๒๗ จิตของผู้ที่โลกธรรมกระทบแล้ว ไม่หวั่นไหว
เป็นจิตไม่ยินร้าย เป็นจิตไม่ยินดี เป็นจิตเกษม
๒๕ เมษายน ๒๔๙๗
นโม ...
ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ ...
นี้เป็นคาถาสุดท้ายในมงคลสูตร ๓๘ มงคลสูตร จัดเป็นบาลีคัมภีร์ใหญ่ เป็นเหตุเครื่องถึงซึ่งความเจริญอันสูงสุดในธรรมวินัยของพระบรมศาสดา
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายกระทำซึ่งมงคล ๓๘ ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงซึ่งความสวัสดีเรื่อยไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด
๑. จิตของผู้ที่โลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอิฏฐารมณ์ที่ปรารถนา และเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ เป็นอนิฏฐารมณ์ที่ไม่ปรารถนา
จิตเป็นตัวยืน โลกธรรมทั้งหลายเป็นตัวจร มีอยู่คู่โลก ถ้าโลกนี้มีอยู่ตราบใด ก็มีอยู่ตราบนั้น เป็นของประจำอยู่ทั่วไปแก่มนุษย์และสัตว์ ไม่หายไปไหน และไม่ใช่ของใคร จึงเรียกตัวจร
ผู้ที่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ก็มีท่าหลีกเลี่ยงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ต้องบังคับจิต ตั้งจิตเสียให้ดี จึงจะต่อสู้กับโลกธรรมได้
ตั้งจิตให้ดีจะตั้งตรงไหน ?
ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เริ่มต้นก็หมั่นเอาใจจรดอยู่ตรงนั้น ทั้งนั่ง นอน เดิน กิน ดื่ม ฯลฯ แรก ๆ ยังไม่ค่อยอยู่ ก็จรดต่อไป หนักเข้าก็อยู่เอง
“พอใจหยุดเสียได้เท่านั้นแหละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ ไม่กระทบกระเทือนแล้ว เฉยเสียแล้วล่ะ ไม่อาดูรเดือดร้อนด้วยอิฏฐารมณ์ - อนิฏฐารมณ์แล้ว”
“ถ้าจิตเป็นขนาดนี้แล้ว บุคคลนั้นถึงซึ่งความสูงสุดแล้ว ถึงซึ่งมงคลแล้ว เข้าถึงซึ่งเนื้อหนังมงคลแล้ว บุคคลนั้นเป็นตัวมงคลขึ้นแล้ว นี้อยากได้มงคล ต้องทำอย่างนี้นะ ถ้าว่าอาดูรเดือดร้อนไปตามอิฏฐารมณ์ - อนิฏฐารมณ์เป็นอัปมงคลแท้ๆ”
“อัปมงคลไม่ใช่เป็นแต่ฆราวาส หญิงชายนะ ภิกษุสามเณรเหมือนกัน พอสงบไม่ลง ทำใจหยุดไม่ได้ ก็เป็นอัปมงคลแท้ ๆ เมื่อรู้เช่นนั้น ต้องเพียรทำใจ ให้หยุดเข้าซี หยุดได้เวลาใด ก็เป็นมงคลเวลานั้น”
๒. จิตไม่ยินร้าย (อโสกํ) คือ จิตไม่โศก
โศก แปลว่า ความผาก ความแห้ง
โศก จะมีกับจิตของบุคคลใด เพราะอาศัยใจ
“หยุด พอใจหยุดเข้าไปเวลาใด เวลานั้นโศกผอมลงไปทันที”
4
โศกนี้จะเกิดเวลาใด?
เวลาพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ จากญาติพี่น้อง หรือตายจากกัน พอโศกเกิดขึ้นใจก็แห้งผาก หมดแรง ต้องแก้ไขทันที ทำใจหยุดเสีย
“พอใจหยุดเสียเท่านั้นแหละ ไม่ยักโศกแต่นิดเดียว โลกธรรมจะมากระทบสักเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่โศก เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ สักเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่โศก พลัดพรากจากเมีย ลูกสาว สักเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่โศก เพราะใจหยุดเสียแล้ว”
๓. จิตปราศจากความไม่ยินดี หรือความขุ่นมัว ปราศจากธุลี (วิรชํ)
เมื่อใจหยุดก็ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว
“ระวังตัว อย่าให้เศร้าหมองขุ่นมัวได้ ถ้าเศร้าหมองได้ เพราะตัวโง่ไม่ทันกับดวงจิต โง่กว่าดวงจิต ไม่ทำจิตให้หยุดเสีย”
- ถ้าจิตปล่อยให้อารมณ์เข้าไประดมได้ ทำจิตให้เศร้าขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ก็เท่ากับลงโทษตัวเอง
๔. เป็นจิตเกษม (เขมํ)
คือ จิตหยุดเสียได้ เป็นจิตผ่องใส เหมือนกระจกส่องเงา จิตดวงนั้นเป็นตัวมงคลแท้ ๆ
- ผู้ครองเรือนต้องการความมั่งมี ต้องอย่ากระทบกระเทือนใจกัน ทำใจให้ใส อยู่เป็นแดนเกษมเสมอไป
