13 ก.ย. 2020 เวลา 03:45 • ธุรกิจ
กฎ 4 ข้อ ของการบริหารจัดการแบบ "ลีน"
ที่คุณ... ควรรู้ !!!
กฏ 4 ข้อ ของการบริหารจัดการแบบ "ลีน"
กฏข้อที่ 1 :
ทุกๆ งานถูกระบุเฉพาะเจาะจงไว้อย่างชัดเจน
All work are really specific.
ทั้งเรื่องของบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในการทำงาน และขอบเขตการตัดสินใจที่ชัดเจน ในส่วนลักษณะการทำงาน จะยึดการดำเนินงานตามมาตรฐานการทำงานอย่างเคร่งครัด และครอบคลุมทุกส่วนงาน ไม่ทำงานแบบ ช่วยๆกันทำ โดยไม่มีผู้นำหรือผู้รับผิดชอบงานที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ที่ Toyota ในขั้นตอนของการติดตั้งเบาะรถยนต์ จะมีการขันสลักเกลียวให้แน่น ในแต่ละสลักเกลียวจะมีพนักงานประจำตำแหน่งของตนเอง พวกเขามีการทำงานตามรอบเวลา ที่ระบุไว้ในมาตรฐานการทำงาน โดยทำงานตามหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน หน้าที่ใครหน้าที่มัน และหากพนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐาน ก็จะมีระบบการแจ้งเตือนปัญหา รวมถึงระบบการแก้ไขปัญหา รองรับไว้อย่างชัดเจน ไม่มีพื้นที่สีเทา หรือพื้นที่ ที่ไม่ชัดเจน ในทุกขั้นตอนกระบวนการทำงาน เป็นต้น
กฏข้อที่ 2 :
ทุกๆ ลูกค้าและผู้ส่งมอบมีความสัมพันธ์กันแบบตรงไปตรงมา
Customer - Supplier Relationship is directed.
ผู้ส่งมอบต้องมีความเข้าใจว่าจริงๆแล้ว ลูกค้ารายนั้นๆมีความต้องการสิ่งใด ปริมาณเท่าไร ต้องการส่งมอบในเวลาใด เพื่อเราจะทำงานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า คำว่าลูกค้าในที่นี่คือ กระบวนการถัดไป ลูกค้าจะไม่ใช่เฉพาะลูกค้าภายนอกเท่านั้น แต่ความเข้าใจความต้องการของลูกค้าภายในเป็นสิ่งที่สำคัญของระบบการบริหารจัดการแบบลีน สำหรับตัวอย่างที่เด่นชัดของการบริหารจัดการผู้ส่งมอบ หรือ Supplier ของ Toyota นั้น ทาง Toyota ได้สร้างความสัมพันธ์แบบตรงไปตรงมากับคู่ค้าว่า กล่าวคือ หาก Supplier รายใดพัฒนาระบบการจัดการแบบลีน ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการแบบทันเวลาพอดีของ Toyota ได้ คุณก็สามารถเป็นหนึ่งในคู่ค้าของเรา ที่จะร่วมดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้นั่นเอง
กฏข้อที่ 3 :
เส้นทางสำหรับการผลิตและงานบริการเป็นไปอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา
Streamline every single process.
เป็นความพยายามที่จะทำให้ขั้นตอนในกระบวนการผลิตรวมไปถึงการบริการมีความเป็นเส้นตรงมากที่สุด เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่วกไปเวียนมา โดยจะเน้นไปที่การกำจัดความสูญเปล่า (Waste Elimination) ในทุกๆขั้นตอนการทำงานอย่างต่อเนื่อง กฎข้อนี้เป็นการมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงกระบวนการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่ ด้วยเครื่องมือและเทคนิคต่างๆของลีน และรวมถึงการออกแบบขั้นตอนกระบวนการใหม่ ที่ต้องออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น ให้เรียบง่าย มีความสูญเปล่าน้อยที่สุด หรือแสวงหาความสมบูรณ์แบบ โดยที่ปราศจากความสูญเปล่าตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มสร้างกระบวนการ
กฏข้อที่ 4 :
แก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยพนักงานในระดับขั้นต่ำที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
Hand on to lower level as possible.
จากหลักการในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ ทั้ง 8 ขั้นตอน ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ก่อนแล้วนั้น ( Link สำหรับบทความก่อนหน้า https://www.blockdit.com/articles/5f33f660fe46260ca75daaf1 ) ในกฎข้อนี้จะชี้ชัดให้เห็นว่า ระบบการบริหารจัดการแบบลีน เชื่อมั่นในศักยภาพของคน ที่ถูกพัฒนามาเป็นอย่างดี ของพนักงานทุกระดับ โดยอนุญาตให้พนักงานที่อยู่ในระดับล่างสุดเท่าที่จะเป็นไปได้สามารถแก้ปัญหาได้ โดยที่พนักงานท่านนั้นๆจะต้องผ่านการฝึกอบรมมาก่อน ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของหัวหน้างานได้ในระยะยาว ส่งผลให้หัวหน้างานมีเวลาคิด และปรับปรุง ยกระดับ พัฒนาองค์กรต่อไป องค์กร Toyota คือหนึ่งในองค์กรตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นได้ชัด ถึงความสำคัญของการพัฒนาคน ที่มองคนเป็นสินทรัพย์ ดังคำกล่าวที่ว่า “ประสบการณ์ของพนักงาน 1 คนที่มีอายุงาน 10 ปี ขององค์กร จะแทนที่ได้ด้วย พนักงานงานอีก 1 คนขององค์กร ที่มีอายุงาน 10 ปี เท่ากันเท่านั้น”
ร่วมแบ่งปันมุมมองแบบลีน
Mr.Boat - เล่าเรื่องลีน
และ อีก 1 ช่องทางแบ่งปัน ที่...
Facebook Page Dr. Lean - หมอลีน
#Lean #ลีน #4RulesOfLeanDNA #กฏ4ข้อของการบริหารจัดการแบบลีน
โฆษณา