๒๖ การเว้นขาดจากบาป การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๑๘ เมษายน ๒๔๙๗
นโม ...
อารตี วิรตี ปาปา .....
ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย
๑. อารตี วิรตี ปาปา
แปลตามศัพท์ว่า เว้นขาดจากความชั่วและลามก เกิดจากเจตนาของใจ
ปาปา แปลว่า บาป
อารตี บังคับถึงเจตนา
สองศัพท์นี้รวมกัน แปลว่า เว้นทั่วและขาดจากความชั่ว ความลามก เว้นด้วยการประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้สะอาดบริบูรณ์ เว้นทั่วเว้นขาดจากความชั่วลามก
อีกนัยหนึ่ง อารตีตัวนั้น บังคับถึงเจตนาวิรัติ
พระองค์ทรงรับรองว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นแหละเป็นศีล
นี้ให้เว้นเสียอย่างนี้ เป็นอุบาสกอุบาสิกาต้องเว้นขาดดังนี้ ถึงจะเป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกาได้ เป็นภิกษุสามเณรนะพ้นมาแล้วจากความเป็นอุบาสกอุบาสิกา แต่ว่าต้องเป็นผู้เว้นหนักกว่าอุบาสกอุบาสิกา เพราะสูงขึ้นมาแล้ว จะเหลวไหลเลอะเทอะไม่ได้ บัดนี้ไม่ยอม ปรับโทษทีเดียว
๒. เว้นจากน้ำที่ทำให้บุคคลอื่นเมา
ได้แก่ สุรา เมรัย ที่ทำให้เมาทั้งหมด อันเป็นเหตุที่ตั้งของความประมาท ทั้งเบียร์ ทั้งเหล้าหวานใช้ไม่ได้ ยกเว้น ถ้าดื่มเป็นกระสายยา เจตนาดื่มสุราไม่มี เพียงเพราะจะแก้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น หญิงจะคลอดบุตร จำเป็นต้องดื่มสุราเป็นยาแก้ตกเลือด เพราะหายาอื่นไม่ได้ เพื่อป้องกันอันตรายของชีวิต ใช้ในการปรุงอาหาร ใส่ให้เนื้อยุ่ย หรือสิ่งอื่นที่เจือสุรา โดยรสและกลิ่นไม่ปรากฏและเจตนาดื่มสุราไม่มี เช่นนี้บริโภคได้ ไม่มีโทษ
“การดื่มสุรานะไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้ายนะ สุรามันเกิดขึ้นในประเทศใด ประเทศนั้นย่อยยับหนา สุรามันไปติดอยู่กับคนใดละ คนนั้นก็ย่อยยับหนา หญิงก็ดี ชายก็ดี ติดสุราดื่มสุราละก็ย่อยยับหนา เอาตัวรอดไม่ได้”
เพราะเหตุใด?
เพราะสุราเมื่อดื่มเข้าไปแล้วนะ ทำคนดี ๆ ให้เป็นคนเสีย คนสติดี ให้เป็นคนสติเสีย คนอารมณ์ดี ให้เป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียว
ภิกษุดื่มเข้าไปแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ดื่มเข้าไปศีลขาดหมด
“สติดี ๆ ทำให้เผลอตัวไปเสียแล้ว ทำให้ไม่รู้ตัวเสียแล้ว ไม่รู้จักบิดามารดา ไม่รู้จักสมณพราหมณ์ ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ ดื่มสุราเข้าไปแล้ว เห็นช้างเท่าหมูทีเดียว นี่ร้ายนัก เขาเรียกว่าฆ่าตัวเองทั้งเป็น ทำลายตัวเองอย่างดื้อ ๆ ฆ่าตัวเองทั้งเป็นน่ะเพราะอะไร? ตัวเองดี ๆ ทำให้เป็นคนเสีย ตัวเองบริสุทธิ์ บริบูรณ์อยู่ ทำให้ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ กลายเป็นคนบ้าเสียแล้ว”
ท่านจึงได้กล่าวว่า ให้เว้นจากน้ำที่ทำให้บุคคลผู้อื่นเมา
๓. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
การไม่ประมาท รวมพระไตรปิฎกไว้ทั้งหมด คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก
การไม่ประมาทจึงกินความกว้างขวางนัก ครอบไว้ซึ่งความดีในสกลพุทธศาสนาหมดทั้งสิ้น ตั้งแต่หยาบไปถึงละเอียด
