13 ก.ย. 2020 เวลา 10:18 • ท่องเที่ยว
Khajuraho หนึ่งในมรดกโลกที่น่าสนใจ
คนส่วนใหญ่อาจจะเคยเห็นภาพถ่ายและรู้จักคะชุระโหจากประติมากรรมอีโรติคที่แฝงฝังอยู่ตามผนังด้านต่างๆของเหล่าวิหารและมณฑพ ที่จริงคะชุระโหประกอบไปด้วยศาสนสถานที่มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมมากมายหลายร้อยชิ้น เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในอินเดียที่แปลกและน่าไปเยือนเป็นอย่างยิ่ง
คะชุระโหตั้งอยู่ในเขตอำเภอฉัตรปุระ(Chhatapur) ในรัฐมัธยประเทศตอนกลางของประเทศอินเดีย เหล่าวิหารและมณฑพของคะชุระโหสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 950-1050 ในช่วงแห่งการครอบครองของราชวงศ์จันทีระ (Chandela) ซึ่งเป็นสมัยของกษัตริย์ฮินดู ปลายศตวรรษที่ 12 เชื่อกันว่า มีศาสนสถานมากมายถึง 85 แห่ง น่าเสียดายที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 25 แห่งเท่านั้น เล็ดรอดจากการทำลายร้างของทหารชาวมุสลิม ในสมัยของสุลต่านแห่งเดลี Qutb al-Din Aibak และผ่านการถูกทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรมกลายเป็นสุสานหินในป่ารกชัฎเสียหลายร้อยปี
กล่าวกันว่า คะชุระโหถูกกล่าวถึงในดินแดนอื่นที่มิใช่ประเทศอินเดียเป็นครั้งแรกโดย Abd Rihan-al-Biruni ชาวเปอร์เชียเมื่อปีค.ศ.1202 และต้องถือว่าเป็นความดีความชอบของทหารช่างชาวอังกฤษ T.S.Burt ที่สำรวจพบโบราณสถานแห่งนี้ถูกซ่อนอยู่ในป่าเมื่อค.ศ. 1838 ก่อนที่อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม อธิบดีคนดังแห่งกรมสำรวจโบราณคดีอินเดียจะทำการสำรวจอย่างเป็นทางการและฟื้นคืนชีวิตให้แก่คะชุระโห เปิดโอกาสให้ชาวโลกได้รู้จักสถานที่ที่อัศจรรย์แห่งนี้
คะชุระโห( Khajaraho) มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า Khajura+vahaka มีความหมายว่าผู้ถืออินทผลัม ตำนานโบราณกล่าวกันว่า สมัยเมื่อนานมาแล้วมีต้นอินทผลัมทองตั้งอยู่สองข้างประตูทางเข้า บางคนแปลความหมายว่า น่าจะเป็นผู้ถือแมงป่อง อันหมายถึงพระศิวะในภาคที่ดุร้ายที่มีงูและแมงป่องมากกว่า
ปัจจุบันเหล่าวิหารและมณฑพของคะชุระโหเหลืออยู่เพียง 25 แห่งเท่านั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มวิหารทางทิศตะวันตกซึ่งมีจำนวนมากที่สุด กลุ่มวิหารทางทิศตะวันออกและกลุ่มวิหารทางทิศใต้ที่เหลืออยู่ไม่มาก
วิหาร 6 แห่งเป็นศาสนสถานที่อุทิศให้แก่พระศิวะพระมหาเทพ
8 แห่งเป็นวิหารแด่พระวิษณุ
1 แห่งเป็นวิหารของพระพิฆเณศว์ 1แห่งเป็นวิหารของพระสุริยเทพ
และอีก 3 แห่งเป็นวิหารในศาสนาเชน
วิหารเกือบทุกแห่งจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติความเชื่อทางฮินดู ก่อสร้างด้วยหินทรายและบางส่วนด้วยหินแกรนิต มีโครงสร้างประกอบไปด้วยมณฑปและสิงขรหลายยอด ลักษณะสูงเสียดฟ้าคล้ายเขาไกรลาส และเน้นความสมมาตร ประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมลอยตัวที่งดงามและน่าทึ่งเป็นที่สุด
ประติมากรรมเหล่านี้ประกอบไปด้วยเหล่าทวยเทพ นางอัปสรา หญิงสาวในอิริยาบถต่างๆที่งดงามและอ่อนช้อย องค์เอวอ้อนแอ้นอรชร บ้างก็มีเสื้อผ้าครบครัน บ้างก็ออกจะโป๊และเปลือย บ้างก็อยู่ในระหว่างแต่งหน้าทำผม ถือกระจกผัดแป้ง บางนางก็ทำท่าเหมือนกำลังบ่งหนามออกจากฝ่าเท้า
พระศิวะและนางปาราวตี
ประติมากรรมหญิงกำลังบ่งหนามจากฝ่าเท้า
ประติมากรรมรูปหญิงกำลังทาอายชาโดว์
กว่า 90เปอร์เซนต์ของประติมากรรมเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ
นักดนตรีร้องรำทำเพลง
ขบวนแห่แหน
แต่ที่ทำให้คะชุระโหดู โอ้โห! ในสายตาของคนทั่วไปคือ ประติมากรรมแนวอิโรติคโจ๋งครึ่มท้าสายตาใคร่อยากรู้อยากเห็น ที่ยืนยงมากว่า1000 ปี ทั้งๆที่โลกียศิลป์เหล่านั้นมีอยู่เพียง 10เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง จะซุกซ่อนอยู่มุมไหนซอกไหน สอดส่ายสายตามองหากันหน่อยครับ
ประติมากรรมแนวสังวาสเหล่านี้ บ้างก็ว่าเป็นผลจากความเชื่อในลัทธิตันตระที่สุดโต่ง บ้างก็อ้างว่ามาจากพระเวทในศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่กว่าจะหลุดพ้นได้ ต้องผ่านขั้นตอนการพิสูจน์ตัวเองมามากมาย
ประติมากรรมเหล่านี้แม้จะดูโจ๋งครึ่มอยู่บ้าง แต่พฤติกรรมดังกล่าวที่ถูกถ่ายทอดออกมา ใช่ว่าจะเป็นที่ยอมรับไปเสียหมดทุกคน ดังจะเห็นได้จากอิริยาบถของผู้ร่วมซีนที่มีอาการกระมิดกระเมี้ยน บ้างก็ปิดหน้าปิดตาแบบ " ทนดูไม่ได้ "ให้เห็น
หรือในสมัยนั้นก็มีคนประเภท "มือถือสากปากถือศีล " กันแล้ว
ประติมากรรมแนวสังวาส หรือโลกียศิลป์ที่มีมานานเกือบพันปีนี้ ผู้รังสรรค์ผลงานต้องมีจินตนาการอันบรรเจิดเพริศแพร้วจริงๆ กว่าจะสลักเสลาออกมาเป็นประติมากรรมที่มีท่าทางอันพิสดารเช่นนี้ได้ นักกายกรรมบางท่านอาจทำเลียนแบบไม่ได้ด้วยซ้ำไป
ปัจจุบันการเดินทางไปคะชุระโหง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก มีเครื่องบินจากเดลีและวาราณสี มีทั้งรถไฟจากเดลี อักรา วาราณสี Jhansi Gwalior และราชสถานไปจนถึง
อุปสรรคในการไปชมมรดกโลกแห่งนี้ จึงไม่ใช่การเดินทางอีกต่อไปแล้ว
โฆษณา