เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1778 เจ้าหญิงพระองค์น้อยกำลังอยู่ในวัน 2 พรรษา ตัวพระสนมเองก็พึ่งอายุได้ 32 พรรษาเท่านั้น อนาคตของพระสนมดูท่าจะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป แต่ว่าพระสนมได้กริ้วและสั่งเฆี่ยนนางกำนัลคนหนึ่งในตำหนักจนสิ้นชีพ ซึ่งเรื่องนี้ร้ายแรงมาก เพราะเหล่านางข้าหลวง และนางกำนัลในวังสมัยราชวงศ์ชิงล้วนถือเป็นลูกหลานแมนจูด้วยกัน จะเข้าสู่วังนั้นล้วนผ่านการคัดเลือกทั้งชาติตระกูล และความสามารถ เข้ามาทำงานในวังก็ได้รับเบี้ยหวัดเงินปีอย่างผู้รับราชการ เมื่ออายุถึงกำหนดก็กลับไปอยู่ที่บ้านตน หรือไม่ก็ตบแต่งอย่างใหญ่โต เรียกว่าไม่ใช่คนที่จะโขกสับได้ดังทาส พระเจ้าเฉียนหลงทราบเรื่องแล้วทรงกริ้วอย่างยิ่ง พระองค์ออกพระโอษฐ์ว่าพระองค์ครองราชย์มายังไม่เคยลงโทษข้าราชบริพารถึงขั้นเสียชีวิต กริ้วสุดอย่างมากก็เฆี่ยน 20 ทีถึง 40 ที แต่ไม่เคยถึงขั้นเอาชีวิต แต่สนมของพระองค์ทำการหยาบช้าเช่นนี้พระองค์มิอาจให้อภัยได้ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงต้องลงโทษ อย่างไรก็ตามด้วยทรงพระเมตตาพระราชธิดาพระองค์จึงแค่ลดยศจากพระสนมชั้นเฟยให้เป็นชั้นผิน พร้อมทั้งให้ชดใช้เงินเป็นจำนวน 100 ตำลึงให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต
คนที่ถูกลงโทษมิได้มีเพียงแค่พระสนมเท่านั้น เหล่าขันทีในตำหนักที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ล้วนถูกลงโทษกันถ้วนหน้า หัวหน้าขันทีในตำหนักถูกลงโทษอย่างหนักรวมถึงถูกทอดยศราชการ ตัดเงินเดือน และข้าวสารเป็นเวลา 2 ปี รองหัวหน้าขันทีในตำหนักรวมถึงขันทีในตำหนักเนื่องจากไม่ห้ามเจ้านายถูกสั่งตัดเงินเดือนและข้าวครึ่งปี นอกจากนี้การตัดเงินและตัดข้าวของเหล่าขันทีรับใช้ในตำหนัก พระเจ้าเฉียนหลงทรงให้คิดรวมกันทั้งหมดแล้วให้นำจำนวนที่ถูกหักนั้นอีกครึ่งหนึ่งไปหักเงินปีและข้าวของพระสนมอีกทอดหนึ่งอีกที
นอกจากจะลงโทษด้านลดยศแล้ว ยังถูกให้เปลี่ยนที่พักอีกเช่นกัน ในปี 1779 เดือน 2 วันที่ 1 พระเจ้าเฉียนหลงโปรดให้สับเปลี่ยนที่พักของพระสนมตุนผิน โดยให้พระสนมย้ายไปอยู่ในห้องพักในหมู่ตำหนักหยางซินเตี้ยน (养心殿) แล้วให้พระสนมซุ่นเฟย (顺妃) ที่เคยพำนักในพระที่นั่งหยางซินเตี้ยนไปอยู่ที่ตำหนักใหญ่อี้คุนกง (翊坤宫)ของพระสนมแทน พร้อมกับให้เจ้าจอมหมิงฉางจ้าย(明常在)ไปพำนักในตำหนักบริวาร การต้องย้ายไปอยู่ในห้องบริวารของพระที่นั่งหยางซินเตี้ยนที่พระเจ้าเฉียนหลงประทับเป็นประจำอาจจะดูไม่แย่นัก แต่เมื่อหันไปดูพระตำหนักอี้คุนกงอันหรูหราก็ถือได้ว่าตกกระป๋องพอสมควร นอกจากต้องย้ายที่อยู่ในพระราชวังหลวงแล้ว ในพระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวนก็ต้องย้ายอีกเช่นกัน โดยมีคำสั่งให้แลกที่อยู่กับพระสนมหรงเฟย (容妃) ซึ่งก็เป็นคนโปรดอีกเช่นกัน