“ถ้าจิตหยุดเช่นนั้นเสียแล้วละก็ เงินน่ะไม่ต้องหายากหาลำบาก แต่อย่างไรหรอก ถ้าจิตผ่องใสขนาดนั้นแล้ว ไม่ต้องทำงานอะไรมากมายไปหรอก มันไหลเข้ามาเองนะ เงินน่ะไม่เดือดร้อน มีแต่เงินเข้า เงินออกไม่มีนะ ออกก็เล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ามามาก ผ่องใสอย่างนั้นละก็ นั่นตัวนั้นเป็นตัวสำคัญทีเดียว”
พอทำใจใสได้ ก็เป็นหนทางสู่มรรคผลนิพพานทีเดียว
ทำใจใสถูกส่วน ใจที่ใสอยู่แล้วขยายส่วนออกไป ใจหยุดนิ่งอยู่ที่กลางความใส หยุดในหยุด หยุดในหยุด ถูกส่วนเข้า เห็นดวงใสผุดขึ้นเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใจก็หยุดที่กลางดวงนั้น เรียก “ดวงศีล” ทำใจหยุดเข้าต่อไปถึงดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม และธรรมกาย
ใจหยุดเข้าถึงดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระโสดา สังโยชน์เบื้องต่ำหมดไป แต่กามราคะ พยาบาทยังมี
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระโสดาละเอียด
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระสกทาคา กามราคะ พยาบาทอย่างหยาบหมด แต่มีอย่างละเอียด
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระสกทาคาละเอียด
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระอนาคา กามราคะ พยาบาท ขั้นหยาบละเอียดหมดแล้ว เหลือแต่รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ในกายพระอนาคา
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระอนาคาละเอียด
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระอรหัต เป็นสมุจเฉทปหาน กิเลสไม่ติดเท่าปลายผม หมดกิเลสเท่านี้ พระอรหัตเสร็จกิจในพระธรรมวินัย
ใจหยุดกลางดวงทั้ง ๖ เข้าถึงธรรมกายพระอรหัตละเอียด เสร็จกิจในพุทธศาสนา หมดภพแล้วแค่นี้
"เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้วก็เป็นของไม่ยาก ของไม่ใช่ทำยาก แต่ว่าได้เพียรกันนักแล้ว ทำกันได้เห็นได้มากแล้ว โสดา สกทาคา อนาคา อรหัต ทำมาได้ก็จริง แต่ว่าไม่ติดไปติดอยู่แค่โคตรภูเท่านั้นเอง ที่จะติดโสดา สกทาคา อนาคา อรหัต ไม่ติดหลุดเสีย
เพราะเหตุอะไรจึงหลุดไป? มารเขาเอาละเอียดรองราดเสีย ไม่ติด กำลังแก้อยู่
ผู้เทศน์นี่แหละเป็นตัวแก้ละ กำลังแก้ รวมพวกแก้อยู่ทีเดียว แก้ไขอ้ายละเอียดเหล่านี้ให้หมดให้ได้ หมดเวลาใดแล้วก็ โสดาจะติด สกทาคาจะติด อนาคาจะติด อรหัตจะติด แล้วจะเหาะเหินเดินอากาศกันได้ทีเดียว ว่าไม่ช้านะ ไม่เกินสองพันห้าร้อยน่ะ คงจะสำเร็จกันแน่ ไม่คนใดก็คนหนึ่งละ”
เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหมดไปไม่ว่า เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน
“พอทำใจใสได้เท่านั้นแหละ เป็นหนทางไปสู่มรรคผลนิพพาน เณรฝรั่งทำใจหยุดใจใส จนกระทั่งถึงพระอรหัต ทำได้คล่องแคล่ว ไปตามโยมพ่อที่ตายไปแล้วตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ ตอนนี้มาเกิดเป็นลูกสาวเขาเสียแล้ว นี่เขาเป็นฝรั่งแท้ ๆ เขาทำได้ขนาดนี้เห็นไหมล่ะ ชั่วบวชเท่านั้น”
“พระก็ดี เณรก็ดี ทำจริงก็เป็นทุกคนเท่านั้นแหละ จริงแค่ไหนล่ะจะเป็นทุกคนน่ะ? จริงแค่ชีวิตสิ เป็นทุกคน จริงอย่างไรล่ะ นั่งลงไปประเดี๋ยวก็ได้รู้จริงกันละ นั่งลงไปเมื่อยเต็มที เอ้าเมื่อยก็เมื่อยไป ปวดเต็มที เอ้าปวดก็ปวดไป ทนไม่ไหว เอ้าไม่ไหวก็ทนไป ทนให้ไหว มันจะแตกก็แตกเดี๋ยวนี้ ดับให้มันดับเดี๋ยวนี้ ไม่ถอนเลย ให้เอาจริงเอาจัง เป็นทุกคนไม่ต้องสงสัยละ พระสิทธัตถะทำมาแล้ว เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหมดไปไม่ว่า เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน จะเอาของจริง ตัวไม่จริงแล้วจะได้อย่างไร”
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๙๓ - ๙๕
โฆษณา