30 ส.ค. 2020 เวลา 03:04 • ธุรกิจ
แบ่งปันหลักการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ด้วยเทคนิค Fish bone (ก้างปลา) และ Why why (ทำไมๆ)
Fish Bone Diagram
แผนภูมิก้างปลา
เทคนิค ก้างปลา (Fish bone)
แผนภูมิก้างปลา เป็นแผนผังที่แสดงสมมติฐานของความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ระหว่างสาเหตุหลายๆ สาเหตุ ที่ส่งผลต่อหนึ่งปัญหา ทั้งสาเหตุหลักและสาเหตุย่อย ซึ่งเทคนิคก้างปลานี้มักจะใช้ควบคู่ไปกับ เทคนิคการระดมสมอง ดังนั้น ข้อมูลที่เขียนอยู่ในก้างปลาจึงมักเป็นสมมุติฐาน ที่ต้องทำการตรวจสอบ เพื่อยืนยันเสียก่อนว่า สมมติฐานข้างต้นนั้น เป็นสมมติฐานที่ถูกต้องเป็นจริงเสียก่อน ที่จะดำเนินการนำสาเหตุเหล่านั้นมาทำการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อหาต้นตอของปัญหา ที่จะแก้ปัญหาให้หายขาดไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกต่อไป
ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ เทคนิค ก้างปลา
1. กำหนดปัญหาไว้ที่หัวปลา
2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ เช่น 4M (Man, Machine, Material & Method) หรือ 4P (Price, Product, Pleace & Promotion) เป็นต้น
3. ระดมสมองเพื่อระบุสาเหตุในแต่ละปัจจัย (ตั้งสมมุติฐาน)
4. พิสูจน์สมมุติฐาน หรือทุกๆสาเหตุที่ได้มาจากการระดมสมองว่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือไม่ ด้วยการลงไปตรวจสอบที่หน้างานจริง
5. ตัดสาเหตุที่ไม่เป็นจริงออกไป คงไว้เฉพาะสาเหตุของปัญหา ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อเท็จจริง
6. นำสาเหตุของปัญหานั้นๆ ไปวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อหาต้นตอของปัญหาต่อไป (เทคนิคที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึกคือ เทคนิคทำไมๆ หรือ Why Why
Why Why Analysis
การวิเคราะห์ด้วยเทคนิค ทำไมๆ
เทคนิค ทำไมๆ (Why why)
เทคนิค Why-Why analysis เป็นเทคนิคในการวิเคราะห์หาปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีขั้นตอน โดยการถาม “ทำไมๆ” จนกว่าจะค้นพบต้นตอสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทำให้การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ จากรูปเป็นลำดับวิธีวิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุ ที่จะเจาะลงลึกไปทีละขั้น จนกว่าจะค้นพบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำมาสร้างมาตรการในการแก้ไขปัญหา ที่จะทำให้ปัญหานั้นๆหายขาด ไม่กลับมาเกิดซ้ำอีก
ถามทำไมๆ เพื่อเจาะลึกไปถึงรากของปัญหา
ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ Why Why Analysis
การวิเคราะห์เชิงลึกด้วยหลักการ Why Why หรือ ทำไมๆ นี้ สาเหตุที่จะนำมา วิเคราะห์นั้นจะต้องเป็น ข้อเท็จจริง ที่ผ่านการทดสอบสมมุติฐาน ด้วยหลักการ 3 จริง คือ สถานที่จริง (Genba), ของจริง (Genbutsu) และ สถานการณ์จริง (Genjitsu) แล้วเท่านั้น โดยลำดับขั้นตอนการประยุกต์ใช้เทคนิค Why Why Analysis มีดังนี้
1. วิเคราะห์หาต้นตอของปัญหา โดยการถาม ทำไม ไปเรื่อยๆ จนเจอต้นตอของปัญหา ซึ่งบ่อยครั้ง การถามทำไม อาจมีคำตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ หรือ 1 สาเหตุของปัญหา
2. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยการถามกลับไป กลับมาว่า สิ่งนั้นๆ เป็นเหตุเป็นผล หรือมีความสอดคล้องกันหรือไม่ เป็นการทวนสอบเพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ของเราถูกต้อง และสอดคล้องกับปัญหาหลัก
3. นำสาเหตุของปัญหาที่เกิดจากการถาม ทำไมๆ มาสร้างมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ
4. นำมาตรการที่ได้ไปปฏิบัติจริงตามแผนงาน และติดตามผลลัพธ์ในการแก้ปัญหา
หลักการเบื้องต้น ในการตอบคำถาม เมื่อถาม Why หรือ ถามทำไม
1. อย่าคิดเองหรือตอบตาม EFG (Experience ประสบการณ์, Felling ความรู้สึก, Guess การเดา) โดยไม่ได้ลงไปทดสอบสมมุติฐาน เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง
2. ในระหว่างการระดมสมอง หลีกเลี่ยง การตอบคำถามทำไม ด้วยสาเหตุ หรือวิธีการแก้ไขที่คิดไว้มาก่อนหน้าแล้ว
3. ตอบตามข้อเท็จจริง แม้จะเข้าตัวก็ต้องยอม
4. คำตอบต้องเข้าข่ายทำให้ คิดต่อได้ มีจุดสำคัญ ในการปรับปรุงแก้ไขต่อ
5. ต้องเกี่ยวข้องกับ วิธีการหรือระบบ เป็นสำคัญ ไม่ตอบโดยการระบุนิสัย หรือพฤติกรรมของคน ด้วยการกล่าวโทษคนอื่น หน่วยงานอื่น หรือโทษฟ้าโทษดิน เช่น ขี้เกียจ ไม่ใส่ใจ เป็นต้น
6. ไม่ตอบคำถามแบบกำปั้นทุบดิน เช่น มันยาก ทำไม่ได้ เป็นต้น
ร่วมแบ่งปันมุมมองแบบลีน
Mr.Boat - เล่าเรื่องลีน
และ อีก 1 ช่องทางแบ่งปัน ที่...
Facebook Page Dr. Lean - หมอลีน
#Lean #ลีน #Fishbone #ก้างปลา #Whywhy #ทำไมๆ
โฆษณา