การลงโทษข้างต้นนี้จริงๆอาจจะไม่หนักหนาสาหัสเท่าใดนัก แต่ว่าที่หนักหนาจริงๆคือการที่พระเจ้าเฉียนหลงทรงมีพระราชโองการสั่งสอนพระโอรสธิดาทั้งปวงอย่าได้ประพฤติตนโหดร้ายแบบตุนผิน ยิ่งพระโอรสแล้วยังกำชับว่ามีพระชายาแล้วห้ามมิให้ประพฤติเช่นนี้เด็ดขาด พร้อมสั่งให้กรมวังนำพระราชโองการการลงโทษครั้งนี้บันทึกในพระราชพงศาวดาร แล้วนำไปเก็บไว้ในหอสมุดหลวง เรียกได้ว่าให้เป็นที่จดจำถีงความผิดไปชั่วกาลเลยทีเดียว
ชีวิตของตุนเฟยที่ตอนนั้นกลายเป็นตุนผินไปเรียบร้อยแล้วคงเป็นที่เย้ยหยั้นไม่น้อย พระธิดาองค์น้อยก็ถูกนำให้พระสนมผู้อื่นเลี้ยงดู ความอาภัพอับโชคจากความประพฤติที่โหดร้ายนี้คงจะเรียกคะแนนสงสารจากชาววังได้ไม่มากนัก
แต่ฟ้าก็ยังให้โอกาสตุนผินอีกครั้ง ซึ่งโอกาสนั้นคือพระธิดานั้นเอง
พระธิดาน้อยนั้นติดพระมารดามาก หลังจากแยกจากพระมารดาก็พระกรรแสงเรื่อยมา และไม่ยอมเสวย ด้วยพระเจ้าเฉียนหลงรักพระธิดาดังดวงใจ จีงยอมให้ตุนผินเข้ามาเลี้ยงดูพระธิดา และในที่สุดในปี 1780 พระเจ้าเฉียนหลงคงพระทัยอ่อนคืนยศเฟยให้กับพระสนม พระสนมจึงกลับมาเป็นตุนเฟยอย่างสง่าผ่าเผยอีกครั้ง
นอกจากจะแต่งตั้งให้มียศเท่าเดิม พระเจ้าเฉียนหลงยังได้ไว้วางพระทัยถึงขั้นให้นำพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงพระองค์ใหญ่(大格格)ที่เกิดจากเจ้าฟ้าหญิงเหอซั่วเหอเค่อกงจู่ (和硕和恪公主) เจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้เป็นพระราชธิดาที่เกิดจากฮ่องเฮาเซี่ยวอี้ตุน(孝仪纯皇后) หรืออดีตพระสนมหลิงเฟย(令妃)การที่ได้รับเลี้ยงพระเจ้าหลานเธอพระธิดาที่เกิดจากเจ้าฟ้าหญิงแสดงถึงความไว้วางใจและโปรดปรานเป็นที่สุด เรียกได้ว่าตอนนั้นที่ใครมองพระสนมตุนเฟยด้วยสายตาเหยียดยามช่วงที่พระสนมตกต่ำคงเย็นละเยือกไปถึงหัวใจทีเดียว
ตุนเฟยนั้นเมื่อได้รับการคืนยศดังเดิมก็หาได้ทิ้งนิสัยร้ายกาจไม่ และความร้ายกาจนี้ดูจะไม่ใช่แค่ตัวพระสนมคนเดียว แต่ยังรวมไปถึงประดาญาติพี่น้อง ในปี 1784 เดือน 5 มีข้าราชการทูลฟ้องว่าลุงของพระสนมได้ฆ่าคนรับใช้นามว่าเจิ่นหรง (郑荣) แล้วบังคับเอาภรรยาของคนรับใช้ผู้นั้นมาเป็นอนุภรรยา นอกจากนี้ในเดือนเดียวกันมีนางข้าหลวงในตำหนักของพระสนมพยายามฆ่าตัวตาย แต่โชคดีมีคนช่วยชีวิตไว้ทัน รองหัวหน้าขันทีประจำตำหนักอ้างว่าที่ไม่ได้กราบทูลพระเจ้าเฉียนหลง เพราะว่าเป็นช่วงเทศกาลกินเจ จึงไม่อยากจะไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท นอกจากนี้ในปีเดียวกันเดือน 10 ข้าหลวงคนหนึ่งในตำหนักได้รับบาดเจ็บ ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของคนในปกครองพระสนมนี้ไม่ได้เป็นสุข และพระสนมก็ไม่ได้ลดความร้ายกาจลงเลย
