4 ก.ย. 2020 เวลา 15:10 • การศึกษา
ช่วงนี้ กระบวนการยุติธรรม เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง วันนี้ผมมีอีกหนึ่งเกร็ดความรู้เล็กๆที่เราๆก็คงเคยเรียนกันมาบ้างแล้วสมัยเด็กๆ ผมจะเอามาเล่าทบทวนให้ฟังสำหรับเพื่อนๆที่อาจจะลืมกันไปแล้ว นั่นก็คือ เรื่องของระบบกฏหมายครับ
เพื่อนๆอาจจะเคยดูหนัง ดูภาพยนตร์ฝรั่ง เกี่ยวกับกระบวนการทางกฏหมาย แล้วพบว่ากระบวนการยุติธรรมที่ดูในหนัง ทำไมมันมีวิธิคิด หาข้อมูล สืบคดี ขึ้นศาลอะไรต่างๆนาๆ ไม่ค่อยเหมือนบ้านเราเท่าไหร่นัก ไม่ต้องแปลกใจครับ เนื่องจากระบบกฏหมายในภาพยนตร์ที่เราได้ดูนั้นอาจจะมีความแตกต่างจากบ้านเรานั่นเอง จึงทำให้เราดูแล้วมันไม่คุ้นเคย ยิ่งถ้าเป็นหนังอเมริกัน อาจจะไม่ได้เห็นการอ้างถึงมาตรากฏหมายตามแบบที่บ้านเราใช้ซักเท่าไหร่นัก
อันที่จริงแล้วระบบกฏหมายในโลก ตามข้อมูลที่ผมได้ทราบมา พอจะแบ่งได้ทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน นั่นก็คือ Civil Law (ลายลักษณ์อักษร) , Common Law (อ้างอิงตามจารีตประเพณีที่มีบันทึกไว้ เช่น จากข้อตัดสินเก่าๆ) , Customary Law (เน้นอิงจารีตขนบธรรมเนียมประเพณี) , Religious legal systems ( อ้างอิงข้อบัญญัติทางศาสนา) และ Mixed legal systems (ระบบผสม) ซึ่งวันนี้ผมจะขอพูดถึงระบบที่นิยมใช้กันในโลก 2 ระบบ มาเล่าให้ฟังกัน นั่นก็คือ Civil Law และ Common Law นั่นเองครับ
เริ่มกันที่ ระบบ Civil Law หรือระบบลายลักษณ์อักษร ระบบกฏหมายนี้ตรงตัวครับ จะบังคับใช้กฏหมายตามลายลักษณ์อักษรที่มีการกำหนดไว้ในประมวลกฏหมาย โดยลายลักษณ์อักษรที่ว่าเนี่ย จะถูกกำหนดไว้ และคอยอัพเดท โดยกว่าจะได้มาแต่ละประมวลกฏหมายก็จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมายทั้งการร่าง การเสนอ การพิจารณา จนกว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจะเห็นว่าเหมาะสม จึงออกมาเป็นประมวลกฏหมายได้นั่นเอง
ซึ่งแน่นอนว่า กระบวนการยุติก็จะอ้างอิงการตัดสินผ่านข้อบังคับในประมวลกฏหมาย ผ่านการตีความของศาลที่อยู่ในกรอบของประมวลกฏหมาย การพิจารณาคดีจะเป็นในรูปแบบการไต่สวน โดยข้อด้อยของ Civil Law นั่นก็คือ มีการยึดถือตัวบทกฏหมายเป็นอย่างเคร่งครัดเป็นสำคัญ แม้ประมวลกฏหมายจะทำออกมาให้ครอบคลุมที่สุด แต่มันยากที่จะครอบคลุมทั้งหมดครับ การตีความตัวบทกฏหมายของศาลจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก บางครั้งจึงมาช่องว่างทางกฏหมายที่ก็มีคนพยายามไปเอาเปรียบตรงจุดนั้นเหมือนกัน หรือแม้แต่บางครั้งคดีเดียวกัน แต่ก็เกิดการตีความของศาลที่ไม่เหมือนกันเช่นกันครับ โดยประเทศที่ใช้ระบบกฏหมายรูปแบบนี้ ส่วนมากจะเป็นฝั่งเอเชีย ยูโรปส่วนใหญ่ และก็ญี่ปุ่นครับ
