6 ก.ย. 2020 เวลา 02:31 • ความคิดเห็น
บ้านหลังสุดท้าย...ก่อนเกษียณมีจริงหรือเปล่า
สมัยสามสิบกว่าปีที่แล้วตอนเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (Assumption Commercial College) หรือ ACC. พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่เคารพรักจะเล่าเรื่องของคนทำงานในประเทศญี่ปุ่นให้ฟังเสมอ ๆ ว่าคนญี่ปุ่นจะทำงานที่ใดก็จะทำกันยาวนานจนเกษียณก็มีมาก
ดังนั้นการสมัครงานบริษัทแรกที่จะเริ่มทำงานนั้นสำคัญ สมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เริ่มทำงานครั้งแรกจะจบปริญญาตรี มีมากมายที่จบระดับ ปวช, ปวส. แล้วก็หางานทำ แล้วจึงเรียนภาคค่ำไปด้วย
พ่อแม่ส่วนใหญ่ล้วนอยากให้ลูกจบปริญญาตรี ช่วงปีที่ผู้เขียนเรียนจบปริญญาตรีก็คือปี พ.ศ. 2539 ช่วงนั้นหางานไม่ยาก เงินเดือนเริ่มต้นก็มีตั้งแต่ 9,500 บาท (แต่สวัสดิการจะดี) มาจนถึง 12,000 บาท ตัวผู้เขียนเองเตรียมสมัครงานก่อนจบปริญญาตรี และเมื่อวันสุดท้ายที่เรียนจบ อีกวันก็จำได้ว่าไปเริ่มงานทันทีที่บริษัทที่ทำธุรกิจร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ชื่อดังที่ขายแฮมเบอร์เกอร์เป็นหลัก
สมัยนั้นเงินเดือนเริ่มต้นในตำแหน่งผู้จัดการร้านฝึกหัด 9,500 บาท แต่ได้ทำงานสาขาที่ใกล้บ้าน สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ วันไหนอยู่เวรปิดรานก็ได้ค่ารถตุ๊กตุ๊กหรือแท็กซี่กลับบ้านอีก มียูนิฟอร์มให้ เรียกได้ว่าเงินเดือนที่ได้เอามาเก็บได้เยอะทีเดียว แถมถ้าได้เติบโตก้าวหน้า ผ่านการสอบ ผ่านการฝึก มีสิทธิ์ได้ไปอเมริกาอีกด้วย
การทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้านฝึกหัดถือว่าดีต่อผู้เขียน เพราะได้ฝึกในด้านการทำงานเป็นระบบจากตำรา มีการสอบทุกขั้นตอนกระบวนการ และที่สำคัญได้ในเรื่องการสื่อสารระหว่างหัวหน้ากับผู้ใต้บังคับบัญชา ฝึกฝนการเป็นผู้นำที่ต้องรับผิดชอบบริหารกะที่ต้องดูแล
แต่ด้วยจบมาด้านบริหารธุรกิจสาขาการตลาด ทำไปทำมาก็มองเห็นเพื่อน ๆ ทำงานออฟฟิศ ได้ดีลงานกับเอเจนซี่บริษัทโฆษณา ได้ทำงานด้านการตลาด ได้คิด แต่เรากลับต้องทำงาน "ตาม" แม่แบบที่กำหนดมา ด้วยอายุราว 22-23 ปี ตอนนั้นแอบกังวลว่าถ้าเปลี่ยนงานจะกลายเป็นคนจับจดไหม และด้วยเศรษฐกิจช่วงที่เริ่มฟองสบู่แตกอีก เจอภาวะวิกฤติต้มยำกุ้งอีก..เราจะใจสู้หรือเปล่า
ด้วยความที่ประสบการณ์ยังไม่มาก จึงตัดสินใจลาออกเพื่อไปทำงานที่ใหม่ ฝันว่าจะได้เป็นนักการตลาดเพราะได้งานด้านการตลาดที่บริษัทแห่งหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวโรงงานขนาดใหญ่ที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ได้ทำการตลาดสมใจ แต่ด้วยภาวะวิกฤติต้มยำกุ้ง จากที่ผู้บริหารเคยทำแผนการตลาดจะสร้างแบรนด์ให้เด่นดัง ปังปังในภูมิภาคเอเชีย ก็ประสบปัญหามากมาย แต่โอกาสดีได้ทำงานใกล้ชิดเจ้าของกิจการตั้งแต่อายุยังน้อย ได้แนวคิดในการทำธุรกิจรอด
ทำงานที่บริษัทแห่งนั้นมาได้ 7 ปี ได้เรียนรู้งานด้านการตลาดเน้น below the line ได้เติบโตในบริษัทแห่งนั้นจนรับโอกาสเป็น Export Sales Manager ได้เปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานด้านการตลาดในประเทศในทุกช่องทาง การฝันตัวเองไปทำงานด้านการส่งออก ต้องหาลูกค้าต่างประเทศเพื่อทำ OEM ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ แต่สักพักต้องขอเจ้านายว่าอยากทำงานในประเทศแล้ว เพราะต้องการเรียนต่อระดับปริญญาโท ซึ่งก็ได้โอกาสมาเป็น Sales and Marketing Manager ในเวลานั้นไม่ได้อยากจะคิดลาออกแต่ประการใด แม้ว่าเงินเดือนที่ได้จะไม่มากนักถ้าเทียบกับงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่ถือว่าเราได้สวัสดิการที่ดี ได้ทำงานอย่างสนุกเพราะคิดอะไรก็นำเสนอและได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเป็นอย่างดี
แต่ความยั่งยืนไม่มีจริง
เพราะไม่นานนักบริษัทก็ต้องขายกิจการ แม้ว่าจะสามารถย้ายไปทำงานกับบริษัทที่มาซื่อกิจการไปได้ ก็ไม่ได้ทำงานสนุกเหมือนก่อนอีกแล้ว
ที่เล่ามาเช่นนี้เพราะอยากให้ผู้อ่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ตระหนักว่าการได้ทำงานในบริษัทใด ๆ ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ มนุษย์เงินเดือนที่ดีควรสร้างความมั่นคงด้วยตัวเองด้วยการสะสมประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้และได้ทำในสิ่งยาก ๆ เพื่อสร้างผลงาน และต้องพร้อมที่จะเสาะหาและมีทางเลือกเป็นของตัวเอง
หลังจากนั้นเมื่อได้งานด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหน ผู้เขียนจะสะสมผลงาน เรียนรู้และพัฒนาแนวทางการตลาดในแต่ละยุคและพร้อมเสมอที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง และถ้ารับไม่ได้ เราก็ต้องพร้อมจะเปลี่ยนตนเอง
หากท่านใดได้งานที่ยั่งยืน สามารถอยู่ได้ยันเกษียณ อันนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยินดีด้วยกับท่าน แต่สายงานการตลาด ผู้เขียนอยากให้ท่านอยู่กับความเป็นจริงว่า..ไม่มีหรอกค่ะ บริษัทที่เราจะให้เราอยู่ยาวได้จนเกษียณ อย่ากลัวที่จะเริ่มใหม่
หลายท่านมักจะแอบฝันว่าอยากทำงานที่นี่ อยากให้เป็น "บ้านหลังสุดท้าย" ซึ่งผู้เขียนคิดว่าถ้ามองด้วยความเป็นจริง สายงานขายและการตลาด เราไม่สามารถบอกได้คนเดียว ว่าที่ไหนจะเป็นบ้านหลังสุดท้าย...เตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลาจะดีกว่า
#มาเล่า #แน่ใจนะว่าเกลียดแค่วันจันทร์
โฆษณา