6 ก.ย. 2020 เวลา 13:34 • ประวัติศาสตร์
การปฏิรูปการกุศลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอองตัวเน็ตต์ เรื่องจริงที่ประวัติศาสตร์ส่วนมากไม่เล่าให้พวกคุณฟัง
หากพูดถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ กษัตริย์และราชินีแห่งฝรั่งเศสในยุคปฏิวัติ เชื่อว่าหลายคนแม้ทุกวันนี้ ยังคงพูดถึงในแง่ความเลวร้ายของราชวงศ์ที่เอาแต่นั่งใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยไม่เห็นหัวประชาชน แต่ถ้าหากวันหนึ่งคุณกลับพบว่า มีบางคนพูดเรื่องที่ครูสอนประวัติศาสตร์ไม่เคยเล่าให้คุณฟังมาก่อนล่ะ?
แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ที่อ่อนแอและไร้ความสามารถ ละเลยต่อประชาชน ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แถมยังออกกฎหมายเอื้อแต่ชนชั้นสูงจนเกิดความไม่เป็นธรรมและชาวบ้านเดือดร้อนจนทนไม่ได้ และขณะเดียวกันพระมเหสีจากออสเตรียอย่างพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ แม้จะมีคนช่วยแก้ต่างให้มากมายว่าประโยคไล่ประชาชนไปกินเค้กนั้นเป็นเรื่องไม่จริง (มันถูกเขียนในหนังสือของรุสโซ ตั้งแต่ตอนพระนางยัง 9-10 ชันษาและยังไม่ได้มาฝรั่งเศสเลย) แต่คนจำนวนมากก็ยังคงมองพระนางในฐานะหญิงโง่ดูดกินภาษีประชาชนเพื่อใช้เงินส่วนตัวตามอำเภอใจ และไม่ช่วยดำเนินการใหญ่ ๆ ที่จะแก้ไขความเป็นอยู่ของประชาชน
(ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ความผิดของพระนางเลย เนื่องจากฝรั่งเศสยุคนั้น สตรีถูกกำหนดบทบาทให้แทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองใด ๆ พระนางถูกเชิญมาเพียงเพื่อให้กำเนิดรัชทายาทเท่านั้น แม้ว่าหลัง ๆ พระนางจะเริ่มมีบทบาททางการเมืองในช่วงปฏิวัติและว่ากันว่าทำได้ดีกว่าพระสวามี แต่นั่นกลับให้ถูกครหาหนักขึ้นว่าคิดมีอำนาจเหนือกษัตริย์อีก...)
หากแต่ ทั้งสองเป็นผู้ละเลยหรือ ignorance ต่อประชาชนของพวกเขาเองจริง ๆ น่ะหรือ?
สำหรับคริสตศาสนาแล้ว สอนว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี โดยการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ และน้อยคนที่จะรู้ว่า แท้ที่จริง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ได้ทำหน้าที่ด้านนี้ได้ดีกว่าที่หลาย ๆ คนคิด (อาจจะดีกว่ากษัตริย์และราชินีรุ่นก่อน ๆ เสียด้วยซ้ำ) ตั้งแต่ก่อนที่การปฏิวัติจะเริ่มเสียด้วยซ้ำ
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1774 ในช่วงงานเทศกาลดอกไม้ไฟที่เฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสระหว่างทั้งสองพระองค์ เป็นที่รู้กันว่า ในช่วงเวลานั้นฝูงชนได้เหยียบกันตายระหว่างชุลมุนในงาน หากแต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ทั้งสองพระองค์เมื่อทรงทราบเรื่องก็พยายามใช้ทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ช่วยเหลือและเยียวยาครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตถึงปีหนึ่งเต็ม ๆ ในตอนนั้นทำให้ทั้งสองเป็นที่เคารพรักของราษฏรอย่างมาก
นอกจากนี้พระราชินี มารี อองตัวเน็ตต์ ยังขึ้นชื่อเรื่องกิริยาที่อ่อนหวานและความมีเมตตากรุณา เนื่องจากพระนางได้สั่งยกเลิกภาษีที่เรียกว่า "เข็มขัดของราชินี" (The Queen's Belt) (ซึ่งน่าจะเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีให้ราชินีที่ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ) โดยพระนางตรัสด้วยพระองค์เองว่า "ราชินีไม่ต้องการเข็มขัดอีกแล้ว"(Queens no longer wear belts)