ความร้ายกาจนี้คงทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าเฉียนหลง หลายคนเชื่อว่าที่ไม่ได้ปลดพระสนมตุนเฟยลงไปเพราะความรักที่มีต่อพระธิดา แต่ความโปรดปรานคงจะลดลงไม่น้อย ยิ่งมีข่าวไม่งามที่มีต่อข้าหลวงในตำหนักคงทำให้พระเจ้าเฉียนหลงไม่พอพระทัย ในปีที่ 50 ของรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง อันตรงกับพี่ 1985 พระสนมตุนเฟยมีอายุครบ 40 ปี และมีการจัดงานฉลองวันเกิดให้แด่พระสนม ตามปรกติแล้วตามธรรมเนียมราชสำนักชิง เมื่ออายุ 40 ปีนั้นถือว่าต้องเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตเพราะถือว่าอายุเต็มจำนวนเป็นครั้งแรก ของที่จะได้รับพระราชทานนั้นย่อมมีมหาศาล ทั้งเงินทองและของมีค่า แต่ว่าพระเจ้าเฉียนหลงกลับโปรดเกล้าให้ฉลองวันเกิดพระสนมดังวันเกิดธรรมดา และพระราชทานเงินให้ 300 ตำลึงเท่านั้น ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้ ซึ่งคงจะสะท้อนให้เห็นว่าความโปรดปรานที่พระองค์มีต่อพระธิดาแม้จะไม่ลดลง แต่ความรู้สึกที่มีต่อมารดานั้นไซร้คงจืดจางไปไม่น้อย
เมื่อฟ้าให้โอกาสอีกครั้ง แต่ตัวเองไม่รักษาโอกาสนั้นไว้ บุญที่มีก็หมดได้อีกครั้งเช่นกัน จากที่พระสนมเป็นที่โปรดปรานก็กลายเป็นเฉยชา ความจืดจางคงจากสืบมาเรื่อยๆ ดังอีกสิบปีให้หลัง ในปี 1795 พระเจ้าเฉียนหลงครองราชย์ครบ 60 พรรษา พระสนมมีอายุได้ 50 ปีพอดี จริงๆในช่วงนั้นพระเจ้าเฉียนหลงควรจะจัดงานให้พระสนมอย่างใหญ่โต พระราชทานของให้อย่างมหาศาล แต่พระองค์ก็โปรดเกล้าให้จัดงานอย่างธรรมดา พระราชทานเงินให้เพียง 300 ตำลึงเหมือนกับที่ 10 ปีที่แล้ว จากตรงนี้จะเห็นได้ว่างานวันเกิดที่ควรจะยิ่งใหญ่ของพระสนมกับเงียบเฉียบจนเป็นที่น่าอัศจรรย์ จากตรงนี้เห็นได้ว่าพระเจ้าเฉียนหลงคงจะเฉยชากับพระสนมอย่างยิ่ง ลาภยศสรรเสริญที่เคยได้รับอย่างท่วมท้นกลายเป็นเพียงวันเก่าๆ
ในปี 1795 พระเจ้าเฉียนหลงทรงสละพระราชบัลลังค์ พระเจ้าเจี่ยชิงพระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน ในเดือน 11 ของปีนั้นเอง พระสนมตุนเฟยเข้าเฝ้าถวายพระพร พระเจ้าเฉียนหลงตรัสว่าพระสนมมาถวายพระพรช้าจึงโปรดให้งดเงินปีที่จะประทานให้ 200 ตำลึงเสีย ปีนี้ไม่ต้องให้
ท่ามกลางความไม่โปรดปรานแหละหมางเมินที่พระสวามีกระทำ พระสนมตุนเฟยใช้ชีวิตเงียบๆต่อไปในวังท่ามกลางโชคชะตาที่ผันผวน พระสนมคงมองครอบครัวของพระธิดาที่ต้องราชทัณฑ์อย่างอกสั่นขวัญแขวน และคงโล่งใจที่พระธิดารอดมาได้เพราะความเมตตาของพระเจ้าเจี่ยชิง ในปีที่ 1806 พระสนมมีอายุได้ 61 ปี พระสนมก็ป่วยและจบชีวิตลงในเดือน 3 วันที่ 6 เหลือไว้เพียงเรื่องราวความร้ายกาจที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์สืบทอดมาจนปัจจุบัน
เมืองภูมิ หาญสิริเพชร
03 09 2020
ที่มา