12 ก.ย. 2020 เวลา 01:54 • ประวัติศาสตร์
ราชินี ‘ศุภยาลัต’ นางพญากษัตริย์สุดท้ายของพม่า
โลกขนานนามเธอว่า ‘ราชินีเลือดเย็น’ แล้วโยนข้อหา ‘ต้นเหตุ’ แห่งการเสียแผ่นดินสิ้นเอกราชให้แก่เธอ แต่ในแวดล้อมของผู้คนที่เคารพเทิดทูน รักและภักดี เธอคือ ‘มิพญา’ ราชินีผู้อยู่เหนือสตรีอื่นใด พระนางศุภยาลัตคือตัวละครหน้าเก่าในแวดวงประวัติศาสตร์พม่าและอาณานิคมศึกษา นับแต่ราชอาณาจักรพม่าตอนบนถูกจักรวรรดิอังกฤษเข้ายึดครอง ประดาข้อมูลและความรับรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับพระนางยังคงเข้มข้นและน่ากังขามาจนถึงปัจจุบันนี้ ถือเป็นบุคคลผู้น่าค้นหาในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ควรค่าแก่การค้นคว้าอย่างยิ่ง
‘ศุภยาลัต’ คงจะต้องรู้ว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์ยิ่งแม้ขณะอยู่ในวัยเด็กหญิง นางประสูติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1859 เป็นเจ้าหญิงที่สืบสายเลือดบริสุทธิ์ของกษัตริย์ พระราชบิดาคือ ‘พระเจ้ามินโดง’ พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงอำนาจเหนือชีวิตและความตายของข้าแผ่นดิน พระมารดาคือ ‘ซินผิ่วมะฉิ่น’ หนึ่งในชายา 63 นางของพระเจ้ามินโดงและเป็นพระญาติชั้นต้นของพระองค์ด้วย กษัตริย์พม่าในยุคนั้นได้รับการผลักดันให้อภิเษกสมรสกับพระญาติวงศ์ใกล้ชิดรวมถึงพี่สาวและน้องสาวต่างมารดา เพื่อสืบสายเลือดบริสุทธิ์ของราชวงศ์คองบองไว้ แม้ซินผิ่วมะฉิ่นจะไม่ใช่มเหสีเอกของพระเจ้ามินโดงแต่พระนางเป็นหนึ่งในสี่มเหสีที่มีชั้นยศลำดับสูงสุด นางเป็นสตรีที่ทรงปัญญา ทะเยอทะยาน และมีอิทธิพลทางความคิดอย่างใหญ่หลวงในพระบรมมหาราชวัง
พระเจ้ามินโดงทรงปกครองราชอาณาจักรอังวะ (ที่เรียกว่าพม่าตอนบน) จากพระราชวังที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลในกรุงมัณฑะเลย์ ‘ปยะตั๊ด’— ฉัตรไม้เจ็ดชั้นฉาบทองมลังเมลืองบนยอดหลังคามหาปราสาทที่สูงตระหง่านเหนือพระราชวังประกาศความเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล พระราชวังตั้งอยู่ใจกลางพระนคร พระบรมวงศานุวงศ์ประทับในพระราชวัง บรรดาเสนาบดี ขุนนาง และข้าราชบริพารอาศัยอยู่ในเขตพระนคร ป้อมปราการมหึมาโอบล้อมพระนครอันมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส คูน้ำกว้างรอบกำแพงเมืองมีบัวสีชมพูอมแดงผุดพรายอยู่เกือบทั้งปี โลกของศุภยาลัตมีอาณาเขตอยู่เพียงภายในพระราชวัง ในวงล้อมของปราสาทมณเฑียรที่งดงามอลังการ และอุทยานไม้ดอกที่ได้รับการทำนุบำรุงอย่างดี ซึ่งนางคงไม่น่าจะรู้สึกถึงความจำเป็นอันใดที่จะต้องย่างกรายออกไปยังโลกภายนอกที่ไกลกว่านี้ ศุภยาลัตไม่เคยขาดแคลนเพื่อนเล่น ในพระราชวังมีบรรดาเจ้าหญิง เด็กหญิงจากตระกูลขุนนาง และนางกำนัลมากมายให้ศุภยาลัตเลือกสรร ด้วยนิสัยดื้อรั้น เผด็จการและชอบวางอำนาจเหนือเจ้าหญิงองค์อื่น ๆ ศุภยาลัตจึงสามารถเลือกผู้ใดก็ตามที่นางพอใจ
ในราชอาณาจักรอังวะไม่มีกฏเข้มงวดเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ขึ้นอยู่กับกษัตริย์ที่จะเลือกรัชทายาทเองแต่ก็มีการระบุไว้ว่า โอรสองค์แรกของกษัตริย์จะได้ตำแหน่งรัชทายาทเว้นแต่กษัตริย์จะแต่งตั้งคนอื่น เจ้าชายธีบอได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน 1878 กล่าวกันว่าแม้ทรงโปรดปรานธีบอผู้เป็นโอรสองค์ที่ 41 มาก แต่พระเจ้ามินโดงไม่เคยคิดจะให้เขาเป็นรัชทายาทและแม้จะทรงรับรู้ความจริงที่ธีบอได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาทขณะกำลังประชวรหนักแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้คัดค้านหรือพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใด ๆ พระเจ้ามินโดงสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1878 ความหวาดหวั่นและความรู้สึกไม่มั่นใจปรากฏชัดเพราะอดีตสอนพวกพสกนิกรว่าการเปลี่ยนแผ่นดินของราชวงศ์คองบองมาพร้อมกับการนองเลือดเสมอ
เดือนพฤศจิกายน 1878 ในพม่านั้นไม่จำเป็นต้องจัดพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการ ชายและหญิงจะถูกนับว่าแต่งงานกันแล้วเมื่อทั้งสองได้กินข้าวและแกงจากจานใบเดียวกัน พระเจ้าธีบอยอมอภิเษกสมรสกับ ‘ศุภยาจี’ พี่สาวของศุภยาลัตพร้อมกัน แม้ศุภยาลัตปรารถนาครอบครองกษัตริย์ไว้เพียงผู้เดียว แต่นางไม่ได้รู้สึกว่าพี่สาวที่เหมือน ‘นางชี’ เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะมาแย่งความเสน่หาจากธีบอไปได้ คืนที่ได้รับการสถาปนาเป็นมเหสี พระนางศุภยาจีเข้าบรรทมที่ตำหนักของมเหสีเอกแต่เพียงเดียวดาย ส่วนองค์กษัตริย์บรรทมร่วมกับพระนางศุภยาลัตที่ตำหนักของพระองค์ พระนางศุภยาลัตฝ่าฝืนประเพณีปฏิบัติอีกครั้ง นางไม่ยอมย้ายออกไปประทับ ณ ตำหนักเหนือที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระนางในวันนั้นหรือวันไหน ๆ และก็เป็นเช่นนี้ไปทุกวันทุกคืน ศุภยาจีเป็นมเหสีเอกเพียงในนาม แต่พระนางศุภยาลัตอยู่เคียงข้างกษัตริย์ตลอดเวลา ความกังวลใหญ่หลวงของเหล่าคณะเสนาบดีคือ พระนางศุภยาลัตมีอิทธิพลเหนือพระเจ้าธีบอมากขึ้นทุกวัน เล่ากันว่าพระเจ้าธีบอจะหันไปสบตาพระนางศุภยาลัตแล้วบอกว่าการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่นาง
เหตุการณ์นองเลือดที่ทำให้ศุภยาลัตถูกกล่าวขานถึงความเลือดเย็น คือ ‘การสังหารหมู่’ สมาชิกราชวงศ์ทั้งเจ้าชาย พระสนม และเจ้าหญิงประมาณ 80 คน โอรสของพระเจ้ามินโดงที่รอดจากการสังหารหมู่ครั้งนี้มีเพียงพวกที่หนีไปก่อนหน้า และพวกที่ยังเป็นเด็กเล็ก พระบรมวงศานุวงศ์ถูกสังหารตามธรรมเนียมของจารีตประเพณี พวกเจ้าชายถูกทุบที่ก้านคอด้านหลังด้วยกระบอง พระสนมและเจ้าหญิงถูกทุบที่ลำคอด้านหน้า มีข่าวลือกล่าวว่าระหว่างที่มีการสังหารนั้น มีการจัดมหรสพระบำรำฟ้อนเพื่อกลบเสียงกรีดร้องของเหล่าราชนิกุลที่ถูกสังหาร แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าผู้สั่งการสังหารหมู่ครั้งนี้คือ พระนางซินผิ่วมะฉิ่น หรือพระนางศุภยาลัตกันแน่ ดร.มาร์คส์ พระอาจารย์แห่งโรงเรียนมิชชันนารีที่พระเจ้าธีบอเคยเรียนในช่วงวัยเด็ก ได้เขียนจดหมายมาแสดงความยินดีกับพระองค์ด้วยรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์คองบองที่มีการประหัตประหารกันแทบทุกครั้งที่ผลัดแผ่นดินเขาจึงเขียนมาว่า ‘ข้ารับใช้พระผู้เป็นเจ้าคนนี้ปรารถนาให้ความกรุณาปรานีที่พระองค์ทรงมีต่อทวยราษฎร์เป็นที่เลื่องลือระบือไกลเฉกเช่นพระบิดาของพระองค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเมตตาของพระองค์ต่อเจ้าชายทั้งหลายผู้เป็นเชษฐาและอนุชาและเพื่อนร่วมโรงเรียนของพระองค์...’ แต่คำอวยพรนี้มิได้บังเกิดผล
ข้าหลวงอังกฤษประจำกรุงมัณฑะเลย์รายงานเหตุการณ์สังหารหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ไปยังสำนักงานใหญ่และเขียนจดหมายถึงราชสำนักประณามการสังหารหมู่ครั้งนี้ ‘กินหวุ่นมินจี’ หัวหน้าคณะเสนาบดีในรัชสมัยพระเจ้ามินโดงและพระเจ้าธีบอตอบกลับด้วยถ้อยคำที่ระมัดระวังว่า ขอให้ทางอังกฤษสนใจกิจการของประเทศตนเอง เขาชี้แจงว่าทุกประเทศต่างมีสิทธิ์ที่จะทำการใดเพื่อความมั่นคงของประเทศ และเสริมว่าการสังหารหมู่นี้เป็นไปตามจารีตประเพณี ข้าหลวงอังกฤษประจำกรุงมัณฑะเลย์ที่เคยได้พบเจ้าหญิงหลายองค์ที่ถูกสังหารบอกว่า ‘สตรีเหล่านี้แสนร่าเริงและอ่อนหวานที่สุดในโลก...พวกเธอนอบน้อมและมีท่าทีสยบยอมอย่างเห็นได้ชัด...’