แม้จะเป็นความจริงที่การใช้ชีวิตในวังมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อรักษาภาพพจน์ หากแต่สาเหตุของการพังทลายของชื่อเสียงที่พระนางได้รับนั้น มักจะมีที่มาจากการใส่สีตีไข่ การจ้องจับผิด และความพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อด้วยฝีมือของพวกที่จ้องจะปฏิวัติมากกว่า
ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้น แท้ที่จริงแล้วพระองค์มักจะคอยออกมาเยี่ยมราษฎรที่ยากจกขนแค้นอยู่เสมอ และบริจาคทานแก่พวกเขาด้วยเงินของพระองค์เอง มาดาม-ปัน(Madame Campan) ระบุในบันทึกของนางว่า ในปี ค.ศ. 1776 เกิดฤดูหนาวที่ยากแค้นขึ้น พระองค์ได้ดูแลการแจกจ่ายฟืนแก่พวกชาวนาด้วยพระองค์เอง
พระเจ้าหลุยส์ยังมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปที่เรียกว่า Humanitarian reforms ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป และนอกจากนี้ ท้าวเธอบางครั้งยังเนียนแฝงตัวเข้าไปในโรงพยาบาล เรือนจำ และโรงงานต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าคนข้างในทำงานและมีความเป็นอยู่กันจริง ๆ ยังไง
กษัตริย์และราชินียังได้ก่อตั้ง "หมู่บ้านการกุศล" (Maison Philanthropique) ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นคนแก่, คนตาบอด และหญิงม่ายที่ไม่มีคนดูแล พระนางมารียังคงสอนพระธิดาองค์โตอย่าง "มารี เทเรซ" ให้รู้จักเสียสละแก่เด็กชาวนา คนยากจน และคนป่วย องค์ราชินียังทรงสร้างบ้านในเขตพระราชวังแวร์ซายให้แก่มารดาที่มิได้แต่งงาน (Unwed Mother) , รับอุปการะพวกเด็ก ๆ ที่กำพร้าพ่อแม่ รวมถึงออกค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและปัจจัยจำเป็นอื่น ๆ แก่พวกเขาด้วย รวมถึงสร้างกระท่อมในเขตตำหนักเล็ก (Petit Trianon) ของพระนางเองให้ครอบครัวชาวนาจำนวนมากอาศัยอยู่ ทั้งพระเจ้าหลุยส์ยังทรงสั่งให้แจกจ่ายอาหารแก่พวกเขาทุกวันด้วย
ช่วงปี ค.ศ. 1787 - 1788 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นในฝรั่งเศส ไม่มีการไล่ประชาชนไปกินเค้กดังที่กล่าวหาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทั้งกษัตริย์และราชินีกลับยอมขายกระทั่งเครื่องจานชามมากมายเพื่อซื้อเมล็ดข้าวแจกจ่ายให้ประชาชน โดยที่ทั้งสองพระองค์ได้เสวยแค่ขนมปังบาเล่ห์ถูก ๆ เท่านั้น
ทั้งกษัตริย์และราชินีต่างมิได้ทรงมองว่าการช่วยเหลือคนยากจนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่จะทำให้พวกเขาเป็นดังนักบุญ หากแต่เป็น "หน้าที่โดยพื้นฐานในฐานะคริสตชน" ทว่าน่าเสียดายที่สุดท้าย พระราชกรณียกิจการกุศลของพวกเขาต้องจบลงเมื่อการปฏิวัติเริ่มขึ้น และถูกจองจำอยู่ในวิหารตลอดเดือนสิงหาคม ค.ศ.1792 ที่พวกเขาไม่มีอะไรจะให้แก่ประชาชนอีกแล้ว นอกจากชีวิต
ข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงจากหนังสือ Louis and Antoinette เขียนโดย Vincent Cronin และหนังสือชีวประวัติของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ของนักเขียนชื่อดังสองท่าน Marguerite Jallut's และ Philippe Huisman และเชื่อว่าแท้ที่จริงแล้ว ถึงจะไม่สามารถหยุดยั้งการปฏิวัติได้ แต่ทั้งสองพระองค์อาจจะยังทรงมีพระกรณียกิจอีกจำนวนมากที่กลับไม่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงเท่าใดนัก และถูกลืมไปอย่างน่าเศร้าภายใต้กระแสความเกลียดชังต่อระบอบกษัตริย์ของฝรั่งเศสในที่สุด
การปฏิรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีอะไรบ้าง?
