9 ก.ย. 2020 เวลา 11:10 • การเมือง
การเมือง เรื่องห้ามคุย
ข่าวการเมืองช่วงนี้ดุเดือดไม่ใช่น้อย
เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา นักเรียนก็พึ่งจัดชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาฯ กันไป
มีการดีเบตก้บรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้วย
รายละเอียดคงตามหาอ่านกันได้
แน่นอนว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
เพราะทุกอย่างรอบตัวเราล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น
ตั้งแต่โรงพยาบาลที่เราเกิด
บ้านที่เราอาศัย
โรงเรียนที่เราเรียน
มหาวิทยาลัยที่เราศึกษา
ที่ทำงานที่เราทำงาน
เพราะการเมืองคือการจัดสรรอำนาจ เพื่อแบ่งปันทรัพยากร
ดังนั้น เราทุกคนสามารถพูดคุยเรื่องการเมืองกันอย่างเปิดเผยได้
แต่ทำไมเรายังรู้สึกตะขิดตะขวงใจเวลาต้องคุยเรื่องการเมือง
ทำไมเราพูดคุยการเมืองกันอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้
วันนี้เลยมาชวนดูงานวิจัยของ Harvard Business Review ในหัวข้อ
“พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างไร ที่จะไม่ทำให้อีกฝั่งกลายเป็นศัตรู”
งานวิจัยแบ่งออกเป็นสองส่วน
ส่วนแรก แสดงถึงลักษณะที่เป็นอยู่ในสังคม
ส่วนที่สอง ชี้ให้เห็นถึงทักษะการพูดที่ช่วยให้คุยเรื่องการเมืองได้ง่ายขึ้น
1
งานวิจัยส่วนแรก
ในปี 2016 นักวิจัยได้สำรวจผู้ที่จะออกไปเลือกตั้งจำนวน 1,866 คนในสหรัฐอเมริกา พบว่า
- 9 ใน 10 ของทั้งหมด บอกว่าการเลือกตั้งปี 2016 มีการแบ่งฝ่ายและโต้เถียงกันรุนแรงมากกว่าปี 2012
- 81% บอกว่าหลีกเลี่ยงการสนทนาเรื่องการเมืองโดยเด็ดขาด
และให้ผู้เข้าทดสอบลองนิยามถึงกลุ่มที่เลือกพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม
คำนิยามส่วนใหญ่ที่ถูกใช้ ประกอบด้วย
- ไร้การศึกษา
- ขาดการอบรม
- ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
- พวกชอบเหยียด
- คับแคบ
- หน้ามืดตามัว
คุ้น ๆ กันบ้างไหมครับ
เหมือนเหตุการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญเลย
2
งานวิจัยส่วนที่สอง
นักวิจัยได้เชิญคน 3,688 คน มาสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองแบบออนไลน์
วิธีคือ เริ่มถามความคิดเห็นทางการเมืองของผู้เข้าร่วมก่อน
จากนั้นแบ่งผู้เข้าร่วมเป็นสองกลุ่ม โดยให้ทั้งหมดดูคลิปวีดิโอที่มีนักแสดงที่แสดงความเห็นทางการเมืองตรงกันข้าม
กลุ่ม 1 ดูคลิปที่นักแสดงใช้ทักษะ 4 ทักษะ (ในข้อต่อไป) ในการแสดงความคิดเห็น
กลุ่ม 2 ดูคลิปที่นักแสดงใช้วิธีการพูดที่เน้นตัวเองเป็นศุนย์กลางและพูดให้อีกฝ่ายกลายเป็นตัวร้าย
ให้ผู้อ่านลองทายกันเล่น ๆ ดูครับ ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร
...