ความฮึกเหิมที่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ ทำให้พระเจ้าธีบอกล้าที่จะสั่งให้มีการป่าวประกาศไปทั่วราชอาณาจักรว่า พระองค์ได้ไล่ข้าหลวงอังกฤษออกจากกรุงมัณฑะเลย์ และจะจัดการกับพวกอังกฤษในแผ่นดินในไม่ช้า ทรงปฏิญาณอีกด้วยว่าพระองค์จะไม่ขอพบกับพวก ‘กะลาหน้าขาว’ (ชาวตะวันตก) อีก ในอีกเหตุการณ์หนึ่งเล่ากันว่าพระนางศุภยาลัตรับสั่งกับพวกนางกำนัลและผู้ที่มาเข้าเฝ้าว่า ‘ขับไล่พวกอังกฤษออกจากเมืองเพราะต้องการให้พวกเขากลัว หากเดือยไก่ยาวและพร้อมจะทิ่มแทง จงตัดเดือยนั้นทิ้ง หากจะงอยปากนกยาวและพร้อมจะจิกตี จงตัดจะงอยนั้นทิ้ง ปากปีกยาวและพร้อมจะบิน จงตัดปีกทิ้ง’
เมื่อปีแรกของการครองราชย์ผ่านไป ก็เป็นที่รู้กันโดยถ้วนทั่วว่า ‘ธีบอถึงจะเป็นกษัตริย์ แต่พระองค์ยังคงความอ่อนโยนไว้ แท้จริงแล้วศุภยาลัตคือผู้ปกครองตัวจริงของพม่าตอนบน’ การใช้อำนาจควบคุมและจัดการของพระนางถูกอธิบายว่า ‘คมกริบเหมือนมีดโกน’ รัฐบาลอังกฤษในตอนนี้ไตร่ตรองอย่างจริงจังที่จะกำจัดกษัตริย์ธีบอ ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรอังวะกับอังกฤษนั้นยังคงตึงเครียดหลังสงครามระหว่างกันสองครั้งก่อน เหตุผลสามประการหลักของการทำสงครามนี้คือ
#ประการแรก นับแต่รัชสมัยพระเจ้ามินโดง ราชอาณาจักรอังวะได้มีสัมพันธไมตรีอันดีกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับอังกฤษอย่างเปิดเผย
#ประการที่สอง ชุมชนการค้าของอังกฤษในพม่าตอนล่างต้องการให้ผนวกอังวะเข้ามาเพื่อให้การทำการค้าง่ายขึ้นและทำกำไรได้มากขึ้น
#ประการที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดความบาดหมางมากขึ้น เพราะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษในกรุงมัณฑะเลย์ไม่สามารถเข้าเฝ้ากษัตริย์ได้ ทำให้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ค้างอยู่นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ปลายปี 1885 อังกฤษยึดครองกรุงมัณฑะเลย์ได้ในเดือนธันวาคม 1885 กองทัพอังกฤษได้รับการฝึกฝนอย่างดียิ่งและมีอาวุธรุ่นล่าสุด เมื่อเทียบกับปืนขนาด 64 ปอนด์ที่ทหารอังกฤษใช้ ทหารพม่ามีอาวุธเพียงดาบ หอก และปืนขนาด 3-8 ปอนด์ อังกฤษยังตัดสินใจที่จะใช้ปืนกลด้วย คำประกาศที่ลงนามโดยนายพลแปรนเดอร์กัสท์ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจให้ ‘พระองค์’ (พระเจ้าธีบอ) ต้องสละราชบัลลังก์ สงครามครั้งที่สามระหว่างอังกฤษกับพม่านำไปสู่การล้มล้างกษัตริย์ธีบอและจุดจบของราชวงศ์คองบองที่ปกครองราชอาณาจักรอังวะนาน 133 ปี สงครามจบลงแทบจะก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ กองทัพของนายพลแปรนเดอร์กัสท์ใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์ในการเอาชนะสงคราม คืนวันที่ 27 พฤศจิกายน 1885 ก่อนวันสิ้นสุดของราชวงศ์คองบอง มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ยากจะพบเห็น เกิดพายุฝนดาวตกเป็นบริเวณกว้างใหญ่ตระการตา ดาวตกหลายพันดวงส่องประกายกระจ่างฟ้าตลอดทั้งคืน ประชาชนในราชอาณาจักรอังวะจ้องมองฟากฟ้าเบื้องตนอย่างหวั่นวิตก ครุ่นคำนึงถึงลางร้ายจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้า
อ้างอิง :
ฟีลดิ้ง-ออลล์ แฮโรลด์. (2559). ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : มติชน.
สุดาห์ ชาห์. (2559). ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : มติชน.
คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2554). พม่าเสียเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 13). นนทบุรี : ดอกหญ้า.
โฆษณา