13 ก.ย. 2020 เวลา 04:15 • การศึกษา
วิศวกรรมโครงสร้างนอกชายฝั่ง VS วิศวกรรมโครงสร้างชายฝั่ง VS วิศวกรรมโครงสร้าง VS วิศวกรรมต่อเรือ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนถามมาที่ผมบ่อยมากๆ ตอบจนหลังๆ นี่ก๊อบเป็น patterns วางเลย ไม่พิมพ์แล้ว
หลายคนคิดว่าจบหลักสูตรในไทยแล้วจะออกมาทำงานโครงสร้างนอกฝั่งแบบที่เห็นอยู่ในเพจได้
วิศวกรรมนอกฝั่ง วิศวกรรมชายฝั่ง มันเป็นสาขาที่พันกันระหว่าง วิศวกรรมโยธา และ วิศวกรรมเรือ ในต่างประเทศจะมีสาขาเฉพาะ เช่นที่ NTNU ในนอร์เวย์ เรียกสาขา Marine Technology ที่ TU Delft ในเนเธอร์แลนด์ เรียกสาขา Dredging and Offshore Engineering
จะจบออกมาได้ ต้องเรียนทั้งวิศวกรรมเรือและวิศวกรรมโยธา คือ ต้องรู้ทั้งเรื่องโครงสร้างและเรื่องเรือ ไล่ตั้งแต่ ยึดพื้นดิน ยัน ลอยน้ำ
ขอบอกว่าในเมืองไทยไม่มีสาขาแบบนี้ครับ ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนที่บอกว่าหลักสูตร Offshore ก็ตาม
คนจบโยธารู้เรื่องน้ำน้อยมาก คนจบเรือก็ไม่รู้เรื่องโครงสร้างแบบยึดพื้นหรืองานโครงสร้างทั่วๆไป
ที่ AIT เปิดรับคนจบตรี ที่มาจากทุกสาขาวิศวกรรม ที่บางมดอยู่ในภาคโยธา ที่ มก ศรีราชา อยู่ในหลักสูตรต่อเรือ
จะเห็นว่ามันแยกกันอยู่และไม่ได้เรียนในสิ่งที่ควรจะรู้ และสอนแต่เรื่องกว้างๆ (เท่าที่ผมเคยเห็นเอกสารที่คนเอามาให้ดู) เหมือนคอร์สแนะนำ ซึ่งมันต้องไปเรียนรู้ของจริงอีกเยอะ จบมาก็ทำงานไม่ได้อยู่ดี และที่สำคัญวิธีทำงานจริงของงานไลน์นี้มักไม่มีเขียนในหนังสือ ต้องเรียนรู้จากงานไปเรื่อยๆ ถ้าคนสอนไม่เคยทำงานเลย แล้วเปิดหนังสือสอน คนเรียนก็ไม่ได้สิ่งที่ควรจะรู้เพื่อมาใช้ตอนทำงานจริง ใครเรียนอยู่ลองเทียบสิ่งที่ผมเขียนในเพจกับสิ่งที่เรียนในห้องดูว่าเค้าสอนเหมือนที่ผมเขียนรึป่าว
มันเป็นความสับสนที่ผมก็ไม่แน่ใจว่าคนเปิดหลักสูตรขึ้นมา เคยอยู่ในอุตสาหกรรมจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องรึป่าว เพราะดูจากที่ นร เข้ามาถามหลายคนคิดว่า หลักสูตร "วิศวกรรมนอกฝั่ง" ป โท ที่เปิดกันมา คือจบแล้วเข้ามาทำงานออกแบบหรือก่อสร้างโครงสร้างนอกฝั่งได้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คือเรียนโดยที่ไม่รู้ว่าขอบเขตงานที่ทำได้มันอยู่แค่ไหน
ผมเรียบเรียงคำถามจากที่ผมเคยโดนถามมาตามนี้
1) คนจบโท หลักสูตร นอกฝั่งในไทย ทำงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างนอกฝั่งได้หรือไม่?
