10 ก.ย. 2020 เวลา 15:54 • ประวัติศาสตร์
วันที่ 9 เดือน 9 กับจังหวะก้าวบนหน้าประวัติศาสตร์จากเกาหลีเหนือ จีน และประเทศไทย
พึ่งผ่านไปกับวันที่ 9 เดือน 9 ที่ใครๆ ต่างถือว่าเป็นวันฤกษ์ดีวันหนึ่ง ด้วยเลข 9 ของวันและเดือน ที่ออกเสียงพ้องกับคำว่า "ก้าว" ซึ่งความหมายของการเริ่มต้นใหม่และความเจริญก้าวหน้า ทำให้วันนี้อาจเป็นวันที่ใครหลายคนใช้เริ่มต้นทำกิจการต่างๆ กันมากด้วยชื่อของวันที่ 9 เดือน 9 นั้นเอง
อันที่จริงวันที่ 9 ก.ย.นี้ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในอดีตอีกมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวันชาติของเกาหลีเหนือ ซึ่งตรงกับวันที่ 9 ก.ย.2491 อันเป็นก้าวแรกของการปกครองประเทศในฐานะผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ของ ท่านคิมอิลซุง ผู้ที่เปรียบเสมือนบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐเกาหลีเหนือ
อนุสาวรีย์นายคิมอิลซุง ผู้นำเกาหลีเหนือรุ่นที่ 1 แห่งตระกูลคิม
บทบาทสำคัญของท่านผู้นำคิมอิลซุง คือการนำพาเกาหลีเหนือเข้าสู่สงครามเกาหลี และหยัดยืนบนเวทีโลกในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์หนึ่งเดียวที่ยังยึดถืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างเข้มขัน ต่างกับจีนที่ปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ภายใต้นโยบายสี่ทันสมัยและหนึ่งประเทศสองระบบ ในสมัยเติ้งเสียวผิง
ด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จและแนวการบริหารประเทศของคิมอิลซุง ที่ตัวเขามีความโดดเด่นในฐานะผู้นำกองทัพในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอย่างอเมริกา และในฐานะบิดาของประเทศที่ยืนอยู่ข้างประชาชนเกาหลีเหนือนั้น ได้นำไปสู่การเกิดลัทธิบูชาตัวบุคคลขึ้นมา ซึ่งตัวเขาได้รับการยกย่องจากประชาชนว่า "ท่านผู้นำ" และ "ประธานาธิบดีตลอดกาล"
ชาวเกาหลีเหนือทำความเคารพอนุสาวรีย์ท่านผู้นำคิมอิลซุง(ซ้าย) และ คิมจองอิล(ขวา) หน้าวังสุริยะคึมซูซัน
ซึ่งส่งผลให้ภายหลังการปกครองเกาหลีเหนือที่มีรูปแบบการปกครองตามนิตินัยแบบคอมมิวนิสต์นั้น กลับมีลักษณะที่แฝงไว้ด้วยการปกครองในลักษณะการสืบทอดอำนาจในสายเลือดภายในตระกูลคิม มาอย่างต่อเนื่อง ถึง 3 ชั่วคน จากพ่อสู่ลูก จากลูกสู่หลาน
โดยเห็นได้จากการขึ้นมามีอำนาจของ คิมจองอิล บุตรชาย ในรุ่นที่ 2 และ ส่งต่ออำนาจไปยังหลานชาย คือ คิมจองอึน ผู้นำรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน จนอาจเรียกรูปแบบการปกครองนี้ได้ว่า "คอมมิวนิสต์สืบสันตติวงศ์"
คิมอิลซุง ผู้นำรุ่นที่ 1 (28 ธ.ค.2515 – 8 ก.ค.2537) คิมจองอิล ผู้นำรุ่นที่ 2 (8 ต.ค. 2537 – 17 ธ.ค.2554) คิมจองอึน ผู้นำรุ่นที่ 3 (17 ธ.ค.2554 - ปัจจุบัน)
จากลักษณะการสืบทอดอำนาจที่อยู่ภายในตระกูลคิมนี้เอง เป็นผลมาจากลัทธิบูชาตัวบุคคลที่ให้ค่าผู้นำในฐานะบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ เสียสละ และทุ่มเทเพื่อประชาชนเกาหลีเหนืออันเป็นที่รักยิ่ง
คิมอิลซุง กับ เหมาเจ๋อตุง ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ.2507
คิมอิลซุง เข้าเยี่ยม เหมาเจ๋อตุง ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ.2518 ก่อนเหมาฯถึงอสัญกรรม 1 ปี
นอกจากวันชาติเกาหลีเหนือแล้ว วันที่ 9 เดือน 9 นี้ยังเคยมีเหตุการณ์อื่นๆที่สำคัญเกิดขึ้นอีกมาก เช่น ในปี 2519 วันนี้ก็เป็นวันถึงแก่อสัญกรรม ของท่านเหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของโฉมหน้าของประวัติศาสตร์จีนให้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปรับตัวครั้งใหม่
การจากไปของเหมาเจ๋อตุง ถือเป็นการปิดฉากรอยแผลและความผิดพลาดครั้งใหญ่ในยุคปฎิวัติวัฒนธรรม อันเป็นผลของลัทธิบูชาตัวบุคคลผ่านขบวนการยุวชนแดง(เรดการ์ด หรือ หงเว่ยปิง) ที่อยู่ภายใต้การบงการของ แก๊งค์ 4 คน (四人帮) ซึ่งนำโดยนางเจียชิง ภริยาของเหมาเจ๋อตงและพรรคพวกอีก 3 คนคือ เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และหวังหงเหวิน
เหมาเจ๋อตงและนางเจียชิง ภรรยาในสมัยหนุ่มสาว
ภาพนางเจียงชิงบนโปรเตอร์รณรงค์ในการปฏิวัติวัฒนธรรม ระหว่าง พ.ศ.2509 - 2519
ความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มยุวชนแดง (Red Guards) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่างและคู่แข่งทางการเมืองของแก็ง 4 คน ในช่วงทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม พ.ศ.2509 - 2519 ถือเป็นจุดด่างพร้อยประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านผู้นำเหมาฯ
ภาพกลุ่มยุวชนแดง ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนหัวรุนแรงคลั่งลัทธิเหมาอิสซ์ ที่ใช้วิธีรวมกลุ่มบังคับประจานผู้ที่กลุ่มตนคิดว่าขัดขวางการปฏิวัติวัฒนธรรม
การบังคับประจานผู้ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านการปฏิวัติของกลุ่มยุวชนแดง (Red Guards) ในที่สาธารณะ
กลุ่มยุวชนแดง (หงเว่ยปิง) ร่ำไห้แก่การจากไปของบิดาแห่งการปฎิวัติ
ภาพประชาชนร้องไห้ปานหัวใจสลายระหว่างเคารพศพ ประธานเหมาเจ๋อตุง
ดังนั้นภายหลังการอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตุง แก๊งค์ 4 คน ก็พบกับจุดจบ สมาชิกของแก๊งค์ถูกจับและพิจารณาโทษจำคุกและตัดสิทธิทางการเมือง เนื่องจากอำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนขั้วมาอยู่ในมือของ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้ที่ได้เคยได้รับความยากลำบากจากการกลั่นแกล้งของกลุ่มแก๊งค์ 4 คนมาก่อน
สมาชิกแก๊งค์ 4 คน ขณะฟังคำพิพากษาของศาลพิเศษ ในข้อหา “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2524
สีหน้านางเจียงชิง ขณะฟังการตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิต ต่อมาภายหลังได้รับการลดโทษให้จำคุกตลอดชีวิต จนในปี พ.ศ.2534 เธอก็ได้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในคุก
การสิ้นสุดสมัยเหมาเจ๋อตุงและจุดจบของการปฏิวัติวัฒนธรรมของแก๊งค์ 4 คน ได้นำมาสู่การพัฒนาประเทศด้วยนโยบายสี่ทันสมัย ของเติ้งเสียวผิง อันนำไปสู่การว่างรากฐานให้จีนฟื้นตัวจากประเทศที่ยากจนมาสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกในระยะเวลาไม่ถึง 3 ทศวรรษ
โปสเตอร์ นโยบาย 4 ทันสมัย ของเติ้งเสี่ยวผิง ที่พัฒนาประเทศจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยใน 4 ด้าน คือ 1.เกษตรกรรม 2.อุตสาหกรรม 3. การทหาร และ 4. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พูดถึงเรื่องต่างประเทศมาก็เยอะแล้ว สำหรับเหตุการณ์ของไทยที่เกิดขึ้นใน วันที่ 9 เดือน 9 นั้น เท่าที่พอจะนึกได้ก็น่าจะเป็น เหตุการณ์ กบฎทหารนอกราชการ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
โดยครั้งนั้นมี พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร นายทหารนอกประจำการในกลุ่มยังเติร์ก ที่ได้เคยพ่ายแพ้ในช่วงเหตุการณ์กบฎเมษาฮาวาย พ.ศ.2524 เป็นผู้นำยึดอำนาจ ขณะที่พลเอกเปรม ในขณะนั้นไม่อยู่ภายในประเทศ เนื่องจากเดินทางไปราชการที่อินโดนีเซีย
แต่การก่อการของกลุ่มยังเติร์กในครั้งนั้นกลับทำไม่สำเร็จ เพราะกองกำลังทหารที่นัดกันไว้ให้เคลื่อนกำลังออกมายึดอำนาจนั้น ไม่มาตามนัด ทำให้เกิดการต่อสู้และยิงปะทะกันอย่างรุนแรงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนท้ายที่สุดก็มีการเจรจาหยุดยิงและนำไปสู่การเข้าจับกุมแกนนำนายทหารผู้ก่อการครั้งนั้น
พลตรี มนูญกฤต รูปขจร แกนนำนายทหารยังเติร์ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหาร จปร รุ่น 7
รถถังฝ่ายกบฎยิงปะทะกับกำลังทหารรัฐบาลที่ลานพระรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
เหตุการณ์รถถังฝ่ายกบฎ ยิงปืนเข้าไปยังสถานีวิทยุใน กองพลที่ 1 ในวันที่ 9 ก.ย.2528
ความเสียหายหน้าสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จากการถูกระดมยิงด้วยปืนกล 93 ขนาด 12.7 มม. (0.50 นิ้ว) บนป้อมรถสายพาน M113
