3 ก.ย. 2020 เวลา 23:09 • นิยาย เรื่องสั้น
🌸บุพเพสันนิวาส ภาคพิเศษ(ฉบับ นมแม่)🌸ตอนที่ 1
เดือน เมษายนปี 2561
ละครย้อนยุคเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ออกอากาศทางช่อง 3 เกิดกระแสแต่งชุดไทย ไปเที่ยวเมืองเก่า เล่าเรื่อง “ออเจ้า” กันทั่วบ้านทั่วเมือง
ตอนนั้นพี่เขียนได้ดูแล้ว อยากจะขอเกาะกระแสโปรโมทเรื่อง นมแม่ ไปด้วย เพราะมีตอนที่นางเอกท้อง คงจะมีพูดถึงการเลี้ยงดูเด็กสมัยก่อนบ้าง
แต่ก็ผิดหวังนิดๆ ตอนนั้นจึงเขียนภาคพิเศษต่อเองให้หายหงุดหงิด โดยขอใช้ตัวละครกับฉากตามท้องเรื่อง ที่คุณรอมแพงเขียนปูพื้นไว้อย่างดี โดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใด นอกจาก ให้ผู้อ่านบันเทิงใจ และได้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก และการให้นมแม่บ้างค่ะ
ขอเชิญอ่านตอนที่ 1 จากทั้งหมด 5 ตอนของ
บุพเพสันนิวาส ภาคพิเศษ ฉบับ “นมแม่ “ค่ะ❤️
ภาพจากละคร เรื่อง บุพเพสันนิวาส ช่อง 3
1
นมแม่ แม่นม
เมื่อสาวท้วมเปรียว “เกศสุรางค์” ได้ย้อนกลับไปเข้าร่างอนงค์นางผู้งามแต่รูปแห่งเมืองอยุธยา นาม “การะเกด”และอยู่ร่วมเรือนกับครอบครัวของออกญาโหราธิบดี ในฐานะเป็นหลานสาว ความอลวนก็เริ่มขึ้น เมื่อขุนศรีวิสารวาจา บุตรของออกญาโหราธิบดี เริ่มกลับใจมาชื่นชอบแม่หญิงผู้นี้ทั้งๆที่แต่เดิมเคยเกลียดสุดหัวใจ แม้แต่หน้าก็ไม่อยากจะแล
ตอนนี้พี่ขุนพาแม่การะเกด ไปเที่ยวเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่ สอง รองจากอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ หรือราษฎรสมัยนั้นเรียกว่า “ขุนหลวง”ทรงโปรดให้สร้างพระราชวัง และออกว่าราชการที่นี่ ข้าราชบริพารจึงต้องมีบ้านอยู่ที่ละโว้ด้วย
พระปรางค์สามยอด ลพบุรี ภาพจากhttps://travel.mthai.com/region/176712.html
ออกพระฤทธิ์กำแหง หรือ คอนสแตนตินฟอลคอน เสนาบดีชาวกรีกที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทใกล้ชิดก็เช่นเดียวกัน ได้สร้างบ้านเป็นตึกใหญ่โต มีข้าทาสบริวาร รวมทั้งเด็กเล็กๆหน้าตาเป็นลูกครึ่งฝรั่งวิ่งเล่นเต็มไปหมด
แต่เมียที่นาย”ก็องสต็องซ์” ฟอลคอนรักและยกย่องให้เป็นเมียเอก คือ ตอง กีมาร์ หรือเรียกชื่อไทยๆว่า แม่มะลิ นางเป็นผู้คิดค้นสูตรการทำขนมไทยที่ดัดแปลงมาจากขนมของโปรตุเกสหลายอย่าง เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด
การะเกดไปเยี่ยมเยียนแม่มะลิ เพราะเป็นเพื่อนกันมาก่อน ก็รู้ว่า มะลิเพิ่งมีลูกคนที่สอง
“ลูกคนเล็ก ชื่อโยฮัน เพิ่งแบเบาะ
ข้าให้นมลูกเองนะ …ไม่มีแม่นม”
ภาพจากละคร บุพเพสันนิวาส ช่อง 3 แม่มะลิ กับการะเกด
แม่มะลิกล่าว พร้อมกับยิ้มอย่างภาคภูมิใจ
“แต่ก็ยังมาทำขนม” การะเกดพูดเย้า
การให้นมแม่เป็นวัฒนธรรมไทยแท้แต่โบราณ ผู้หญิงชาวบ้านก็จะให้นมแม่ด้วยตนเอง หญิงไทยทำงานทุกอย่างในบ้าน มือที่ใช้อุ้มลูก ไกวเปล ก็ใช้จับจอบเสียม และหม้อไหไปด้วย
ส่วนหญิงสูงศักดิ์ก็จะให้ลูกของตนมีแม่นม มีการกล่าวถึงการคัดเลือกสตรีที่จะเป็นแม่นม ในวรรณกรรมชาดก เรื่องเตมิยะชาดก ฉบับวัดเมธัง ว่าสตรีที่จะเป็นแม่นมต้องไม่มีมีลักษณะอันเป็นโทษ และไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง
ในหนังสือ “ประถมจินดา” ซึ่งถือว่าเป็นหลักประธานแห่งคัมภีร์ฉันทศาสตร์ทั้งปวง เป็นตำราหลักของตำรายาไทย ก็ยังกล่าวถึง วิธีการดู ลักษณะแห่งแม่นมที่ดี ซึ่ง
กุมารดื่มน้ำนมได้ มี 4 จำพวก ลักษณะน้ำนมให้โทษแก่กุมาร 2จำพวก
แม่มะลิ ถึงแม้จะเป็นถึงภรรยาข้าราชการที่ยศสูง แต่ก็เลือกที่จะให้ลูกดื่มน้ำนมของตนเอง อาจจะเป็นเพราะนางไม่ใช่คนไทยแท้ แต่เป็นลูกครึ่งโปรตุเกส ญี่ปุ่น
ในเรื่องละครนางก็ยังนำเอาลูกมาเลี้ยงไปด้วยและทำขนมในห้องครัวไปด้วย แสดงให้เห็นว่า การให้นมแม่พร้อมๆกับการทำงาน เป็นเรื่องที่สะดวก แม่สามารถทำได้ตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบันเลยทีเดียวค่ะ
(มีต่อตอน 2)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา