14 ก.ย. 2020 เวลา 00:30
"สายสีแดง" 10 ปีที่ได้แต่แหงนคอมองตอม่อรอใช้งาน
จนต้องขอบารมีศาลฯ ให้สิทธิบริหารเดินรถปลายปี 64
ความหวังของคนกรุงเทพฯ ปทุมธานี และนครปฐม ที่วาดฝันว่าจะได้นั่งรถไฟฟ้าจากรังสิตเข้ามาทำงานในเมืองสบายๆ ไม่ต้องทนฝ่ารถติดอันแสนมหาโหดบนถนนเส้นวิภาวดีรังสิต และบรมราชชนนี เพราะการมาของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) บางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เริ่มก่อสร้างกันครั้งแรกตั้งแต่ในวันที่ 12 มกราคม 2552 หรือราว 11 กว่าปีที่แล้ว
โครงสร้างรางรถไฟฟ้าและอาคารสถานีที่เห็นกันมาหลายปีจนสังหรใจว่า ถ้าเปิดให้บริการขึ้นมาแล้วรางจะพัง สังกะสีของหลังคาสถานีจะร่อนก่อนรึเปล่า แต่ทุกคนก็อดทนเฝ้ารอกันตลอดมาเพื่ออนาคตที่สดใสรออยู่
จนเมื่อปี 2562 ก็มีข่าวให้ชุ่มชื่นหัวใจจนแอบหวังไว้ว่าจะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเร็วกว่ากำหนด หลังมีข่าวว่าการรถไฟไทยรับมอบรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ามาก่อนจำนวน 2 ขบวน พร้อมมีข้อมูลออกมาว่า รูปแบบรถที่ใช้จะมี 2 ประเภท คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,700 คนต่อเที่ยวและรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,100 คนต่อเที่ยว ทำความเร็วสูงสุดบนรางขนาด 1 เมตรที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องแหงนคอมองเสาตอม่อและคานวางรางรถไฟกันต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนความไปตอนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงคมนาคม คนปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าจะเลื่อนกำหนดการเปิดใช้จากปี 2564 เป็น 2566 เพราะนโยบายเปลี่ยน และต้องการใช้รูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนหรือเรียกว่า การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน Public Private Partnerships (PPP) ซึ่งกำหนดเป็น Net Cost ให้เอกชนได้รับสิทธิ์การจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนให้รัฐตามข้อตกลง แต่เอกชนจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทั้งหมด รวมถึงเหตุผลความล่าช้าของการตกแต่งภายในสถานีกลางบางซื่อที่เป็นหัวใจสำคัญของเส้นทางรถไฟสายนี้และรถไฟสายอื่นๆ รวมทั้งรถไฟทางไกลก็ยังไม่เสร็จ หากฝืนใช้อาจเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารตามที่มีการกล่าวอ้างนั่นแหละ
ส่วนที่ว่าทำไมต้องมีการทำ PPP ให้เอกชนร่วมลงทุน รัฐมนตรีคมนาคมให้เหตุผลว่า ผลการศึกษาชี้ชัดว่า เกิดประโยชน์ กับประชาชน ที่จะได้ตั๋วถูกบริการดี และ ร.ฟ.ท.ไม่ต้องแบกหนี้สินกว่า 9 หมื่นล้านที่จะต้องบริหารจัดการเอง รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะบริหารรถเองแล้วเจ๊งอีกด้วย ซึ่งก็แปลกใจว่าทำไมองค์กรนี้บริหารอะไรก็เจ๊งไปหมด ไม่คิดจะปรับปรุงตัวเองให้เป็นเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ทำรายได้ สร้างผลกำไรบ้างหรืออย่างไรกัน ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ก็มีอยู่ไม่น้อย แทบจะมากที่สุดในบรรดารัฐวิสาหกิจด้วยกัน แต่กลับไม่มีศักยภาพแปลวให้เป็นมูลค่าสร้างรายได้แก่องค์กร นี่ขนาดเจ้ากระทรวงยังพูดเองเลยว่าถ้าให้เดินรถเองก็คงเจ๊ง แสดงว่าคนของรัฐก็ยังไม่ไว้ใจกันเองเลย แล้วแบบนี้จะมีองค์กรหน่วยงานเอาไว้ทำไม
ซึ่งหลังจากเรื่องนี้หลุดโพล่งออกมาไม่นานก็มีคำถามจากภาคประชาชนและสังคมทันที ว่าโครงสร้างก็เสร็จแล้ว ขบวนรถซื้อมาเรียบร้อย จนทดลองวิ่งกันไปหลายรอบแล้วด้วย จะจอดให้มันเสื่อมสภาพไปก่อนหรือไร?
ก็ได้รับการชี้แจงอย่างทันควันว่า มันมีวิธีการดูแลรักษาอยู่แล้ว ไม่ได้จอดทิ้งเฉยๆ พร้อมยืนยันว่าประชาชนต้องได้ใช้ก่อนปี 2566 เพียงแค่ติดปัญหาเล็กน้อยหลังผู้รับจ้างขอขยายสัญญาก่อสร้างอีก 1,122 วัน
1
หากเจาะรายละเอียดในสัญญาการก่อสร้าง โครงการนี้ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
🔸️ สัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง
🔸️ สัญญาที่ 2 งานโยธาทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ - รังสิต
🔸️ สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
ซึ่งก็พบปัญหาจุกจิกจำนวนมาก ตั้งแต่การจัดหาตู้รถไฟ ระบบราง ระบบจ่ายไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ เนื่องจากตัวรถไฟก็ได้รับมายังไม่ครบ ทางบริษัทญี่ปุ่นเองก็ได้ขอขยายเวลาเนื่องจากติดปัญหาสารพัด
นอกจากนี้ยังมีการขอขยายวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่ม (Variation Order : VO) อีกกว่า 10,345 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัญหาหนัก เพราะเดิมทีรถไฟสายนี้จะใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) แต่ล่าสุดถูกปฏิเสธให้เงินกู้เพิ่ม ทำให้ต้องหันมาใช้เงินกู้ภายในประเทศ ซึ่งก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าไปอีก
โดยปัญหาเหล่านี้ทำให้คนรอใช้บริการต่างนั่งตาลอยบนรถเมล์หรือรถตู้ เหม่อมองไปที่โครงสร้างของโครงการด้วยแววตาละห้อย เพราะแทนที่จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงให้ประชาชนได้ใช้งานไวๆ กลับล่าช้าให้โดนด่าซ้ำ แล้วซ้ำเล่า
ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่าทางรัฐบาลมีการทำข้อเสนอ PPP ออกมาไม่ว่าจะเป็นการบริหารการเดินรถตลอดสาย กับการก่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทางวงเงินกว่า 67,000 ล้านบาท ให้กลายเป็นรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% แลกกับรัฐบาลประหยัดงบไป 6 - 7 หมื่นล้านบาท
แม้ปัญหาหลายส่วนจะยังแก้ไม่ตก ด้วยสัญญาที่ 1 การก่อสร้างงานโยธา มีความล่าช้าจากปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเดิมที่ไม่เสร็จสิ้นเสียที กระทบกันเป็นลูกโซ่กับสัญญาที่ 3 คือการวางรางและระบบไฟฟ้า ก็ล่าช้าตามไป รวมถึงปม “VO” ขอขยายวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่ม
แต่ล่าสุดก็มีสัญญาณที่พอจะให้ลุ้นขึ้นมาได้บ้าง เพราะปัจจุบันงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง คืบหน้าไปแล้วกว่า 98 - 99% แต่ติดปัญหาเพียงการเพิ่มงบประมาณการเปลี่ยนแปลงงาน ที่มีงานก่อสร้างงอกออกมากว่า 10,345 ล้านบาท (ก็น่างงอยู่ดีว่าสรุปมันงอกออกมาอีกหมื่นกว่าล้านได้ยังไง)
ดูท่าว่าความล่าช้าในการเปิดเดินรถคงจะเป็นสิ่งที่คมนาคมเองก็จนปัญญาจะแก้ไข สุดท้ายก็ต้องระหกระเหินไปขอร้องให้ศาลไคฟงช่วยอีกแล้ว โดยเบื้องต้นก็ได้สั่งการให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปศึกษาข้อกฎหมายเพื่อใช้สิทธิคุ้มครองทางศาล เพื่อสามารถเปิดเดินรถได้ทันตามแผนการเปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 เนื่องจากหากแก้ปัญหางานก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยขอให้ศาลยุติธรรมตัดสิน
ถ้าเกิดศาลท่านมีคำสั่งให้คุ้มครองก็สามารถเปิดเดินรถได้ แต่ถ้าศาลไม่คุ้มครองไม่สามารถเปิดเดินรถได้ ส่วนเรื่อง PPP ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ก็ให้ศึกษาดำเนินการควบคู่ไปกับการเดินรถ โดยจะเปิดให้เดินรถไปก่อน หลังจากนั้นค่อยดำเนินการ PPP ต่อไปเพื่อพี่น้องประชาชนจะได้ใช้โยชน์ไปด้วย
ดูท่าแล้วก็ยังต้องมานั่งลุ้นปัสสาวะเหนียวกันไปยาวๆ อีกรอบเพื่อขอให้ศาลท่านคุ้มครอง เพราะประชาชนรอแล้วรอเล่ามาหลายปีแล้ว พวกคนใหญ่คนโตที่ทำงานแต่บนโต๊ะมีรถประจำตำแหน่ง มีคนขับรถให้ มีตำรวจนำขบวนไปไหนมาไหนอาจจะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ประชาชนคนที่รอใช้นี่สิที่ได้แต่มองผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วหวังว่าจะได้ใช้รถไฟฟ้าสบายๆ เดินทางเข้าออกเมืองได้ง่ายๆ ไม่ต้องฝ่ารถติดให้สุขภาพจิตพังลงไปทุกๆ วัน
โฆษณา