ผลลัพธ์ที่ออกมา ปรากฎว่า
กลุ่ม 1 บอกว่านักแสดงนั้น
- ดูมีชั้นเชิงมากขึ้น 5 เท่า
- ดูน่าคบหามากขึ้น 4 เท่า
- ดูมีความรู้มากขึ้น 3 เท่า
- ชักจูงได้มากขึ้น 140%
- มีโอกาสพูดคุยกับคนเห็นต่างได้มากขึ้น 140%
- มีโอกาสรักษาความสัมพันธ์ได้เพิ่มขึ้น 180%
กลุ่ม 2 บอกว่านักแสดงนั้น
- น่ารำคาญ
- ไม่น่าคบหา
- ขาดการอบรม
ผลลัพธ์น่าทึ่งเลยทีเดียว
แล้วถ้าผู้วิจัยเปิดคลิปนักแสดงที่แสดงความเห็นทางการเมืองเหมือนกันหล่ะ
ผลลัพธ์ของผู้ฟังทั้ง 2 กลุ่มจะเปลี่ยนไปไหม
คำตอบคือไม่เปลี่ยน
นั่นคือกลุ่ม 1 ก็ยังมองว่าคนที่พูดนั้นดูน่าเชื่อถือเช่นเดิม และ
กลุ่ม 2 ก็ยังมองว่าคนที่พูดนั้นไม่น่าคบหาเช่นเดิม
แปลว่า
ไม่เกี่ยวว่าเนื้อหาที่พูดนั้นจะเป็นอย่างไร
สำคัญที่ “วิธี” ที่เราพูดมากกว่า ที่จะบ่งบอกความน่าเชื่อถือและความน่าสนทนาของตัวเรา
เมื่อผลลัพธ์ออกมาดี มาดูกันว่าวิธีพูดทั้ง 4 แบบนั้น เป็นอย่างไร
3
วิธี 4 วิธีที่จะช่วยให้คุยการเมืองได้โดยไม่ตีกันซะก่อน
และตัวอย่างวิธีพูดเปิดประเด็น มีดังนี้
1) คุยเพื่อเรียนรู้
ให้ท่องไว้ว่า เราคุยเพื่อเรียนรู้ความคิดของคู่สนทนา
ไม่ได้คุยเพื่อเปลี่ยนใจเขา
เพราะถ้าเราอยากจะเปลี่ยนความคิดคนอื่น
อาการจะฟ้องในวิธีหรือท่าทางที่เราพูด
“เรารู้ว่าคุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เราเพียงสงสัยว่าทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น
คุณช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม”
2) ขออนุญาตก่อนเสมอ
ขออนุญาตก่อน หากต้องการจะพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อน
“เราไม่ได้อยากเถียง เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนความคิดคุณ
เราแค่อยากเข้าใจ เพราะเรามองเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง
เราขออธิบายว่าทำไมเราถึงคิดอย่างนั้นได้ไหม”
3) คุยด้วยความเคารพความเห็น
ความเคารพก็เหมือนอากาศหายใจ
ถ้าคุณดูดอากาศออกไป ผู้คนก็จะยิ่งต้องการมัน
ไม่มีใครจะเปิดใจคุยด้วย ถ้าเขาไม่รู้สึกว่าคุณเคารพเขา
“เรารู้ว่าคุณคิดอย่างไร และเราเคารพความคิดนั้น
เราอยากฟังเพื่อเข้าใจ และเราไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นจะถูกเสมอไป”
4) หาจุดร่วม
มองหาจุดที่คิดเหมือนกัน มากกว่ามองหาจุดที่แตกต่างกันหรือคอยจับผิด
หากบทสนทนามีท่าทีว่าจะบานปลาย ให้ลองหยุด แล้วทบทวนเป้าหมายร่วมกัน
“เรามีเป้าหมายคือคุยเพื่อเข้าใจกัน
ดังนั้นแต่ละประเด็นที่คุย เราจะทำโดยคิดถึงเป้าหมายนั้นเสมอ”
ผู้เขียนเชื่อว่า
สังคมประชาธิปไตยที่ดี จำเป็นต้องมีผู้คนที่เปิดรับความเห็นต่าง
ความหลากหลายทางความคิดคือจุดแข็งของมนุษย์
การถกเถียงเพื่อพัฒนาคือสิ่งที่จะทำให้สังคมเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"Debate is healthy
and no one here, starting with me, has a monopoly on being right"
----Ted Kulongoski
ไม่มีใครผูกขาดความถูกต้องได้ไปตลอด
เชิญชวนให้ลองนำไปประยุกต์ใช้กันดูนะครับ
ไม่ต้องทำเพื่อใครก็ได้
แต่ทำเพื่อความน่าเชื่อถือและความน่าเคารพของตัวเอง
เรารู้ว่ามันยาก
เพราะเราก็ทำไม่ได้ในบางครั้ง
แต่ถ้าทำได้
สังคมรอบ ๆ ตัวคุณคงเปลี่ยนไปไม่น้อยเลย
Tell Me More !
เพราะความอยากรู้มีไม่จำกัด
บันทึกไว้อ่านเองซะส่วนใหญ่ แบ่งปันกันได้ตามโอกาส
เรื่องราวการเงิน ธุรกิจ การลงทุน รอบตัว
— ทุกการกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม คำติชม ช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้เขียน
ติดตามได้ที่
โฆษณา