ซึ่งเหตุการณ์กบฎในวันที่ 9 ก.ย.2528 นั้นถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดการปะทุจากภายในองคาพยพของกองทัพเอง โดยมีนายทหารกลุ่มยังเติร์กที่มีความไม่พอใจในกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในยุคทหารเรืองอำนาจนับจากการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ.2500
นับจากนั้นก็ได้เกิดการสืบอำนาจในกลุ่มผู้นำกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการส่งผ่านอำนาจมาสู่จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นชนวนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดจากการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและประชาชนใน 14 ตุลาฯ 2516 จนนำไปสู่การเว้นระยะทางการเมืองของกองทัพไประยะหนึ่ง
ขบวนการนักศึกษาชุมนุมใน 14 ตุลาฯ 2516
จนกระทั้งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของผู้นำกองทัพได้กลับมาอีกครั้ง ภายหลังการเกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ และจัดตั้งคณะปฎิรูปการปกครอง ขึ้นหลังจากนั้น
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้ได้ฉายาว่า "จอว์สใหญ่" หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครอง ผู้นำในการก่อรัฐประหาร ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในวันที่ 6 ตุลา 2519
ด้วยเหตุนี้การสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (11 พ.ย.2520 - 3 มี.ค.2523) และรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (3 มี.ค.2523 -4 ส.ค. 2531) อันเรียกได้ว่าเป็น "ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ"
ภาวะการเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำกองทัพนี้ได้สืบต่อมาอย่างยาวนานจนสิ้นสุดลงเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปจากประชาชนอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2531 และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคชาติไทย
แต่ไม่นานหลังจากนั้น ใน พ.ศ.2534 ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้นำกองทัพ จนนำไปสู่ก่อการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมี พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี
จากซ้ายไปขวา พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก
การกลับมามีอำนาจทางการเมืองของผู้นำกองทัพ จนเกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งนำไปสู่การได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชน ตามมาหลังจากนั้น
แต่ท้ายที่สุดวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองก็ได้นำไปสู่การทำรัฐประหารอีก 2 ครั้งติดต่อกันใน พ.ศ.2549 โดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า และ ครั้งล่าสุดใน ปี พ.ศ. 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มี พลเอกประยุทธ จันโอชา เป็นหัวหน้า
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549
พลเอก ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
หากสังเกตให้ดีแล้ว การเกิดรัฐประหารในระยะหลัง พ.ศ.2531 เป็นต้นมาจะพบว่าผู้นำทหารและตำรวจทั้ง 4 เหล่าทัพ ล้วนมีความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การก่อรัฐประหารและยึดอำนาจทุกครั้ง จึงเป็นไปด้วยความราบเรียบปราศจากการต่อต้านจากหน่วยทหารดังเช่นอดีต
ดังนั้น กบฎทหารนอกราชการ ในวันที่ 9 ก.ย.2528 นั้นถือได้ว่า เป็นการต่อสู้ครั้งล่าสุดระหว่างกำลังทหารด้วยกันเองในลักษณะสงครามกลางเมืองขนาดย่อมๆ ต่อจากกบฎบวรเดช พ.ศ.2476 และ กบฎแมนฮัตตัน พ.ศ.2494 ก่อนที่เหล่าทัพทั้งหมดจะมีความเป็นบึกแผ่นมากขึ้นดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน
เหตุการณ์ ในวันที่ 9 เดือน 9 ทั้ง 3 นี้ แม้จะเกิดต่างที่ต่างเวลากัน แต่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่น่านำมาคบคิดว่า เราจะก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยวิธีใด บทเรียนจากอดีตอาจสอนให้เราไม่ก้าวซ้ำรอยของความผิดพลาดนั้นได้ ถ้าเราเปิดใจยอมรับมันมาเป็นบทเรียน...
อ้างอิง
โฆษณา