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เริ่มการปฏิรูปเหล่านี้นับตั้งแต่พระองค์เริ่มขึ้นครองราชย์
ค.ศ.1774 พระองค์ได้จัดการให้นาย Turgot (Anne Robert Jacques Turgot) ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระองค์เองเป็นผู้ดูแลเรื่องการเงินและการขนส่งหมุนเวียนเมล็ดข้าว
พระองค์ยังทรงก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ในปารีส
ค.ศ.1775 พระองค์ทำการลดภาษีที่เรียกว่า Droits d'octroi , ทำการปฏิรูปเรือนจำ และยกเลิกการประหารนักโทษที่เป็นทหารหนีทัพ
ค.ศ.1776 พระองค์ลงนามในพระบรมราชโองการที่ Turgot ยื่นเสนอจำนวนหกข้อ ในจำนวนนั้นมีข้อที่ประสงค์การเลิกระบบ corvee (คือ ระบบแรงงานฟรีที่ให้สามัญชนเข้ามาทำงานให้วังโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) แต่กลับถูกพวกสมาชิกสภายับยั้งเสียก่อน
ในปีเดียวกันพระองค์พยายามลดค่าใช้จ่ายในราชสำนัก
ค.ศ.1778 พยายามลดภาษีเพิ่มเติม
ค.ศ.1779 ยกเลิกระบบทาส
ค.ศ.1780 พยายามลดค่าใช้จ่ายราชสำนักลงไปอีก และยังปฏิรูปโรงพยาบาลและเรือนจำเพิ่มเติม ยกเลิกการทรมานนักโทษหลายรูปแบบออกไป
ค.ศ.1784 ช่วยเหลือชาวยิวในประเทศ
ค.ศ.1786 ปฏิรูปโรงพยาบาลเพิ่มอีก เน้นช่วยเหลือคนหูหนวก และเด็กไร้บ้าน
ค.ศ.1787 พยายามยกเลิกระบบ corvee อีกครั้ง , ลดค่าใช้จ่ายราชสำนัก , ยอมรับสิทธิพลเมืองแก่ชาวยิวและผู้นับถือนิกายโปรแตสแตนท์
ค.ศ.1788 ยกเลิกการทรมานนักโทษทุกรูปแบบ , ให้อิสรภาพแก่ประชาชนมากขึ้น , พยายามยกเลิกระบบ Lettres de cachet (ผมพยายามค้นข้อมูลตรงนี้ เข้าใจว่าเป็นระบบคำสั่งลับที่ราชวงศ์ฝรั่งเศสใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13) แม้ว่าจะยังยกเลิกไม่สำเร็จตอนที่ยังทรงพระชนม์อยู่
ทั้งหมดนี้ถูกบันทึกในหนังสือ Louis XVI and Marie-Antoinette during the Revolution เขียนโดย Nesta Webster จะเห็นได้ว่าพระองค์เตรียมการเอาไว้มากมาย หากแต่มีหลายเหตุปัจจัยทำให้หลายอย่างมิอาจประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีขุนนางและข้าราชการที่ร่ำรวยจำนวนมากพยายามขัดขวางและหลีกเลี่ยงไม่ให้พวกตนต้องจ่ายภาษี (จนทำให้ท้องพระคลังต้องเป็นหนี้) และส่วนหนึ่งคือพวกศัตรูของราชวงศ์พยายามหาทางขัดขวางไม่ให้สำเร็จได้ เพื่อให้มีข้ออ้างอันชอบธรรมที่จะปฏิวัตินั่นเอง
จนกระทั่ง เมื่อพระองค์และพระมเหสีต้องตกเป็นแพะรับบาประดับโลก ในขณะที่พวกตัวการจริง ๆ ไม่แม้แต่จะถูกกล่าวถึง หรือบางคนยังได้เป็นวีรบุรุษหลังจากนั้นหน้าตาเฉยอีกต่างหาก
ข้อมูลนี้มาจากการแปลเนื้อความจากภาษาอังกฤษ หากมีผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ และรบกวนผู้รู้ช่วยชี้แจงให้ถูกต้อง และกรุณาใช้คำสุภาพ ขอบคุณครับ
โฆษณา