๒๘ รัตนสูตร (ว่าด้วยพุทธรัตนะ)
ถ้ามนุษย์ได้เห็นธรรมกาย มนุษย์คนนั้นตื่นขึ้นแล้ว
๒๖ เมษายน ๒๔๙๗
นโม ...
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ .....
เมืองไพสาลี (เวสาลี) เกิดโรคร้าย ไม่มีผู้ใดบรรเทาได้ ชาวเมืองอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ลงมาบำบัดภัย พระองค์เสด็จมาประทับริมแม่น้ำ เกิดฝนตกใหญ่ พาซากศพลอยน้ำไป ไพสาลีกลับมาสะอาดอีกครั้ง พระองค์ทรงเห็นเหล่าภูตเป็นอันมาก จึงเทศน์ “ พระรัตนสูตร” ให้พวกภูติมีไมตรีจิตต่อพวกมนุษย์ที่บวงสรวง และรัตนะอันใดในโลกหรือในสวรรค์หาเสมอด้วยตถาคตไม่
ภูต, ผีมีจริง แต่คนทั่วไปไม่รู้จัก
“ไม่โง่นะพวกเรานะ แต่มันก็ไม่ฉลาดเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าภูติปีศาจหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พวกธรรมกายเขาเห็นกันทุกคน มีต่าง ๆ กันมากมายนัก เช่น ภูตที่มารับเครื่องเซ่น ให้ทุกข์ให้คุณบ้าง มีเป็นจํานวนมาก ในพระสูตรตอนต้นนี้ มีเนื้อหาย่นย่อว่า
รัตนทรัพย์เป็นเครื่องปลื้มใจทั้งโลกนี้โลกหน้า แต่รัตนะเหล่านั้นหาเทียบพระตถาคตเจ้าไม่
ทรัพย์ เป็นเครื่องปลื้มใจ ทรัพย์ในโลกมี ๒ อย่าง คือ
๑. สวิญญาณกทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่มีวิญญาณ (ทรัพย์เป็น)
๒. อวิญญาณกทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ (ทรัพย์ตาย) เช่น เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ไร่นา บ้านเรือน แก้วแหวนเงินทอง เพชรนิลจินดา ทั้งที่ประดับวิมานในสวรค์
“ถ้าคนมีปัญญา เขาก็หาทรัพย์เป็น เขาไม่หาทรัพย์ตายหรอก ทรัพย์เป็น ๆ นั่นแหละเป็นก้อนทรัพย์สาคัญ”
ขยายความ :
ทรัพย์ที่มีวิญญาณ คนมีปัญญาแสวงหา พัฒนาก้อนทรัพย์ คือ ตัวเรา ให้เป็นคนดี มิฉะนั้นจะเป็นคนสมบัติเลว ถ้าพัฒนาได้ดีก็เป็นประโยชน์แก่คนอื่นด้วย
“ตนเอง” เป็นทรัพย์ เป็นที่เยี่ยม ใคร ๆ ก็รับรอง เชื้อเชิญ ให้เงินสนับสนุน เป็นทรัพย์ที่มีวิญญาณแท้ ๆ
ตัวอย่าง “วิชาดี” ก็มีคนเคารพ อยากให้ทำงานด้วย เป็นหญิงศึกษาวิชาหญิง ทำกับข้าวเก่ง จนกษัตริย์ถามหา
"รูปสวย” มีคนขอเป็นมเหสีได้
“ถ้าว่าไม่ฉลาดไม่รู้จักทรัพย์นี้ ก็ไม่สร้างตัวของตัวให้ดีขึ้น ก็ปล่อยไปตามยถากรรม มันก็ใช้อะไรไม่ได้ ฝีมือไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่ง ฝีมือไม่ดีเลย ก็ไม่หัดเข้าแก้ไขข้อขัดข้องของตัวเข้า ไม่ขยันทำขึ้น ไม่ปรุงขึ้นให้เฉลียวฉลาดขึ้น เย็บปักถักร้อยไม่เป็น ก็มองดูเขาตาหลอไป ไม่รู้จักสมบัติ มันก็เป็นคนสมบัติเลว ๆ ไปทั้งชาติ"
“สัตว์เลี้ยง ข้าทาสบริวาร” เป็นทรัพย์เป็น แต่แบบเลว
ในสากลโลก เขาต้องการนัก ต้องการสวิญญาณกทรัพย์ที่เยี่ยม หรือทรัพย์ในโลก ก็ต้องการที่เยี่ยมเหมือนกัน ทั้งเงินทอง เพชร แก้ว จนกระทั่งถึงแก้วกายสิทธิ์ แก้วสารพัดนึก เป็นสวิญญาณกทรัพย์อีกระดับหนึ่ง
