14 ก.ย. 2020 เวลา 03:52 • ประวัติศาสตร์
ประวัติการจัดงาน “เดือนสิบ”
จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในระยะแรก การจัดงานเดือนสิบจะจัดในระยะเวลาทำบุญสารท คือ ระหว่างวันแรม ๑๓ ค่ำ ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ต่อมาได้ขยายเวลาเป็น ๕ วัน ๗ วัน และ ๑๐ วัน ตามลำดับ
.
งานเทศกาลเดือนสิบมีจุดกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ในวันวิสาขบูชา พลโทสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมขุน) โปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดการซ่อมแซมพระวิหารในวัดพระมหาธาตุฯ เช่น ทำช่อฟ้า ใบระกา เพดานที่พระวิหารหลวง และประดับประดาด้วยลวดลายไทย มีดาวดวงแฉกเป็นรัศมีที่วิหารพระทรงม้าและพระวิหารเขียน แต่งบประมาณในการก่อสร้างหมดลง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ จึงคิดหาเงิน ด้วยการออกร้านจำหน่ายสินค้าและเล่นการพนันประเภทสองขึ้นในวัดพระมหาธาตุฯ ทางทิศใต้พระวิหารหลวง (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นที่ว่างไม่มีพระภิกษุหรือแม่ชีเข้าอยู่อาศัย เรียกว่า สวนดอกไม้ ร่มรื่นด้วยต้นอโศก กระดังงา มะม่วง และมะขาม) และได้เริ่มจัดงานขึ้นในวันวิสาขบูชา โดยจัดงานอยู่สามวันสามคืน ได้เงินค่าประมูลร้านและการพนันนับหมื่นบาท เงินจำนวนนี้ นำไปใช้ในการก่อสร้าง และซ่อมแซมพระวิหารในวัดพระมหาธาตุฯ ได้เพียงพอ
.
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้มีการจัดงานออกร้านขึ้นอีก โดยความร่วมมือของคณะกรรมการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ กับพระภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง มูลเหตุในการจัดงานครั้งนี้ เนื่องจากพระภัทรนาวิกธรรมจำรูญ ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร (สโมสรข้าราชการ) เห็นว่าศรีธรรมราชสโมสรชำรุดเพราะสร้างมาหลายปีแล้ว สมควรจะจัดสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นตึกถาวรสง่างาม แต่ขัดข้องด้วยไม่มีเงินในการก่อสร้าง ได้ปรึกษากับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ จึงได้ตกลงจัดงานประจำปีขึ้น เพราะเห็นว่าการจัดงานในปีก่อนหน้ามีรายได้จากการจัดงานสูง การจัดงานในครั้งนี้ได้กำหนดเอางานทำบุญเดือนสิบมาเป็นงานประจำปีขึ้น โดยจัดที่สนามหน้าเมือง ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่างานเทศกาลเดือนสิบ ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ๒๔๖๖ เป็นครั้งแรก
.
คณะกรรมการจัดงานเดือนสิบ ในปี ๒๔๖๖ ประกอบด้วย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นที่ปรึกษา พระภัทรนาวิกธรรมจำรูญ เป็นประธานกรรมการ หลวงอรรถกัลยาวินิจ ขุนบวรรัตนารักษ์ ขุนประจักษ์รัตนกิจ ขุนสุมนสุขภาร และข้าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทุกแผนก ทุกอำเภอ เป็นกรรมการ
.
การจัดงานครั้งนี้ มีการออกร้าน และเล่นการพนันประเภทสอง เช่น ชนโค ตกเบ็ด ปาหน้าคน ยิงเป้า บิงโก เล่นสะบ้าชุด มวย และมหรสพ จัดขึ้นเป็นเวลาสามวันสามคืน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรมสิบสองค่ำ เก็บค่าผ่านประตู ผู้ใหญ่คนละ ๑๐ สตางค์ เด็ก ๕ สตางค์ นับว่าค่อนข้างแพงสำหรับสมัยนั้น มีรายได้จากการจัดงานรวมทั้งค่าโรงร้านด้วยเกือบสามพันบาท จึงได้นำรายได้นี้ไปสร้างสโมสรข้าราชการ ซึ่งเดิมเป็นโรงมุงจาก ฝากระดาน พื้นปูอิฐ สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑ สมัยพระยาตรังภูษาภิบาล (ถนอม บุญยเกตุ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด สโมสรที่สร้างขึ้นใหม่ก็คือสโมสรข้าราชการ ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยังคงมีสภาพใช้การได้ดี และได้ใช้เป็นสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต ๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน
.
พ.ศ. ๒๔๖๗ - ๒๔๗๖ มีการจัดงานออกร้านในงานเดือนสิบอีก โดยมีศรีธรรมราชสโมสรเป็นผู้ดำเนินการจัด ทั้งนี้ เพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างตึกศรีธรรมราชสโมสรต่ออีก จนกระทั่งสามารถสร้างได้สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๙
หลังจากสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางศรีธรรมราชสโมสรก็ได้จัดงานเดือนสิบในปีต่อๆ มาเพื่อหารายได้บำรุงสโมสร ปรากฏว่ามีเครื่องใช้สอยครบครัน และมีเงินฝากธนาคารนับหมื่นบาท
.
พ.ศ. ๒๔๗๗ นายมงคล รัตนวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช และหลวงสรรพนิติพัทธ (เพียร บุณยผลึก) พร้อมด้วยบุคคลที่เคยเป็นกรรมการจัดงานเดือนสิบปีก่อน ๆ บางท่าน มีความคิดเห็นว่าควรจะจัดงานประจำปี โดยนำเงินรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์เสียบ้าง เพราะเท่าที่เป็นมา ศรีธรรมราชสโมสรได้จัดงานบำรุงสโมสรมาถึง ๑๐ ปีแล้ว นายมงคลฯ จึงได้ทำคำร้องแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการจังหวัดเพื่อขอร่วมจัดงานด้วย ทางคณะกรรมการจังหวัดเข้าใจว่า นายมงคลฯ ต้องการเพียงสถานที่จัดงาน จึงอนุญาตให้ใช้สนามหน้าเมืองเป็นสถานที่จัด โดยคณะกรมการจังหวัดและศรีธรรมราชสโมสรไม่ร่วมมือด้วย จึงมีเฉพาะ นายมงคลฯ หลวงสรรพฯ สมาชิกนครสมาคม พ่อค้าคหบดี กรมการพิเศษ ผู้แทนตำบล ศึกษาธิการจังหวัด และโรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนได้ร่วมกันจัดงาน
.
พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะกรมการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มอบให้เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช เป็นผู้จัดงานเดือนสิบ เพื่อนำรายได้จากการจัดงานไปบำรุงเทศบาล สาธารณสถานและโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราช
.
พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ งดจัดงานเพราะกำลังอยู่ในระยะสงครามมหาเอเชียบูรพา
.
พ.ศ. ๒๕๐๕ คณะกรมการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับเป็นผู้จัดงานเดือนสิบเอง ครั้งนี้ นายสันต์ เอกมหาชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ หลังจากนั้นก็ได้จัดงานเดือนสิบติดต่อกันเรื่อยมา โดยร่วมมือกับเทศบาลเมืองและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัด
.
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๑๑ จังหวัดได้นำเงินรายได้จากการจัดงานเดือนสิบไปใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์หลายประการ เช่น สร้างฌาปนสถานวัดชะเมา กำแพงรอบศาลากลางจังหวัด กำแพงและรั้วสนามหน้าเมือง และพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๕ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สนามหน้าเมือง เป็นต้น
.
พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๔ นายพันธุ์ สายตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะกรรมการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานเดือนสิบขึ้น เพื่อรักษาประเพณีและหารายได้ไปจัดตั้งเป็นทุนมูลนิธิขึ้น ปรากฏว่ามีรายได้จากการจัดงานเดือนสิบ จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินที่มีผู้บริจาคร่วมอีก ๑๗๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๘๗๐,๐๐๐ บาท จัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิงานเดือนสิบสงเคราะห์การศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราชทุกระดับชั้นที่มีอยู่ในขณะนั้น
.
พ.ศ. ๒๕๑๖ นายคล้าย จิตพิทักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนต่อมา ก็ดำเนินการจัดงานเดือนสิบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะฟื้นฟู และรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปสมทบมูลนิธิงานเดือนสิบสงเคราะห์การศึกษา การจัดงานในปีนี้ ได้จัดให้มีการประกวดหมรับนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมด้านอื่นๆ ปรากฏว่าสามารถนำรายได้จากการจัดงาน ๑๓๐,๐๐๐ บาท ไปสมทบทุนมูลนิธิงานเดือนสิบสงเคราะห์การศึกษา ทุนจึงเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งล้านบาท จังหวัดได้ขออนุมัติจดทะเบียนต่อกระทรวงมหาดไทย และเปลี่ยนชื่อมูลนิธิเป็น “มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในเวลาต่อมา
.
พ.ศ. ๒๕๑๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดงานเดือนสิบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาไว้ซึ่งประเพณีและเพื่อหารายได้บำรุง หรือใช้จ่ายในกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ของจังหวัด ปรากฎว่าในปีนี้สามารถจัดสรรเงินรายได้จากการจัดงาน ไปก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน ๕ โรง โรงละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๕๐,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย
๑. โรงเรียนบ้านสวนอาย (อำเภอฉวาง)
๒. โรงเรียนบ้านสี่แยก (อำเภอทุ่งสง)
๓. โรงเรียนบ้านปากลง (อำเภอท่าศาลา)
๔. โรงเรียนบ้านทุ่งส้าน (อำเภอเชียรใหญ่)
๕. โรงเรียนวัดคลองเมียด (อำเภอพรหมคีรี)
.
พ.ศ. ๒๕๒๐ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดงานเดือนสิบ โดยมีวัตถุประสงค์คือ
๑. เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีการทำบุญวันสารทของชาวนครศรีธรรมราชให้ยั่งยืนสืบไป
๒. เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มาเที่ยวงานได้นมัสการพระบรมธาตุอันศักดิ์สิทธิ์โดยใกล้ชิด และได้ชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์อันมีค่าของนครศรีธรรมราช
๓. เพื่อให้ประชาชนได้มีความสนุกสนานรื่นเริง จากการเที่ยวชมงาน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ และพักผ่อนหย่อนใจยามว่างจากงานอาชีพ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับทางราชการและประชาชนต่อประชาชนจากท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย
๔. เพื่อนำรายได้ที่เกิดจากการจัดงานนี้ไปบำรุงสาธารณประโยชน์ และช่วยในกิจการกุศลต่าง ๆ
การจัดงานปีนี้ มีนายพีรพัชร สัตยพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกรรมการ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในจังหวัด สถาบัน สมาคม และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี กิจกรรมที่จัดให้มี ได้แก่
๑. จัดให้มีการทำบุญตักบาตรบนถนนราชดำเนิน บริเวณสนามหน้าเมือง
๒. จัดพิธีฟื้นฟูประเพณีวันสารทที่ศาลาประดู่หก โดยนิมนต์พระราชาคณะและพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนมาทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
๓. จัดการประกวดผลผลิตทางการเกษตร
๔. จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเกษตร
๕. จัดการประกวดและแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน
๖. การออกร้านและมหรสพต่าง ๆ
.
พ.ศ. ๒๕๒๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของทางราชการ เทศบาล สมาคม สถาบัน และหน่วยงานของเอกชน ได้จัดงานเทศกาลเดือนสิบขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๑๕ - ๒๔ กันยายน ในการจัดงานปีนี้ มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ
การจัดงานปีนี้ นายธานี โรจนลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกรรมการและมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานสภาจังหวัด ผู้แทนกองทัพภาคที่ ๔ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด อธิการบดีวิทยาลัยครู พาณิชย์จังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำกลาง ขนส่งจังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง ศึกษาธิการจังหวัด หัวหน้าสำนักงาน ร.พ.ช. จังหวัด นายอำเภอเมือง และนายอำเภอสิชล เป็นคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ปลัดจังหวัด เป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
กิจกรรมเด่นที่จะให้มีในงานปีนี้
๑. จัดการฟื้นฟูประเพณีบุญสารทเดือนสิบ
๒. จัดนิทรรศการเรื่อง “พลังงานกับชีวิต”
๓. จัดการแข่งขันกีฬาในระดับเขตและภาค
๔. จัดแสดงกิจกรรมและนิทรรศการเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของท้องถิ่น โดยเน้นทางด้านการเกษตรเป็นหลัก
กิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาลเดือนสิบ มีการประกวดหมรับ แห่หมรับ ประชันกลองยาว การประชันเพลงบอก การประกวดเครื่องใช้ชาวบ้านภาคใต้ การประกวดจัดพานดอกไม้ การประกวดสานสาดจูด สาธิตทำพัดใบพ้อ สาธิตทำหมาตักน้ำ สาธิตการแกะหนังตะลุง และสาธิตการทอหูก กิจกรรมเหล่านี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก การประกวดและแห่หมรับในปีนี้ ถือว่าเป็นปีแรกของการฟื้นฟูประเพณีในงานเทศกาลเดือนสิบ
.
