13 ก.ย. 2020 เวลา 05:30 • การ์ตูน
Cipher
.
ย้อนเวลาไปใช้ชีวิตกับวัยรุ่นอเมริกายุค 1980 กับมังงะจากญี่ปุ่น
"ชื่อจริงของตึกแฝดคืออะไร"
"เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์?"
"เจค กับ รอย ต่างหาก"
.
เชื่อว่าหลายคนที่เห็นประโยคข้างต้นจากการ์ตูนแนว Coming Of Age ของอาจารย์นาริตะ มินาโกะ ที่ทางสยามอินเตอร์คอมิกส์หยิบจับมาทำฉบับ Collector's Editon ก็จะรู้สึกถึงกาลเวลาที่พ้นผ่านได้อย่างดี เพราะตัวมังงะเรื่อง Cipher เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหล่าวัยรุ่นในยุค 1980s ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ไซเฟอร์ กับ ศิวะ หรือ เจค กับ รอย แรงค์ สองฝาแฝดที่เคยเป็นนักแสดงเด็ก ที่คนภายนอกเข้าใจว่าแฝดคนหนึ่งเกษียนตัวเองงานแสดงเพื่อไปเรียนต่อ ส่วนอีกคนยังรับงานในวงการบันเทิงอยู่ แต่ความจริงทั้งสองคน ได้ตัดสินใจใช้ชีวิตในกรุงนิวยอร์ค ในฐานะ 'ศิวะ' เพียงคนเดียว จนกระทั่งเด็กสาวที่ชื่อ อานิส เมอร์ฟี่ ที่อยากสนิทสนมกับ ศิวะ ที่เรียนในโรงเรียนเดียวกัน บังเอิญจับผิดว่าทั้งสองคนปลอมตัวเป็นคนเดียวกัน และเพื่อให้คู่แฝดบอกเล่าความจริง เธอจึงยอมเล่นเกมกับทั้งแฝดหนุ่มด้วยการไปใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อแยกให้ออกว่าแฝดคนไหนคือ ไซเฟอร์ และ คนไหนคือ ศิวะ แต่การละเล่นแบบนี้กลับสร้างความผูกพันและยังมีผลต่อแผลใจที่ซับซ้อนอยู่แล้วของทุกคนให้ขมวดปมรุนแรงยิ่งขึ้น
.
ด้วยบรรยากาศตามท้องเรื่อง จะรู้สึกไม่ผิดเลยถ้าจะอ่านมังงะเรื่องนี้ไปแล้วหาเพลงจากยุค 1980 ตรงๆ หรือจะเป็นเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยุคนั้นอย่างเพลงของวง Polycat มาเปิดคลอไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่ว่าอาจารย์นาริตะ เจ้าของผลงานเขียนนิวยอร์คในการ์ตูนประหนึ่งว่าไปอาศัยอยู่ที่นั่่นตลอดการเขียนมังงะเรื่องนี้ ไม่ว่าจะฉากหลัง หรือการใช้ชีวิตก็ดูมีความเป็นอเมริกันชนพุ่งกระจายออกมามาก แถมยังไม่ได้เล่าในแง่มุม 'โลกสวย' แค่อย่างเดียว แต่ยังมีการข้ามไปเล่าช็อตปัญหาสังคมอย่างโซนอันตรายของนิวยอร์ค หรือ เรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด แม้ว่าจะไม่ได้เจาะลึกมากนักแต่ก็ไม่เคยหลบหน้าจากเรื่องร้ายในสังคมเลย
.
เมื่ออาจารย์กล้าเขียนฉากหลังให้มีความหม่นแล้ว ตัวพลอทหลักที่เป็นฉากหน้าของเรื่องเองก็มีอะไรแบบนั้นอยู่เช่นกัน ถึงตัวเรื่องจะเกริ่นขึ้นนำมาเหมือนการ์ตูนตาหวานเล่าเรื่องรักวัยรุ่นหวานแหวว แต่สำหรับมังงะเรื่องนี้เมื่อถึงเวลาลงลึกไปยังตัวละครทีละตัวแล้ว อาจารย์นาริตะก็จัดให้แบบเข้มข้นไม่น้อย อย่างปมของตัวละครแฝดที่ว่า ทำไมต้องปลอมตัวเป็นคนเดียวกัน ก็เป็นปมประเด็นที่อยู่ยาวจนท้ายเรื่อง หรือตัวอานิสที่เป็นนางเอก ก็มีปมว่าทำไมเธอถึงต้องออกตัวแรงแสนสตรองแบบนั้น และการเขียนปมตัวละครแบบนี้ถือว่าเป็นงานถนัดของอาจารย์นาริตะ ที่มีให้เห็นในผลงานเรื่องต่อๆ ไปของอาจารย์อีกด้วย
.
ด้วยเหตุผลในย่อหน้าก่อนหน้านี้ จึงบอกได้อย่างเต็มปากว่า Cipher เป็นการ์ตูนที่ไม่ว่าใครก็อ่านสนุกได้ ไม่ว่าจะอ่านด้วยการมองดูเทรนด์แฟชั่นและความบันเทิงในยุค 1980, มองดูความเปลี่ยนแปลงของนิวยอร์คที่ถูกใช้เป็นฉากหลังหลัก, หรือจะอ่านเรื่องราวของวัยรุ่นที่ต่างพยายามหาทางรักษาแผลใจของตนเอง แต่กลับกลายเป็นว่าบางวิธีทำให้ตัวเองทรมานเพิ่มอย่างไม่รู้ตัว จนต้องลุ้นว่าเวลา หรือ จะมีใครที่ทำให้แผลนั้นฟื้นตัวจากเดิมได้บ้าง ซึ่งงานการ์ตูนสายโชโจที่มักจะเก็บรายละเอียดอะไรไว้เยอะกว่าที่ภาพปกนำเสนอ และผมค่อนข้างโชคดีที่มีคนมาทุบกำแพงอคติจนได้อ่านมังงะเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยก่อนหน้านี้
.
นอกจากนี้อาจารย์นาริตะ มินาโกะ ยังใช้ Cipher ในการขยายจักรวาลให้กับผลงานของตัวเองอีกด้วย ด้วยเหตุที่ว่าหนึ่งในตัวละครของ Cipher จะกลายเป็นตัวเอกของ Alexandrite ผลงานชิ้นต่อมาของอาจารย์นาริตะ และเชื่อมโยงไปแบบบางๆ กับ Natural ที่เป็นผลงานต่อมา ตามมาด้วยตัวละครในเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับ หน้ากากดอกไม้กับนายเคนโตะ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ก็เป็นความสนุกของนักอ่านที่ติดตามผลงานของอาจารย์ยาวๆ ว่าจะมีอะไรเกี่ยวดองกัน
.
ส่วนความคาดหวังส่วนตัวที่อยากกล่าวเป็นพิเศษก็คือ อยากให้สยามอินเตอร์ทำ Alexandrite แบบ Collector's Edition มาก ด้วยความที่มันยังมี ไซเฟอร์, ศิวะ, อานิส ไปโผล่ในเรื่องด้วยเหตุผลที่เมคเซนส์มากๆ ;w; แต่ก็ได้แค่ลุ้นนะเพราะต้นฉบับญี่ปุ่นยังไม่ได้ทำ Alexandrite แบบ Kanzenban เหมือนกัน
โฆษณา