ทรัพย์ที่มีวิญญาณในอีกระดับ :
แก้วสารพัดนึก แก้วกายสิทธิ์ (รัตนะ ๗) คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว แก้วมณี นางแก้ว
พระเจ้าจักรพรรดิ์ มีรัตนะ ๗ ช่วยเหลือมนุษยโลกให้มีความสุข ดูเป็นของตาย แต่ว่ากลายเป็นของเป็น เหาะเหินเดินอากาศได้ มาบังเกิดเวลาพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มา
ในสวรรค์ ๖ ชั้น พรหม ๑๖ อรูปพรหม ๔ ประกอบด้วย
- ทรัพย์เป็น คือ รัตนะทั้ง ๗
- ทรัพย์ตาย คือ เครื่องประดับวิมาน ที่นั่ง ที่นอน แก้วเหล่านั้นงดงามนักทีเดียว เป็นรัตนะอันประณีต บรรดา ๖ ชั้นฟ้า มีแก้วประดับทั้งนั้น เขาเรียกว่า อวิญญาณกทรัพย์ เป็นของมีค่า
รัตนะเหล่านั้นจะมีมากน้อยเท่าใด ก็สู้ไม่ได้กับพระตถาคตเจ้า
“พุทธรัตนะนั่นแหละ เป็นพระตถาคตเจ้าละ ที่เราได้ธรรมกายแล้วก็ถึงพุทธรัตนะ”
ธรรมกาย คือ พุทธรัตนะที่เป็นโคตรภู
ธรรมกาย คือ พุทธรัตนะที่เป็นพระโสดา
ธรรมกาย คือ พุทธรัตนะที่เป็นพระสกทาคา
ธรรมกาย คือ พุทธรัตนะที่เป็นพระอนาคา
ธรรมกาย คือ พุทธรัตนะที่เป็นพระอรหันต์
พุทธรัตนะเป็นตัวพระตถาคตเจ้า .... เพราะ
พระพุทธองค์ตรัสกับพระวักลิว่า
“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต”
ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ตถาคต คือ ธรรมกาย
“ธรรมกายนั่นเอง เป็นตัวตถาคตเจ้า”
1
“รัตนะเหล่านั้นที่เป็นสวิญญาณกรัตนะก็ดี อวิญญาณกรัตนะก็ดี สู้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ บัดนี้เราได้เป็นธรรมกายแล้ว เราได้สมบัติยิ่งใหญ่ สมบัติอื่นสู้ไม่ได้ เข้าถึงธรรมกายแล้ว บังคับสมบัติเหล่านั้นได้ ได้สมบัติเหล่านั้นอยู่ในอำนาจ จะต้องการเมื่อไรก็เอาได้ ไม่ต้องเดือดร้อนอันใดอันหนึ่ง”
เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้ นั้นแหละได้รัตนะอันประเสริฐแล้ว ยอดรัตนะเบื้องต้นคือ ธรรมกายโคตรภู ขึ้นไปเป็นลำดับ เป็นพระโสดา พระสกทาคา พระอนาคา พระอรหัต ถึงอรหัตก็ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เลิกเวียนว่ายต่อไป
“พวกที่เข้าถึงธรรมกายแล้ว เขารู้ฤทธิ์ของธรรมกายแล้ว เขาไม่อินังขังข้ออะไรหรอกกับสวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะในภพ ๓ นะ เขาต้องการจะไปนิพพาน"
“เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้พุทธรัตนะ ที่ได้แล้วอย่าดูเบาหนา ดับมาเกือบ ๒,๐๐๐ ปีหนา มาโผล่ขึ้นในครั้งนี้นะเป็นอัศจรรย์ทีเดียว แต่ว่ามารยังขวางอยู่มาก มนุษย์ยังไม่เบิกตายังหลับตาอยู่มาก มนุษย์ยังไม่ตื่น ยังหลับตาอยู่มากนัก ถ้ามนุษย์ได้เห็นธรรมกาย มนุษย์คนนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่หลับแล้ว ถ้ามนุษย์ใดยังไม่เห็นธรรมกาย ยังไม่เป็นธรรมกาย มนุษย์นั้นยังหลับอยู่ มารมันยังกดหลับอยู่ ยังไม่ตื่นเลย บางทีตายเสียชาติหนึ่งยังไม่ตื่นเลย หลับเรื่อยไปเสียทีเดียว
