2 ก.ย. 2020 เวลา 12:04 • ธุรกิจ
“บันทึกจากกมธ.งบประมาณ - เป็นเจ้าสัวเมืองไทยช่างดีเเสนดี ทำธุรกิจไม่มีโอกาสขาดทุน ถ้าขาดทุนรัฐบาลก็เเก้ไขสัญญาให้”
ในขณะที่ SMEs 1.2 ล้านรายยื่นขอพักชำระหนี้กับสถาบันการเงิน เพราะประสบปัญหาสภาพคล่อง [1] ในขณะที่คนเกือบ 4 ล้านที่เสี่ยงจะตกงาน ถูกลดเงินเดือน [2] แต่เจ้าสัวเมืองไทย กลับได้รับความอนุเคราะห์จากรัฐบาล เพื่อแก้ไขสัญญาให้ได้ประโยชน์หลักแสนล้านบาท ! [3]
ผมได้มีโอกาสสอบถามต่อ ผู้บริหาร การท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่เข้ามาชี้แจงในกมธ.งบประมาณ และได้สอบถามถึงเหตุและผลในการแก้ไขสัญญา กับกลุ่มทุน King Power ให้เปลี่ยนแปลง ผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) จากยอดรวม 23,548 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา 10 ปี เป็น ผลตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร [4] โดยอ้างอิงกับ ตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสาร ปี 2564 ณ วันที่เปิดประมูล Duty Free ซึ่งคือ 66 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นถึง 25% ภายใน 2 ปี (ตัวเลขผู้โดยสารจริง ปี 2562 คือ 53 ล้านคนต่อปี)
ด้วยเงื่อนไขของสัญญาและการประมูลวันนั้น คือกำหนดส่วนแบ่งรายได้คงที่ที่อัตรา 20% และให้บริษัทเอกชนยื่นประมูลแข่งขันกันที่ ผลตอบแทนขั้นต่ำ ว่าจะการันตีรายได้ให้รัฐที่ขั้นต่ำเท่าไหร่ ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขเเบบนี้ มันก็ย่อมหมายถึงว่า เอกชนรายนั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงทุกอย่างว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเท่าไหร่ ไม่ว่าสนามบินจะขยายได้ตามแผนหรือไม่ ประเทศไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เพิ่มหรือไม่ มีสถานการณ์บ้านเมืองอื่น ๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาหรือไม่มาหรือไม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่คาดการณ์ได้ยาก ผู้ชนะประมูลต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงตรงนี้ทั้งหมด ซึ่งก็คงเป็นความเสี่ยงเหมือนธุรกิจท่องเที่ยวของเอกชนรายอื่น
ซึ่งเเน่นอน เอกชนเเต่ละเอกชน ก็ประเมินความเสี่ยงที่เเตกต่างกัน ก็เลยยื่นซองประมูล ผลตอบแทนขั้นต่ำ ที่เเตกต่างกัน เพราะเเต่ละบริษัทประเมิน หรือคาดการณ์นักท่องเที่ยว ไม่เท่ากัน บางบริษัทคาดว่าจะเพิ่มเยอะ บางบริษัทคาดว่าจะเพิ่มน้อย บางบริษัทคาดการณ์ว่าสนามบินส่วนต่อขยายจะล่าช้า บางที่มองว่าศักยภาพนักท่องเที่ยวเมืองไทยได้เเค่นี้ หรือมากกว่านี้ นี่คือการคาดการณ์ในอนาคตทั้งสิ้น
ในขณะที่ ผลตอบแทนขั้นต่อต่อผู้โดยสาร จะทำให้เอกชนมีความเสี่ยงภายนอกได้น้อยที่สุด เพราะตัดความเสี่ยงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ยากออกไป เหลือเพียงความสามารถในการทำรายได้ต่อจำนวนผู้โดยสารของผู้ประกอบการเท่านั้น ดังนั้น ถ้ากำหนดเงื่อนไขการประมูลเป็น ผลตอบแทนขั้นต่ำต่อจำนวนผู้โดยสาร เอกชนแต่ละรายย่อมจะยื่นซองประมูลที่แตกต่างจากการให้ประมูล ผลตอบแทนขั้นต่ำรวม เพราะความเสี่ยงภายนอกที่ลดลง แต่เงื่อนไขนี้จะกลายเป็น รัฐหรือเจ้าของสัมปทาน ต้องกลายเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากจำนวนนักท่องเที่ยวแทนเอกชน!