พ.ศ. ๒๕๒๓ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดงานเดือนสิบ ในวันที่ ๓ - ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๓ ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเช่นปีก่อนๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจัดงาน
จุดเด่นของงานเดือนสิบปี ๒๕๒๓ คือ
๑. กิจกรรมเกี่ยวกับพิธีกรรม และการฟื้นฟูประเพณีวันสารท ได้จัดให้มีการทำบุญตักบาตรในวันเปิดงาน การทำบุญวันสารท การประกวดหมรับ และการแห่หมรับไปในเขตเทศบาล และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูประเพณี
๒. นิทรรศการชีวิตไทยปักษ์ใต้ ครั้งที่ ๓ จัดโดยศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช จัดแสดงในศาลาประชาคม ณ สนามหน้าเมือง โดยแสดงในหัวข้อเรื่อง “ดนตรี มหรสพ และการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้”
อนึ่งการจัดงานเดือนสิบปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาค ระหว่างวันที่ ๓ - ๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ บนเวทีกลาง ภายในบริเวณงานเดือนสิบ ถือเป็นรายการพิเศษรายการหนึ่งที่ได้รับความสนใจสูงยิ่ง
.
พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๕ การจัดงานยังคงดำเนินไปตามปกติ ใช้เวลาจัดงาน ๑๐ วัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจัดงานเช่นทุกปี
.
พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๒๙ เป็นช่วงเวลาที่ นายอเนก สิทธิประศาสน์ มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เพียรพยายามปรับรูปแบบของงานให้ดีและมีสาระมากขึ้นกว่าเดิม ได้มีการแบ่งพื้นที่จัดงานออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่เป็นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปและอาหาร ส่วนที่เป้นแหล่งให้ความรู้ทั่วไป ซึ่งจัดโดยส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดและจากส่วนกลาง สุดท้ายคือส่วนที่เป็นนิทรรศการ ว่าด้วยประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น
.
พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๔ เป็นช่วงเวลาที่จังหวัดได้พยายามปรับปรุงรูปแบบของงานเดือนสิบมากขึ้น โดยพยายามเน้นให้มีการแบ่งโซนสำหรับจัดแหล่งความรู้และขนบธรรมเนียมประเพณีให้แยกอิสระจากโซนร้านค้า มีการเชิญหน่วยงานราชการจากส่วนกลางไปร่วมออกร้าน มีการเชิญบุคคลระดับชาติไปเป็นประธานเปิดงาน เช่น ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจังหวัดและส่วนราชการต่าง ๆ จะได้พยายามปรับปรุงรูปแบบ และสาระการจัดงานเดือนสิบเพียงใด แต่ก็ยังไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความคาดหมาย ประกอบกับในช่วง พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นต้นมา การจัดงานเดือนสิบ ณ สนามหน้าเมือง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมากเพราะในช่วงเวลานั้น ปริมาณรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่ต้องใช้ถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางสัญจรเริ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มติดขัด หากปิดถนนดังกล่าว ยิ่งต้องปิดกั้นการจราจรเป็นเวลาหลายวันทั้งก่อนและหลังการจัดงาน
ประจวบกับในเวลานั้น เป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้แต่ละจังหวัดสร้างอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ จะทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ จังหวัดนครศรีธรรมราช และส่วนราชการต่าง ๆ ตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่บริเวณสนามหน้าเมือง ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่จัดงานเดือนสิบมาโดยตลอด เป็นสวนสาธารณะประจำจังหวัด และมีมติให้ย้ายสถานที่จัดงานเดือนสิบ ไปจัด ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์’ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) แทนที่เดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา นับแต่นั้นการใช้สนามหน้าเมืองเป็นที่จัดงานเดือนสิบก็สิ้นสุดลง รวมเวลาที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดงานเดือนสิบถึง ๖๘ ปี
.
การจัดงานเทศกาลเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๓ นับเป็นเวลา ๙๗ ปีแล้ว แต่ละปีแม้จะมีวัตถุประสงค์แตกต่างหรือเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงจัดเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นหลัก ระยะหลัง ๆ นี้ ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า เทศกาลเดือนสิบ คือสื่ออย่างหนึ่งที่จะช่วยในการสืบทอดมรดกทางขนบธรรมเนียมประเพณี ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้คงอยู่ตราบทุกวันนี้
จากบทความ “ประวัติการจัดงานเดือนสิบ ของชาวนครศรีธรรมราช” โดยชาญกิจ ชอบทำกิจ ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนสิบ ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘
โฆษณา