ตอบ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ขึ้นกับพื้นฐานปตรี เรียนอะไรมา
งานก่อสร้างโครงสร้างนอกฝั่งนั้น มีคนจบตรีแค่สองสาขาที่ใกล้เคียงที่สุด คือคนจบตรีโยธาหรือเรือ นอกนั้นต่อให้จบโทหลักสูตรที่เปิดในไทย แต่ปตรี สาขาอื่นก็ทำไม่ได้ อาจจะไปทำอย่างอื่นที่พอใกล้เคียงได้ อย่าง Project Engineer ซึ่งมักต้องมีพื้นฐานงานไลน์นี้อยู่แล้วและไปต่อยอดปโท มา ไม่ใช่จบโทไม่มีประสบการณ์แล้วจะใช้วุฒิที่ได้เพื่อเข้ามาในอุตสาหกรรม
2) คนจบเรือแล้วแยกสาขาเป็น OffshoreEngineering จาก มก ศรีราชา ทำงานโครงสร้างแท่นในอ่าวไทยได้หรือไม่?
ตอบ ก็ไม่ได้อยู่ดี งานโครงสร้างนอกฝั่ง มีสองแบบคือ ลอยน้ำและยึดพื้น ในอ่าวไทยมีแต่ยึดพื้น ซึ่งมันเป็นงานเอียงไปทางโยธามากกว่า 80% ที่เหลือเป็นเรื่องน้ำ ที่เอาคนจบโยธาไปต่อยอดศึกษาเองเหมาะสมกว่า คนจบเรือ มีส่วนร่วมแค่ช่วงการติดตั้ง ซึ่งในอ่าวไทยมันไม่มีการติดตั้งพิศดาร และทำกันมาเยอะจนไม่ต้องการวิศวกรเรือจริงๆ ส่วนงานใหญ่ๆ ก็ส่งไปให้วิศวกรเรือต่างประเทศทำหมด ดังนั้นคนที่จะเข้ามาทำงานโครงสร้างได้ ต้องทำงานโครงสร้างยึดพื้นได้ด้วย ซึ่งคนเรียนเรือมาทำไม่ได้
จบสาขานี้ตำแหน่งต้องเป็น Naval Architect เป็น Structural Engineer ไม่ได้
ผมเคยแนะนำรุ่นน้องคนหนึ่งจบเรือจากอังกฤษมาทำงานบริษัทในไทย สุดท้ายผู้จัดการบอกว่าต้องทำทั้งงานโครงสร้างและเรือนะ เพราะงาน Naval อย่างเดียว ในไทยน้อยมาก เวลาอื่นต้องทำงานโครงสร้าง สุดท้ายเค้าไปทำงานเรือที่สิงคโปร์ที่ตรงกับดีกรีเค้ามากกว่า
3) คนจบเรือแล้วแยกสาขาเป็น OffshoreEngineering จาก มก ศรีราชา ทำงานโครงสร้างนอกฝั่งได้มั้ย?
ตอบ ทำได้ แต่มันไม่มีโครงสร้างนอกฝั่งลักษณะที่เหมาะสมกับคนที่เรียนเรือมาอยู่ในอ่าวไทย โครงสร้างที่ทำได้คือ โครงสร้างนอกฝั่งแบบลอยน้ำ ส่วนฐานที่ลอยน้ำ ต้องการ Naval Architect ทำ แต่โครงสร้างแบบนี้ไม่มีในอ่าวไทย หรือมีก็แค่เข้ามาปฏิบัติการแล้วออกไป ไม่ได้อยู่ประจำ งานวิศวกรรมของโครงสร้างพวกนี้ทำต่างประเทศหมด อยากทำต้องออกนอกประเทศ แต่เด็กจบใหม่ก็ไม่มีใครเอา จะหาประสบการณ์ในประเทศเพื่อออกนอกประเทศในอนาคตก็ไม่มีอีก มันเลยวนเป็นงูกินหาง สุดท้ายต้องกลับไปไลน์เรือเหมือนเดิม
และงานส่วนลอยน้ำนี้ Structural Engineer ก็เข้าไปทำแทน Naval Architect ไม่ได้ งานโครงสร้างส่วนบน Naval Architect ก็ทำแทน Structural Engineer ไม่ได้
4) จบวิศวกรรมเรือจะมาทำวิศวกรรมชายฝั่งได้มั้ย?