ไม่ประมาทเสียหายในการงานหน้าที่ ไม่เผลอสติในกิจการทั้งปวง ตั้งแต่เรื่องทำนาทำสวนทำไร่ ทำราชการ ค้าขายไม่ขาดทุน มีเสมอกับกำไรเป็นเบื้องหน้า
ไม่ประมาทในการรักษาตัว อนามัยเรื่องอาหารสำคัญต่อร่างกาย เพราะอาหารเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ คัน ตึง ขัดยอก ร้อนตัว จึงอย่าเผอเรอในเรื่องอาหารที่เข้าที่ออกในทางมุขทวาร และมีใจสอดเข้าไประวังอยู่ในทางข้างใน จึงจะฉลาดในอนามัย ไม่ให้มีทุกข์ในอวัยวะร่างกาย
“เหตุว่าการฉลาด รักษาตัวเช่นนี้ ต้องคนมีปัญญา คนโง่ ๆ รักษาไม่ถึง คนมีปัญญา รักษาถึง รักษาตัวเช่นนี้ โรคภัยไข้เจ็บไม่ใคร่มี”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
อาโรคฺยปรมา ลาภา* การไม่มีโรคนี้แหละเป็นลาภอย่างยิ่ง
เพราะการมีโรค จะประกอบอาชีพการงานอันใดไม่สำเร็จ การปกครองก็ไม่สำเร็จ การเล่าเรียนก็ไม่สำเร็จ
ไม่ประมาทในการละทุจริต ทำสุจริตให้เกิดมี ละความเห็นผิด ทำความเห็นถูกให้เกิดขึ้นทั้งกาย วาจา ใจ
ความไม่ประมาทขั้นปัญญาละเอียด
ไม่ประมาทในการทำใจหยุดนิ่ง ทำใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมใสบริสุทธิ์ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดนิ่งเห็นดวงใสนั้นไม่ปล่อย ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน เว้นไว้แต่หลับ ไม่ให้ใจหลุดเลย
ไม่ประมาทเช่นนี้ ได้ชื่อว่า เป็นคนฉลาด มีความเพียรก้าวหน้า ไม่ถอยหลัง จะเข้าถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เห็นกายมนุษย์ละเอียด จนถึงกายอรหัตละเอียด
“เพราะมนุษย์ปุถุชนเหลวไหล เลินเล่อ เผลอตัว มีเงินสักเล็กน้อยก็เทกระเป๋าใช้กันเสียอย่างฟุ่มเฟือยทีเดียว ไม่รู้ว่าตัวโง่ถึงขนาดนี้ จึงได้ลำบาก เป็นนายเงินไม่ได้ ต้องเป็นบ่าวเงินร่ำไป”
“เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว ปล่อยธรรมเสียแล้ว ก็ทำใหม่ต่อไป อย่างนั้นจะเป็นธรรมสามี จะเป็นเจ้าธรรมไม่ได้ จะต้องเป็นบ่าวธรรม แบบหาเงินนั่นแหละ ต้องปฏิบัติร่ำไป พอเข้าถึงธรรมแล้วยึดเอาไว้ไม่ปล่อยทีเดียว จนกระทั่งถึงที่สุดทีเดียว อย่างนี้เรียกว่าธรรมสามี” (ธรรมสามี แปลว่า ผู้เป็นเจ้าของธรรม)
“พระศาสดาเป็นธรรมสามีและเป็นเจ้าธรรม พระอรหันต์ขีณาสพเมื่อไม่ปล่อยธรรม เช่นนี้เรียกว่าธรรมสามี ไม่ปล่อยธรรมเช่นนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าธรรมหมวดไหน หมู่ไหน ดวงไหน เมื่อเข้าถึงแล้วเป็นไม่ปล่อยกันทีเดียวเด็ดขาด อย่างนี้ชายก็เรียกว่า ชายสามารถ หญิงก็เรียกว่า หญิงสามารถ จะเป็นที่พึ่งแก่ตัวและบุคคลอื่นทั่วไปในอัตภาพชาตินี้”
เมื่อไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ก็ไปนิพพานได้แล้ว ในทางโลกก็เช่นกัน ประกอบการงานที่ไหนสวมธรรม ๓ ประการนี้เข้าไป ก็ทะลุทุกสิ่งทุกประการในการงานนั้น ๆ
*การเขียนที่ถูกต้องของ อาโรคฺยปรมา ลาภา
[คำอ่าน : อา-โรก-คะ-ยะ-ปะ-ระ-มา, ลา-พา]
“ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง”
(ม.ม. ๑๓/๒๘๑, ขุ.ธ. ๒๕/๔๒)
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๙๐ - ๙๒
โฆษณา