ดังนั้น การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มาเเก้สัญญา คือเปลี่ยนจาก ผลตอบแทนขั้นต่ำยอดรวม มาเป็น ผลตอบแทนขั้นต่อต่อผู้โดยสาร เเบบนี้ ผลลัพธ์ที่แน่นอนจากการแก้ไขสัญญานี้คือ กลุ่มทุน king Power จะไม่มีความเสี่ยงขาดทุนจากความเสี่ยงเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ถ้าสถานการณ์ยังไม่กลับมาปกติ เพราะจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากจำนวนนักท่องเที่ยวอีกเลยตลอดระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้! โดยไม่สนใจว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ หรือจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วขนาดไหน
ถ้ามองมุมของเอกชน King Power ย่อมมีสิทธิในการยกเลิกสัญญาสัมปทานกับรัฐ เพราะมาตรการของรัฐบาลในการจำกัดนักท่องเที่ยวและบังคับกักตัว 14 วัน เป็นความเสี่ยงของมาตรการรัฐ ที่เอกชนไม่สามารถคาดการณ์และเป็นความเสี่ยงที่เอกชนไม่ควรต้องรับ และสามารถยกเลิกสัญญาได้อยู่แล้ว
แต่ประเด็นที่ รัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชน อย่าง AOT ใช้ดุลพินิจ แก้ไขสัญญา โดยไม่ยอมเปิดประมูล Duty Free ใหม่ ให้เอกชนรายอื่นๆ สามารถแข่งขันยื่นประมูลกันที่ ผลตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร แทนการแก้ไขสัญญาให้กับกลุ่มทุน King Power ตลอดอายุสัญญา 10 ปี นั้น ผมขอตั้งเป็นข้อสังเกตุและชวนทุกท่านตั้งคำถามครับว่า AOT ใช้ดุลพินิจอะไรมามั่นใจว่า ผลตอบแทนขั้นต่ำรายหัว ที่ AOT แก้ไขสัญญาให้กับกลุ่มทุน King Power นั้น เป็น อัตราผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร ที่ดีที่สุดสำหรับรัฐและผู้ถือหุ้น ตลอดระยะเวลา 10 ปี
และในเงื่อนไขของการแก้ไขสัญญานี้ ยังกำหนดอีกว่า ถ้าจำนวนผู้โดยสารกลับมามากกว่า 66 ล้านราย (ตามที่คาดการณ์ไว้ตอนประมูล) ให้กลับมาใช้ผลตอบแทนขั้นต่ำยอดรวมที่ 23,548 ล้านบาท แทน ผลตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร !!
คืออธิบายง่ายๆว่า ถ้านักท่องเที่ยวน้อย ให้ใช้ผลตอบแทนขั้นต่อผู้โดยสาร ไปได้เรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่นักท่องเที่ยวเยอะ ก็ให้กลับไปใช้ ผลตอบแทนขั้นต่ำยอดรวม แทน เงื่อนไขการแก้ไขสัญญาแบบนี้ มันช่างเป็นการแก้ไขสัญญาที่ใจดีต่อเอกชนเหลือเกิน คือ รัฐรับความเสี่ยงแทนเอกชนในช่วงนักท่องเที่ยวน้อย แต่ถ้านักท่องเที่ยวเยอะ รัฐกลับไม่ได้ประโยชน์ส่วนเพิ่ม !!!
ดังนั้นการแก้ไขสัญญาเป็น ผลตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร ตลอดระยะเวลา 10 ปี รัฐบาลและกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และ ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับบริษัทมหาชนและดูแลผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย จึงควรตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการใช้ดุลพินิจของ AOT ต่อการแก้ไขสัญญานี้โดยเร็ว ว่าทำไมถึงไม่ใช้ทางเลือกในการเปิดประมูลใหม่แทนการแก้ไขสัญญา
ผมและพรรคก้าวไกล จะขอนำประเด็นนี้ เพื่อเชิญ กระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต. มาหารือต่อประเด็นนี้ในกรรมาธิการต่อไป
แต่ที่แน่ๆ บทสรุปของเรื่องนี้ คือ เป็นเจ้าสัวเมืองไทยช่างดีเเสนดี ทำธุรกิจไม่มีโอกาสขาดทุน ถ้าขาดทุน รัฐบาลก็เเก้ไขสัญญาให้
#ก้าวไกล​ #เจ้าสัว #AOT #Kingpower
โฆษณา