ตอบ ก็คิดว่าไม่ได้อีก วิศวกรรมชายฝั่งเอียงไปทางงานโยธาเยอะมาก ดังนั้นคงทำแทนกันไม่ได้ และไม่ได้ใกล้เคียงกันกับคนที่เรียนวิศวกรรมต่อเรือมาเลย
5) Structural Engineer ที่ทำงานโครงสร้างบนฝั่งหรือโครงสร้างชายฝั่ง มาทำงานโครงสร้างนอกฝั่งได้มั้ย?
ทำได้ แต่ไม่ใช่ทันที ต้องใช้เวลาเรียนรู้ 3-5 ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อที่จะให้มีระเบียบความคิดที่เข้ากับอุตสาหกรรมนี้ ต่อให้คนๆนั้น จะเชี่ยวชาญโครงสร้างบนฝั่งขนาดไหนก็ตาม แรงกระทำและแนวความคิดแตกต่างกันมากแต่ใช้พื้นฐานโยธาประยุกต์ได้ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษานานหลายปี โดยเฉพาะโครงสร้างในน้ำนั้น Dynamic Sensitive สูงมาก ซึ่งพื้นฐานงานโยธาบนฝั่งไม่เน้นเรื่อง Dynamic เลย ยิ่งใครจบตรีไม่เคยเรียน Dynamic เลย พอมาทำงานก็ไม่เข้าใจ กดโปรแกรมตามเค้าบอกอย่างเดียว พอเจอปัญหาแปลกไปจากเดิมก็แก้ไม่ได้
คนเรียนวิศวกรรมชายฝั่ง ใกล้เคียงที่สุดที่จะออกมาทำงานนอกชายฝั่ง แต่พึงระลึกว่าทฤษฎีคลื่นใกล้ฝั่ง กับทะเลน้ำลึกนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน และปัญหาทางและเทคนิควิศวกรรมในการติดตั้งโครงสร้างใกล้ฝั่งกับไกลฝั่งนั้นก็ค่อนข้างต่างกัน ยังไงก็ต้องการเวลาเรียนรู้หลายปีอยู่ดี
6) ใบรับรองของสภาวิศวกร หรือ ใบ กว จำเป็นมั้ยกับงานสาขานี้?
ตอบ ไม่จำเป็น และ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะงานค่อนข้างสากล เจอกับคนสารพัดชาติ และที่สำคัญ งานมันอยู่ในทะเล เกินกว่าที่ สภาวิศวกรไทยจะ บังคับใช้ กม ไทยได้ และมันเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก
7) มีน้องจำนวนมากเห็นที่ผมโพสแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจอยากทำ เข้ามาถามอยู่เรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็ได้แต่บอกว่าถ้ามีทางเลือกอื่น แนะนำให้ไปทำอย่างอื่นเถอะครับ ตลาดมันวายแล้ว งานอาจจะน่าสนใจจริง แต่อนาคตไม่แน่นอน คนที่ประสบการณ์เยอะยังหางานยาก เด็กจบใหม่ยิ่งแทบมองไม่เห็นอนาคต
งานนอกฝั่งที่อยู่ในบริษัทไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยขนาดเล็กมาก ทำแค่ 3-5 ปี ก็วนไปวนมาแล้ว สเก็ตได้โดยไม่ต้องคำนวณ งานขนาดใหญ่ที่น่าสนใจจริงๆ ไม่มีอยู่ในไทย ออกต่างประเทศหมด และทุกวันนี้โอกาสมันแคบลงทุกที่ ถ้าเพิ่งเข้ามาในธุรกิจ ไม่รู้ว่ากว่าจะมีประสบการณ์ถึงอีก 5-7ปีข้างหน้ายังจะมีงานต่างประเทศให้ออกไปทำรึป่าว งั้นมันเสี่ยงมากที่จะลงทุนกับงานสายนี้สำหรับเด็กที่กำลังจะเลือกเรียน
8) ไปเรียนโทสาขานี้ดีมั้ย?