มาถึงอีกหนึ่งรูปแบบของระบบกฏหมายที่เป็ที่นิยมในหมู่ประเทศยักษ์ใหญ่ นั่นก็คือระบบ Common Law ครับ โดยระบบกฏหมายรูปแบบนี้ มีรากฐานมาจากอังกฤษ โดยเริ่มจากสมัยก่อนจะมีการส่งผู้พิพากษาที่มีความรู้ไปเป็นผู้ตัดสินคดีครับ และจากนั้นก็จะมีการบันทึกคำพิพากษาเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสะสมเรื่อยๆมา จนในปัจจุบันการตัดสินของศาล มักจะอ้างอิงจากคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรในอดีตครับ โดยในระบบนี้ มีแนวคิดว่าการยึดตัวบทกฏหมายเป็นที่สุดอาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้นจึงให้อำนาจทางฝั่งตุลาการเป็นอำนาจสูงสุดในการตีความ ไม่ถูกกำหนดกรอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการพิจารณาคดีจะเป็นไปในรูปแบบการกล่าวหา และการแก้ต่างระหว่างโจทย์กับพยาน อย่างที่เรามักจะเห็นกันในหนังอเมริกันนั่นเองครับ โดยศาลจะเป็นตัวกลางพิจารณาพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมานำเสนอเท่านั้น มิได้มีการช่วยนำสืบพยานใดๆ ซึ่งหากขาดพยานหลักฐานใดๆ ก็จะถือว่าเกิดความบกพร่องของผู้ขึ้นศาลเองนั่นเอง ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ทำให้ทนายค่อนข้างมีความสำคัญมากๆในระบบนี้ อาชีพทนายในสหรัฐจึงเป็นอาชีพที่มีความนิยมเนื่องจากมีรายได้ค่อนข้างสูงมากทีเดียวครับสำหรับทนายที่มีความสามารถมากๆ
ทั้งนี้ส่วนการพิจารณาคดี ศาลจะมีอำนาจสูงสุด โดยหลักๆแล้วศาลจะอ้างอิงจากคำพิพากษาของศาลชั้นสูงที่เคยมีในอดีตหากพิจารณาคดีในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ผลของคดีมีความใกล้เคียงกันและยุติธรรมมากที่สุด แต่หากเป็นคดีที่ไม่มีข้ออ้างอิง ศาลก็จะมีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาคดีนั้นๆได้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนข้อด้อยของระบบนี้ก็คือ หากคดีของเรามิเคยมีรูปแบบคดีอ้างอิงมาก่อน แนวทางของศาลนั้นก็ยากที่จะคาดเดาได้เลยครับ และอีกอย่างคือ เราต้องพยายามรวบรวมหาพยานหลักฐาน มาใช้ในชั้นศาลให้มากที่สุด โดยศาลจะไม่ช่วยในการซักพยานหรือนำสืบใดๆทั้งสิ้นนั่นเอง ปัจจุบันประเทศที่มีการใช้ระบบกฏหมายนี้ เช่น สหรัฐ อังกฤษ
หากจะถามว่าระบบไหนดีกว่า คงยากที่จะตอบคำถามนี้ได้ เนื่องจากแต่ละประเทศ ก็มีความเหมาะสมในกันใช้รูปแบบของระบบกฏหมายแตกต่างกันไป ผมคดว่าทุกวันนี้ที่เราใช้กันอยู่ ผู้คนในยุคอดีตก็คงมองแล้วว่าเหมาะสมจะใช้กับลักษณะคนและวัฒนธรรมในบ้านเรา
ทีนี้เพื่อนๆอาจจะหายสงสัยกันบ้างแล้ว ว่าทำไมบางครั้งดูหนังแล้ว กระบวนการทางกฏหมายเค้าดูแล้วแปลกไปจากบ้านเรา คำตอบก็คือมีความแตกต่างกันในด้านระบบของกฏหมายอยู่นั่นเองครับ จริงๆแล้วยังมีระบบกฏหมายประเภทอื่นๆอีกที่มีกันใช้กันในกลุ่ม เช่นระบบที่อ้างอิงบัญญัติทางศาสนา ที่ใช้กันมากในกลุ่มตะวันออกกลาง ไว้มีโอกาสผมจะหยิบมาเล่าให้ฟังกันในครั้งหน้า วันนี้หวังว่าเพื่อนๆจะได้ความรู้ความเข้าใจไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
Source :
1.Guide to International Law Research ; Law library; University of South Carolina
ติดตามผมอีกหนึ่งช่องทางได้ที่
โฆษณา