อนก็ต้องใช้ยาหลายตัวมาจัดตำรับเพื่อแก้สมุฏฐาน
๑. ตำรับยา
ถ้าหากว่าต้องการใช้สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรเป็นตัวยาหลัก สมุฏฐานชาติปิตตะ กำเดาโลหิตกำเริบเกิดไข้เพื่อปิตตะ แล้วจรณะมีอาการวาตะแทรก แล้วไปกระทบเสมหะ ตำรับยารสเย็นเพื่อแก้ปิตตะสมุฏฐาน แต่ว่าเย็นต้องไม่มากให้ออกมาทางสุขุมเพื่อช่วยทางวาตะสมุฏฐานและแก้เสมหะสมุฏฐานด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- ฟ้าทะลายโจร ๑๒ ส่วน
- บอระเพ็ด ลูกกระดอม สิ่งละ ๒ ส่วน
- โกษฐ์สอ โกษฐ์เขมา โกษฐ์จุฬาลัมพา สิ่งละ ๑ ส่วน
- จันทน์แดง จันทน์ขาว สิ่งละ ๑ ส่วน
- ขิงแห้ง ลูกผักชี เทียนดำ สิ่งละ ๑ ส่วน
- พิมเสน รำหัด
บดเป็นผงละเอียดปั้นกับน้ำผึ้งเป็นยาเม็ดลูกกลอนขนาดประมาณเมล็ดพุดซาหรือปลายนิ้วก้อย (ขนาดประมาณแคปซูล ๕๐๐ มิลลิกรัม) เก็บไว้ในขวดแห้งและมิดชิด กินครั้งละ ๒ – ๓ เม็ด วันละ ๓ – ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
๒. กระสายยา
- ระบายพิษไข้รุพิษกำเดา ใช้ยาเขียวหอมละลายน้ำเป็นกระสายยา หรือน้ำต้มก้านสะเดาเป็นกระสายยา
- ไข้อึดอัดหายใจขัด ใช้น้ำต้มกระเทียม พริกไทย ขิง เป็นกระสายยา
- ไข้ระส่ำระสาย ใช้น้ำต้มรากบัวเป็นกระสายยา
- ไข้อ่อนเพลียเมื่อยล้าและลมปลายไข้ ใช้ยาหอมนวโกษฐ์ละลายน้ำต้มตรีผลามหาพิกัดแก้กองปิตตะเป็นกระสายยา
๓. ปรับธาตุบำรุงธาตุ
ตัวยาในมหาพิกัดหนักแต่สิ่งจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้เพื่อแก้ในกองธาตุที่กำเริบหย่อนพิการต่างกัน หรือใช้แก้ในโรคหลักโรคแทรกโรคตามที่ต่างกัน และจะมีน้ำหนักตัวยาในพิกัดที่กำหนดไว้ชัดเจน
มหาพิกัดที่ใช้สำหรับ "ปิตตะสมุฏฐาน" มีที่ใช้หนึ่งในนั้นคือมหาพิกัดตรีผลา อาการของ COVID-19 ที่ทางการแพทย์แผนตะวันตกเรียกว่าไข้หวัดแต่อาการทางการแพทย์แผนไทยเป็นอาการของไข้เพื่อปิตตะที่มี "พิษกำเดาในโลหิต" โดยที่อาการ “น้ำมูกไหล” ที่มาจากเสมหะสมุฏฐานไม่ใช่สัญญาณของโรค ดั้งนั้นตรีผลาที่ใช้จึงควรใช้มหาพิกัดตรีผลาที่แก้กองปิตตะ คือ
- ลูกสมอพิเภก ๑๒ ส่วน ลูกสมอไทย ๘ ส่วน ลูกมะขามป้อม ๔ ส่วน หรือจะเป็นส่วน ๓ : ๒ : ๑ ก็เป็นสัดส่วนเดียวกัน
วิธีการใช้มหาพิกัดตรีผลา
- ต้มดื่มเพื่อปรับภูมิคุ้มกัน ลูกสมอพิเภกน้ำหนัก ๓ บาท (๔๕ กรัม) ลูกสมอไทยน้ำหนัก ๒ บาท (๓๐ กรัม) ลูกมะขามป้อมน้ำหนัก ๑ บาท (๑๕ กรัม) ต้มในน้ำสะอาด ๒ – ๓ ลิตร ต้มจนเดือดแล้วปล่อยให้เดือดต่อไปอีกประมาณ ๓๐ นาที นำน้ำมาดื่มครั้งละครึ่งแล้ว (๑๒๐ มิลลิลิตร) วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหารเช้าเย็น อาจจะแต่งรสหวานด้วยน้ำตาลกรวดเล็กน้อยเพื่อให้ดื่มง่าย
- ต้มเพื่อเป็นน้ำกระสายละลายยา ลูกสมอพิเภกน้ำหนัก ๓ บาท (๔๕ กรัม) ลูกสมอไทยน้ำหนัก ๒ บาท (๓๐ กรัม) ลูกมะขามป้อมน้ำหนัก ๑ บาท (๑๕ กรัม) ต้มในน้ำสะอาด ๑ ลิตร ต้มจนเดือดแล้วปล่อยให้เดือดต่อไปอีกประมาณ ๓๐ นาที นำมาเป็นน้ำกระสายละลายยาครั้งละครึ่งแล้ว (๑๒๐ มิลลิลิตร)
ข้อควรระวัง
- น้ำตรีผลามีรสเปรี้ยวขมฝาด ในผู้ที่ธาตุเบาอาจจะมีอาการถ่ายท้องหลังจากดื่มน้ำตรีผลาได้ โดยปรกติแล้วจะหยุดถ่ายได้เองด้วยสรรพคุณของลูกสมอไทยที่ถ่ายรู้ปิดเอง แต่ถ้าหากมีอาการถ่ายท้องมากหรือถ่ายจนอ่อนเพลียก็ไม่ควรดื่มน้ำตรีผลา
การรักษาในระยะแรก สิ่งใดกำเริบให้รักษาสิ่งนั้นก่อน ในระยะแรกจึงต้องปรับปิตตะที่กำเริบก่อน เมื่อได้กินยาผ่านไปประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้วจะต้องประเมินอาการและสมุฏฐานที่อาจจะเปลี่ยนแปลงใหม่เพื่อปรับการรักษาอีกครั้ง
จักราวุธ เผือกคง
๕ เมษายน ๒๕๖๓
โฆษณา