บางคนเห็นปรากฏ ตื่นทีเดียวมีธรรมกาย บางคนไม่เดียงสา มีธรรมกายใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้แล้ว มาถึงรัตนะอันเลิศประเสริฐเช่นนี้แล้ว กลับไปวางเสียก็มี แปลกประหลาดนัก ลืมตาขึ้นแล้วกลับไปบอดก็มี อย่างนี้น่าอัศจรรย์นัก เพราะเหตุไร เพราะไม่รู้จักเดียงสา มาพบของวิเศษประเสริฐเลิศล้นพ้นประมาณ ไม่รักษาให้ควรแก่การควรเห็นควรพบ แม้เป็นอยู่ก็เท่ากับศพ ไม่ประเสริฐเลิศอะไรนัก เพราะกายมนุษย์นี่ชั่วคราวเท่านั้น เกิดแล้วดับไป”
กายมนุษย์มีอยู่ชั่วคราว มีเกิดมีดับเป็นเบื้องหน้า ดังที่พระโกณฑัญญะเปล่งวาจาเมื่อได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีความเกิดขึ้นเสมอ สิ่งทั้งปวงมีความดับไปเสมอ เห็นเกิดกับดับเท่านั้นเอง หมดทั้งสากลโลก”
“เมื่อเป็นเช่นนี้ มาพบพุทธศาสนาเช่นนี้ ต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้ ถ้าเข้าถึงธรรมกายไม่ได้ เราไม่เป็นลาภล้นพ้นประมาณทีเดียว มีบาลีเป็นหลักฐานชี้ชัดไว้ว่า
ตถาคโต โข วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ
ดูกร.. วาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย เป็นตถาคตโดยแท้
ธรรมกายน่ะประเสริฐเลิศกว่าสวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะ ซึ่งมีในไตรภพ สู้ไม่ได้เป็นอันขาด”
ท่านจึงกล่าวว่า อิทมฺปิ รตนํ ฯ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
“ถ้าว่าใครอยู่กับรัตนะเช่นนี้ละก็ มีความสวัสดีเรื่อยปลอดภัยเรื่อยทีเดียว อยู่ในธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ให้ใส อยู่กับรัตนะนั่นแหละปลอดภัยทีเดียว ไม่ต้องมีภัยอีกต่อไปทีเดียว ได้รับความสุขทีเดียว ไม่ได้รับความทุกข์อีกต่อไป เมื่อรู้จักหลักจริงเช่นนี้ เข้าให้ถึงนา วัดปากน้ำเขาเข้าถึงกันมากนัก ๑๕๐ กว่าเวลานี้ ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ๑๕๐ กว่า"
“ถ้าได้เข้าถึงพุทธรัตนะแล้ว อย่าปล่อยเป็นเด็ดขาด ใจขาด ขาดไป ตาย ตายไป ใจติดอยู่กับพุทธรัตนะนั่นแหละ เอาตัวรอดได้ละ สิ่งอื่นไม่มียิ่งกว่านั้น ไม่มีหนา รัตนะนี้เป็นรัตนะสูงสุด สวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะ ที่มีในไตรภพ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่มีสูงสุดเท่า พุทธรัตนะนี่แหละ เป็นรัตนะอันสูงสุดแท้ ๆ”
“ถึงแม้ว่ากิเลสจะมายั่วปั่นสักเท่าใด ก็อย่าให้เป็นไป ต้องอยู่ในพุทธรัตนะให้ได้ ให้มั่นอยู่ในพุทธรัตนะ ให้ใสอยู่ร่ำไปให้ได้ นั่นแหละเอาตัวรอดได้ที่ได้มาประสบพุทธศาสนา"
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๙๖ - ๙๙
1
โฆษณา