ตอบ ถ้าไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว คิดว่าจะไปเรียนเพื่อหาทางเข้าธุรกิจ อย่าทำ โอกาสน้อยมาก แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก คิดว่าไปเรียนเพื่อเพิ่มความรู้ ก็ไปเถอะ
ถ้าจบตรีโยธา ผมแนะนำให้ต่อโทโครงสร้างดีกว่า ตลาดกว้างกว่า และเรียนลึกในงานโครงสร้างทั่วไปกว่า ย้ายไปงานอื่นได้ ถ้าตลาดวาย แต่ถ้าอยากทำงานสาขานี้จริงๆ ค่อยหาทางเข้าเอา ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่รู้จักใคร หรือ ไม่มีคนช่วยแนะนำก็เข้าค่อนข้างยาก
9) ทำไมลานจอดเฮลิคอปเตอร์ในทะเล ต้องการคนมีใบ กว เซ็นต์ อันนี้สำหรับผมถือว่าประหลาด น่าจะเป็นเฉพาะในไทย
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ไม่ว่าจะบนฝั่งหรือนอกฝั่งในเขตประเทศไทยต้องให้กรมการบินพลเรือนออกใบอนุญาต กรมนี้มีหน้าที่บังคับใช้กฏกระทรวงซึ่งร่างมาจากข้อกำหนดระหว่างประเทศของ ICAO
จริงๆ แล้วลานจอดเฮลิคอปเตอร์นอกฝั่งมันเลยขอบเขต กม ไทยไปแล้ว บังคับใช้ไม่ได้ สภาวิศวกรไทยมาชี้ถูกชี้ผิดไม่ได้ แต่เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ เค้าไปเอาข้อกำหนดจากไหนก็ไม่รู้ ว่าต้องมี สย หรือ วย เซ็นต์รับรองลานจอดเฮลิคอปเตอร์นอกฝั่ง ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากมีปัญหาก็ยอมๆไป (ใครรู้ชี้ให้ผมดูหน่อย เอา กม ข้อไหนมาอ้างงานในทะเล) ซึ่งการขอใบอนุญาตจาก ICAO ต้องส่งทั้งแบบและรายการคำนวณอยู่แล้ว ถ้าเค้าอนุมัติก็จบ ไม่เกี่ยวกับสภาวิศวกรไทยเลย
บริษัทที่ออกแบบและสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์นอกฝั่ง ไม่มีในไทย เป็นต่างชาติหมด สุดท้ายมีปัญหาคือต้องมาหาวิศวกรไทยเซ็นต์รับรอง ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนทำเองและอาจจะเซ็นต์โดยไม่รู้เรื่องข้างในเลย ผมเห็นหลายงานมีปัญหา และบริษัทพวกนี้ก็บ่นว่า เค้าขอใบรับรองจาก ICAO ได้แล้ว ทำไมต้องจ่ายเงินให้ใครที่ไม่รู้เรื่องงานของเค้าเลยมาเซ็นต์รับรองอีก มันเป็นช่องให้คนบางกลุ่มหากิน และแอบอ้างเอาผลงานอย่างน่าตลก ซึ่งมีปัญหาเฉพาะไอ้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์นี่ล่ะที่ต้องการใบ กว เนื่องจากต้องขออนุญาตหน่วยงานในไทย ส่วนอื่นของโครงสร้างในทะเล ไม่มีความเกี่ยวพันกับสภาวิศวกรเลบ
โฆษณา